ไอเอ็มเอฟชี้ศก.โลกฟื้นช้ากว่าคาด เล็งปรับเป้าใหม่ปลายเดือนนี้ พาณิชย์เร่งกิจกรรมกระตุ้นตลาดเอเชีย นักวิเคราะห์คาดส่งออกไทยปีนี้ต่ำเป้าที่ 3.5% คาดขยายตัวไม่ถึง 3% เหตุเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวช้า-ตลาดส่งออกแข่งเดือด หวังบีโอไออนุมัติลงทุนใหม่ หนุนแข่งขันปีหน้า ด้านไอเอ็มเอฟชี้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวช้ากว่าคาด เตรียมหั่นเป้าใหม่ปลายเดือนนี้ กระทรวงพาณิชย์ ปรับคาดการณ์การส่งออกของไทยในปี 2557 จะขยายตัวได้ 3.5% จากประมาณการเดิมที่ 5% ขณะที่บรรดานักวิเคราะห์ต่างประเมินว่าแม้ปรับประมาณการใหม่ แต่เป็นตัวเลขที่สูงเกินไป ภาคส่งออกของไทยในปีนี้ไม่น่าจะขยายตัวเกิน 3% การปรับตัวเลขส่งออกลง หลังจากในช่วง 5 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ค. 2557) มีมูลค่า 92,862.1 ล้านดอลลาร์ ลดลง 1.22% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การนำเข้า มีมูลค่า 94,418.4 ดอลลาร์ ลดลง 14.00% เป้าส่งออกใหม่ของกระทรวงพาณิชย์ที่ 3.5% ภายใต้สมมติฐาน ที่ว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ขยายตัว 3.6-3.7% ตามการคาดการณ์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และ ราคาสินค้าวัตถุดิบอุตสาหกรรมโลก ลดลง 2.5% อีกทั้ง อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 31.5 บาทต่อดอลลาร์ จากระดับปัจจุบันเคลื่อนไหวอยู่เหนือระดับ 32.02 บาทต่อดอลลาร์ ความหวังส่งออกของไทยพึ่งพาการขยายตัวเศรษฐกิจโลกอาจเป็นไปได้ยากขึ้น โดย นางคริสติน ลาการ์ด กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) กล่าววานนี้ (6 ก.ค.) ว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจโลกกำลังฟื้นตัว แต่แนวโน้มอาจไม่แข็งแกร่งเหมือนที่คาดไว้ เพราะการเติบโตค่อนข้างอ่อนแอและการลงทุนยังซบเซา เมื่อเดือนที่แล้ว ธนาคารกลางยุโรปลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ขณะที่บรรดาธนาคารกลางทั่วโลกก็ดำเนินมาตรการคล้ายคลึงกันเพื่อช่วยให้ประเทศต่างๆ ฟื้นตัวจากวิกฤติการเงินโลก แต่ปัจจุบันมาตรการของธนาคารกลางเหล่านี้กำลังถึงขีดจำกัด "มาตรการต่างๆ ในการพยุงอุปสงค์กำลังถึงขีดจำกัด ดังนั้นจึงต้องมีการเพิ่มศักยภาพของอุปทานเพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งของการฟื้นตัว" นางลาการ์ดระบุ โดยกรรมการผู้จัดการไอเอ็มเอฟมองว่านโยบายต่างๆ ของธนาคารกลางมีผลกระทบจำกัดต่ออุปสงค์ และประเทศต่างๆ ควรกระตุ้นการเติบโตด้วยการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน การศึกษา และสุขภาพ หากการกระทำเหล่านี้ไม่ทำให้หนี้สินของประเทศต่างๆ เพิ่มสูงขึ้นมากนัก ไอเอ็มเอฟทบทวนศก.ปลายเดือนนี้ อย่างไรก็ตาม นางลาการ์ดมองว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจโลกน่าจะแข็งแกร่งขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ และดีขึ้นในปีหน้า อีกทั้งไอเอ็มเอฟยังคาดว่าเศรษฐกิจจีนจะไม่เผชิญภาวะชะลอตัวลงอย่างหนัก โดยนางลาการ์ดประเมินว่าปีนี้เศรษฐกิจจีนน่าจะขยายตัวได้ 7-7.5% "หากมองถึงประเทศตลาดเกิดใหม่ในเอเชีย โดยเฉพาะจีน เรามีความมั่นใจเพราะไม่เห็นการชะลอตัวลงอย่างมาก แต่เห็นการเติบโตที่ลดลงเพียงเล็กน้อย อันทำให้อัตราการขยายตัวดำเนินไปอย่างมั่นคงมากขึ้น" นางลาการ์ด ระบุ ในส่วนของสหรัฐนั้น กรรมการผู้จัดการไอเอ็มเอฟชี้ว่าเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวอย่างสมเหตุสมผล หลังจากไตรมาสแรกค่อนข้างน่าผิดหวังจากที่คาดไว้ และการเติบโตน่าจะดีขึ้นตราบใดที่การลดการเข้าซื้อพันธบัตรของธนาคารกลางสหรัฐ ดำเนินไปอย่างเป็นระบบระเบียบ และมีกรอบงบประมาณระยะกลางที่ชัดเจน ในส่วนของยูโรโซนนั้นกำลังหลุดพ้นจากภาวะถดถอยอย่างช้าๆ และเป็นสิ่งสำคัญที่ประเทศเหล่านี้ต้องสานต่อการปฏิรูป รวมถึงผลักดันการรวมตัวเป็นสหภาพธนาคารให้แล้วเสร็จ ทั้งนี้ คาดว่าไอเอ็มเอฟจะเปิดเผยรายงานทบทวนแนวโน้มเศรษฐกิจโลกประมาณปลายเดือนนี้ และน่าจะแตกต่างจากคาดการณ์เมื่อเดือน เม.ย. เพียงเล็กน้อย หวังลงทุนใหม่จากบีโอไอเพิ่มขีดแข่งขัน นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการสำนักวิจัย สายบริหารความเสี่ยง ธนาคารซีไอเอ็มบี กล่าวว่าสำนักวิจัยซีไอเอ็มบี ยังคงประมาณการตัวเลขการส่งออกไทยปีนี้ไว้ที่ 3% แต่ยอมรับว่าโอกาสที่การส่งออกไทยจะเติบโตได้ตามเป้าหมาย มีความเป็นไปได้น้อยลง เนื่องจากตัวเลขการส่งออกใน 5 เดือนแรกที่ออกมา ถือว่าต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ค่อนข้างมาก “ผมไม่อยากให้โทษเศรษฐกิจโลกอย่างเดียว เพราะถ้าดูปลายปีที่แล้วเศรษฐกิจโลกฟื้นได้ดี แต่การส่งออกก็ยังไปไม่ไหว ดังนั้นจะโทษแต่เศรษฐกิจโลกคงไม่ได้ และถ้าดูกันจริงๆ ส่วนหนึ่งเราก็ต้องยอมรับว่า เกิดจากปัญหาเชิงโครงสร้างด้วย” นายอมรเทพ กล่าว ที่ผ่านมาประเทศไทยยังคงผลิตสินค้าเดิมๆ ในขณะที่ความต้องการของโลกเริ่มเปลี่ยนไป ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้ลงทุนหรือผู้ประกอบการไม่กล้าที่จะลงทุนเพิ่มเติม เนื่องจากไม่มั่นใจสถานการณ์เศรษฐกิจและการเมือง “การสนับสนุนจากภาครัฐในช่วงที่ผ่านมายังไม่เต็มที่มากนัก และบอร์ดบีโอไอ (คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน) ก็ไม่มีด้วย ตอนนี้เราเริ่มมีบอร์ดบีโอไอใหม่แล้ว ก็ต้องมาดูกันต่อว่า บรรยากาศการลงทุนจะเริ่มกลับมาบ้างหรือยัง” นายอมรเทพ กล่าว ส่วนประเด็นที่น่าห่วงสำหรับเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป คือ ช่วงที่ผ่านมาศักยภาพการแข่งขันของไทยปรับลดลงมาต่อเนื่อง หากประเทศไทย ยังไม่มีการลงทุนใหม่ๆ เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต หรือปรับโครงสร้างการผลิตให้ตรงกับความต้องการโลก อนาคตศักยภาพการแข่งขันของไทยก็คงจะลดลงต่อเนื่อง สินค้าไทยส่งไปสหรัฐเริ่มลดลง นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ประเด็นที่เรากังวล คือ ช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจสหรัฐเริ่มฟื้นตัว แต่การส่งออกไทยไปสหรัฐยังเติบโตน้อยมาก และถ้าดูส่วนแบ่งการตลาดของสินค้าไทยที่ส่งออกไปสหรัฐ ก็จะเห็นว่าส่วนแบ่งเริ่มลดลงเรื่อยๆ “ตัวเลขหลายๆ ตัวสหรัฐเริ่มดีขึ้นมาต่อเนื่อง โดยเฉพาะตัวเลขการจ้างงาน ซึ่งออกมาดีกว่าที่ตลาดคาด แต่สินค้าเราแทบไม่เติบโตเลย ถ้าลองดูสาเหตุจะเห็นว่า หลักๆ เป็นสินค้าในกลุ่มประมง เช่น เนื้อปลา หรือ กุ้ง ซึ่งเป็นตลาดที่มีการแข่งขันสูงขึ้น และเรายังมีปัญหาในตัวเองด้วย อย่างกุ้งเราก็มีปัญหาเรื่องโรคระบาด และค่าแรงในประเทศก็ยังสูงขึ้น ทำให้สู้คู่แข่งอย่างเวียดนามไม่ได้ จะเห็นว่าเวียดนามมาร์เก็ตแชร์เขาก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ” นายเชาว์ กล่าว ส่วนแนวโน้มการส่งออกช่วงครึ่งปีหลัง น่าจะเห็นการฟื้นตัวที่ชัดเจนขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานในปีที่ผ่านมาซึ่งอยู่ระดับต่ำด้วย ประกอบกับตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐก็เห็นการฟื้นตัวที่ชัดเจนขึ้น แต่ยังต้องติดตามการส่งออกไปจีนว่าจะเป็นอย่างไร โดยศูนย์วิจัยฯ ยังมองว่า ทั้งปี 2557 การส่งออกยังน่าจะเติบโตได้ที่ 3% คาดส่งออกปีนี้โต1.5-2.3% ด้านนายเบญจรงค์ สุวรรณคีรี ผู้อำนวยการศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย กล่าวว่า การฟื้นตัวของภาคส่งออกไทยช้ากว่าที่หลายคนได้คาดการณ์เอาไว้ โดย 5 เดือนแรกปีนี้ การส่งออกยังหดตัว 1.2% และถือเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศแถบภูมิเอเชียที่การส่งออกยังคงหดตัว แต่คาดว่าในครึ่งปีหลัง การส่งออกน่าจะเริ่มฟื้นกลับมาได้อย่างจริงจัง โดยทางศูนย์วิเคราะห์ฯ คาดว่า ทั้งปีการเติบโตน่าจะอยู่ที่ประมาณ 1.5-2.3% มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 2% “ในบางอุตสาหกรรมเรามีเรื่องโครงสร้างสินค้าที่ไม่ตรงกับความต้องการในตลาดโลก และอีกส่วนเกิดจากการที่เศรษฐกิจจีนฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด รวมทั้งยุโรปด้วย ดังนั้นทั้ง 2 ตลาดหลัก ที่คาดว่าจะดี แต่กลับไม่ได้ดีอย่างที่คาดหวังกัน แต่เรายังเชื่อว่าทั้ง 2 ตลาดจะเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป” นายเบญจรงค์ กล่าว แม้ช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ การส่งออกในรูปเงินดอลลาร์จะหดตัวลง 1.2% แต่ถ้าดูในรูปของเงินบาท ที่มีผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจแล้ว พบว่ามีการเติบโต 8.3% โดยเป็นผลจากเงินบาทที่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ดังนั้นต้องถือว่า การส่งออกไทยในปีนี้ ยังช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้พอสมควร ภัทรเผยยังไม่เห็นสัญญาณส่งออกฟื้น ด้าน นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.ภัทร กล่าวว่า สาเหตุที่การส่งออกไทยชะลอตัวลงค่อนข้างมาก เป็นผลจากโครงสร้างสินค้าส่งออกที่โดนผลกระทบ เช่น ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ที่ปัจจุบันความนิยมในตลาดโลกเริ่มลดลง ประกอบกับไทยยังเผชิญกับปัญหากุ้งที่ป่วยเป็นโรคตายด่วน และสินค้าเกษตรหลายๆ ตัวราคาในตลาดโลกปรับลดลง ทำให้มูลค่าการส่งออกลดลงตามไปด้วย ส่วนแนวโน้มครึ่งปีหลัง ยังไม่เห็นสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจนนัก โดยประเมินว่า การส่งออกไทยช่วงที่เหลือของปีนี้อาจเติบโตได้เพียง 3-4% เมื่อรวมกับช่วง 5 เดือนแรกที่ยังติดลบอยู่ประมาณ 1.2% ก็น่าจะทำให้การส่งออกเฉลี่ยทั้งปีเติบโตได้ในระดับ 1-2% เท่านั้น "พาณิชย์"อัดกิจกรรมครึ่งปีหลัง รอ.สุวิพันธ์ ดิษยมณฑล รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ในช่วงครึ่งปีหลังกรมได้เพิ่มกิจกรรมส่งเสริมการส่งออกให้มากขึ้นในเกือบทุกตลาด แต่เน้นตลาด 6 ภูมิภาคเป้าหมาย เช่น อาเซียน เอเชียใต้ และจีน เพื่อให้การส่งออกเฉลี่ยทั้งปี 2557 เป็นไปตามเป้าหมายขยายตัว 3.5% อย่างไรก็ตามยอมรับว่ารูปแบบกิจกรรมจะใช้รูปแบบเดิม เช่น การจัดคณะ(mission)เดินทางเยือนรายตลาดเพื่อสร้างโอกาสการจับคู่ทางธุรกิจและขยายการค้าให้เพิ่มมากขึ้น ส่วนเป้าหมายส่งออกใหม่สำหรับตลาดนั้นกำลังอยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายการส่งออกที่ปรับลดลงจาก 5% ก่อนหน้านี้มาอยู่ที่ 3.5%ในปัจจุบัน "ครึ่งปีหลัง เราอัดกิจกรรมมากขึ้นแน่นอนเพื่อกระตุ้นการส่งออกให้ขยายตัวได้ตามที่ตั้งเป้าไว้ แม้ภาพรวมเศรษฐกิจตลาดหลักๆ ยังต้องจับตา เช่น สหรัฐที่เศรษฐกิจฟื้นตัวดีขึ้นแล้ว แต่ก็ต้องเร่งทำความเข้าใจและรักษาภาพลักษณ์สินค้าไทยกรณีที่สหรัฐจัดอันดับการใช้แรงงานในไทย เพราะแม้ไม่มีผลทางการค้าโดยตรง แต่เราก็ต้องระมัดระวังผลทางอ้อมที่อาจเกิดขึ้นได้ ส่วนเศรษฐกิจฝั่งยุโรป เห็นว่าการฟื้นตัวยังเป็นไปอย่างอ่อนแรง" รอ.สุวิพันธ์ กล่าว ทั้งนี้ การส่งออกที่จะให้ได้ตามเป้าหมาย 3.5% นั้น ตั้งแต่ มิ.ย. เป็นต้นไปจะต้องส่งออกให้ได้มูลค่าเดือนละ 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือขยายตัวเฉลี่ยเดือนละ 5% แต่ปัจจัยเสี่ยงของการส่งออกครึ่งปีหลังต้องจับตาราคาน้ำมัน เพราะหากมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นรุนแรงจะส่งผลกระทบโดยตรง คือ การเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิตและการขนส่ง ส่วนผลกระทบทางอ้อมคือทำให้การฟื้นตัวเศรษฐกิจโลกชะลอลง Tags : ไอเอ็มเอฟ • ส่งออก • เศรษฐกิจ • พาณิชย์ • นำเข้า • ไทย • เอเชีย • ยุโรป • สหรัฐ