สศค.ระบุการเบิกจ่ายภาครัฐเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจครึ่งหลังของปีกระเตื้องขึ้น ปรับประมาณการศก.เดือนก.ค. นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)ระบุว่า เศรษฐกิจในครึ่งหลังของปีนี้จะกระเตื้องขึ้น หากการผลักดันรายจ่ายงบประมาณปี 2557 สามารถทำได้ตามเป้าหมาย และการเร่งเบิกจ่ายงบลงทุนของปีงบประมาณ 2558 ที่จะเริ่มใช้ได้ในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ เป็นไปตามเป้าหมาย ก็จะเป็นแรงส่งทำให้เศรษฐกิจในปีนี้กระเตื้องขึ้น ทั้งนี้ สศค.ได้ปรับลดการคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจในปีนี้ลงเหลือ 2.6 % จากที่เคยคาดว่าจะขยายตัว 4 % และจะประเมินอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของปีนี้ใหม่อีกครั้งในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมนี้ เขากล่าวด้วยว่า ภาวะเศรษฐกิจของไทยในช่วงนี้ ต้องถือว่า มีสัญญาณการฟื้นตัว ไม่ว่าจะเป็นการบริโภคและการลงทุน สะท้อนจากยอดจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ เดือน พ.ค.ที่ผ่านมา มีอัตราการขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน โดยขยายตัว 2.3 % โดยได้รับแรงผลักดันจากการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น ทำให้ภาษีมูลค่าเพิ่มที่เก็บจากสินค้านำเข้าขยายตัวถึง 5 % ซึ่งถือเป็นการขยายตัวครั้งแรกในรอบ 15 เดือน ,ส่วนภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ ที่สะท้อนการลงทุนในหมวดการก่อสร้าง ในเดือนพฤษภาคมนี้ แม้จะยังหดตัว 1% แต่เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้านี้ พบว่า มีอัตราการขยายตัว 2 % เขายังกล่าวถึงการพัฒนาภาคการส่งออกของไทยด้วยว่า จะต้องยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีที่สูงขึ้น สะท้อนจากภาคการส่งออกของประเทศเพื่อนบ้านของไทย ที่มีการขยายตัวสูงกว่าไทยในเวลานี้ ส่วนหนึ่งมาจากการที่มีการสนับสนุนอุตสาหกรรมในอนาคต เช่น การผลิตชิ้นส่วนของ SMART PHONE โดยปัจจุบันบริษัท SAMSUNG ได้ฐานการผลิตส่วนหนึ่งจากไทยไปผลิตที่เวียดนามแล้ว ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ ได้ปรับเป้าหมายของการขยายตัวของการส่งออก ลดลงเหลือ 3.5 % จากเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้ที่ 5 % เนื่องจาก การส่งออกตั้งแต่ต้นปี จนถึงเดือนพฤษภาคมนี้ ยังมีอัตราการขยายตัวที่ติดลบ ที่ 1.2% โดยตลาดส่งออกของไทยในตลาดอาเซียน 5 ประเทศ คือ มาเลเซีย,อินโดนีเซีย,ฟิลิปปินส์,สิงคโปร์ และบูรไน ติดลบสูงสุดที่ 8.8 % , รองลงมาคือ ตลาดจีน ที่ติดลง 5.6 % , ส่วนตลาดส่งออกที่มีการขยายตัวในระดับสูงสุด คือ ตลาดในกลุ่มประเทศอินโดจีน ที่ขยายตัวถึง 8 % ,รองลงมาคือ ตลาดสหภาพยุโรป ที่ขยายตัว 6.4% อย่างไรก็ตาม ผอ.สศค.กล่าวว่า สศค.จะเข้าไปวิเคราะห์ในรายละเอียดถึงการลดลงของการส่งออกของไทยในช่วงนี้ว่า มาจากสาเหตุใดบ้าง ซึ่งสมมุติฐานหนึ่ง ที่จะเข้าไปวิเคราะห์ คือ การที่นักลงทุนไทย ได้ย้ายฐานการผลิต ไปยังประเทศเพื่อนบ้านหรือไม่ ส่งผลให้การส่งออกของประเทศเพื่อนบ้านของเราในหลายประเทศ ขยายตัวค่อนข้างสูง ซึ่งเป็นการส่งออก ผ่านประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นฐานการผลิต ไปยังประเทศอื่น ทั้งนี้ หากเป็นจริงก็ต้องมาดูว่า สาเหตุที่ผู้ประกอบการไม่นำเงินกลับเข้าประเทศ มีปัญหาอุปสรรคอะไรบ้าง โดยปัจจุบันการส่งกลับเงินปันผลได้รับการยกเว้นภาษี แต่ในส่วนของกำไรของกิจการ ขึ้นอยู่กับว่า ไทยมีสนธิสัญญาภาษีซ้อนกับประเทศที่ผู้ประกอบการไทยไปลงทุนหรือไม่ Tags : กฤษฎา จีนะวิจารณะ • สศค.