Cisco กับวิสัยทัศน์ Intercloud

หัวข้อกระทู้ ใน 'เทคโนโลยี' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 5 กรกฎาคม 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    เมื่อวานนี้ (4 กรกฏาคม) Cisco ประเทศไทยจัดงานพบปะกับสื่อมวลชนที่สำนักงานของบริษัท ซึ่งเป็นการเปิดเผยเกี่ยวกับวิสัยทัศน์ (หรืออาจจะเรียกว่าเป็นความฝันของ Cisco) ที่เรียกว่า Intercloud โดยมีคุณวัตสัน ถิรภัทรพงศ์ กรรมการผู้จัดการของ Cisco ประเทศไทย โดยผมมีโอกาสไปร่วมงานนี้ด้วย จึงเก็บข้อมูลมาฝากกันครับ

    [​IMG]

    คุณวัตสัน ถิรภัทรพงศ์

    คุณวัตสัน เริ่มเล่าให้ฟังว่าการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีทางไอทีในประวัติศาสตร์ ย้ายตัวเองจากรูปแบบที่เป็นศูนย์กลาง (อย่างเช่น Mainframe) ไปสู่การเป็นลักษณะของการที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น (เช่น การเชื่อมต่อเป็นเครือข่าย) และในที่สุดก็สร้างบริการและมูลค่าเพิ่มจากความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น (เช่น VM, Cloud)

    [​IMG]

    สำหรับ Cisco เอง มองว่าแนวโน้มของ Cloud เป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากในอนาคต และขนาดของตลาดที่เกี่ยวข้องกับ Cloud จะเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะในกลุ่มของ SaaS (Software as a Service: ซอฟต์แวร์ในฐานะการให้บริการ)

    [​IMG]

    แต่ปัญหาอันหนึ่งที่ Cisco เล็งเห็น คือลักษณะของ Cloud ที่แยกและกระจัดการจายและไม่เชื่อมต่อกันเท่าที่ควรจะเป็น กล่าวคือ ในแต่ละองค์กรก็มีระบบ Cloud ภายในของตัวเอง และ Public Cloud (เช่น AWS, Azure, Google Cloud) ที่อาจจะใช้บริการบ้าง แต่ไม่ตลอด และหลายครั้งการจัดการต่างๆ ก็ยุ่งยากเพราะระบบที่มีแตกต่างกัน ผลคือ Cisco เลยนำเสนอสิ่งที่เรียกว่า Intercloud ซึ่งในภาพของ Cisco คือการทำให้ Cloud ทั้งหมดทุกอัน เชื่อมรวมประสานเป็นหนึ่งเดียวกัน (แน่นอนว่าต้องมีซอฟต์แวร์และบริการด้าน Cloud จาก Cisco เป็นแกนกลาง)

    [​IMG]

    Cisco เองระบุชัดว่าแนวคิด Intercloud ไม่ใช่เรื่องใหม่ และมันเกิดขึ้นกับโลกของอินเตอร์เน็ตมาแล้ว ซึ่งที่ผ่านมา Cisco ก็มีบทบาทค่อนข้างมากในการสร้างอินเตอร์เน็ต (ผ่านมาตรฐานต่างๆ) สิ่งที่ Cisco จะทำกับ Intercloud ก็จะเป็นไปในลักษณะเดียวกัน

    [​IMG]

    สิ่งที่ Cisco จะทำก็คือ นำเสนอชุดของซอฟต์แวร์การจัดการระบบ Cloud ตรงกลาง (อย่างเช่น Cisco Intercloud Fabric) ในฐานะชุดของการจัดการและดูแลระบบ Cloud ทั้งภายในและภายนอกร่วมกัน (เรียกง่ายๆ ว่าเป็นบริการบริหารจัดการ Cloud จาก Cisco) ในแง่นี้ Cisco จะทำตัวเป็น "โซ่ข้อกลาง" ที่เอาไว้ "ประสานความแตกต่าง" เพื่อให้ "อยู่ร่วมกันได้อย่างมีสันติสุข" ระหว่างระบบ Cloud ต่างๆ ที่อาจจะมี API แตกต่างกันหากเรียกใช้งานกันตรงๆ

    [​IMG]

    ข้อดีของการทำระบบ Intercloud (ซึ่งคุณวัตสันเล่าว่า จะเริ่มเห็นทิศทางในการนำวิสัยทัศน์นี้เป็นจริง ในปีงบประมาณของ Cisco ปี 2015 เป็นต้นไป ซึ่งก็คือช่วงสิงหาคมนี้) นอกจากเป็นเรื่องของการลดค่าใช้จ่ายบริหารงานแล้ว ยังเป็นเรื่องของความคล่องตัวและความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการด้วยเช่นกัน เพราะแต่ละระบบ Cloud ย่อมมีความแตกต่างกันเอง การที่ Cisco พยายามที่จะนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่เป็นโซ่ข้อกลางที่รวมทุกระบบเข้าด้วยกัน ทำให้ประสบการณ์และความแตกต่างของแต่ละระบบหายไป

    ในเวลาเดียวกัน Cisco ก็จะได้ประโยชน์จากการสร้าง Intercloud เพราะบริการ Cloud ของ Cisco หลายตัวก็จะเข้าถึงระบบ Cloud อื่นๆ ทำให้ลูกค้าที่อาศัยบริการของ Cisco อยู่แล้ว ทำงานได้ง่ายขึ้นเหมือนกัน

    ผมเองมีโอกาสถามว่า การเข้ามาของ Cisco ในตลาด Cloud โดยเฉพาะกับวิสัยทัศน์หรือความฝันของ Cisco ในประเด็น Intercloud เป็นการมาที่ช้าไปหรือไม่ ซึ่งคุณวัตสันตอบผมว่า ที่ผ่านมา Cisco ค่อนข้างระวังพอสมควรกับประเด็นของ Cloud และการเกิดขึ้นของ Intercloud คือวิสัยทัศน์ที่ Cisco วาดเอาไว้ ซึ่งแม้จะช้า แต่ก็ดีกว่าการรีบทำผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ตลาดบางส่วนเท่านั้น ตัวอย่างเช่น Cisco ไม่เชื่อในแนวทางของคู่แข่งที่มีต่อ SDN (อย่างเช่น VMware) ว่าจะเป็นอนาคต แต่เป็น ACI (Application Centric Infrastructure) (ลองดูความแตกต่างของ VMware NSX และ Cisco ACI ได้จากบทความของ Network World) ซึ่งแนวคิดเหล่านี้ก็ต้องรอการพิสูจน์ในตลาดอีกครั้งหนึ่ง

    โดยภาพรวม ทิศทาง Intercloud จะเป็นยุทธศาสตร์หลักของ Cisco ที่เราจะได้ยินและได้อ่านตั้งแต่ช่วงครึ่งปีหลังนี้ไปจนถึงปีหน้าเป็นอย่างน้อย แม้ Cisco จะระบุว่าแนวคิดของ Intercloud เป็นแนวคิดที่อิงอยู่กับมาตรฐานเปิด (อย่างเช่น Open Stack) แต่คำถามก็คือ จะมีสักกี่คนที่เอาด้วยกับ Cisco โดยเฉพาะในบทบาทของการพยายามเป็น "โซ่ข้อกลาง" และไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่า สิ่งที่ Cisco เสนอนั้น ในหลายส่วนเป็นส่วนที่ติด proprietary (เป็นเทคโนโลยีที่มีกรรมสิทธิ์) หรือไม่เช่นกัน

    ซึ่งหากพิจารณากันจริงๆ หน่วยงานควบคุมมาตรฐานกลางอย่าง IEEE ก็มีความพยายามในการนำเสนอมาตรฐานที่จะทำให้ Cloud แต่ละอันเชื่อมต่อและทำงานกันได้ (ข้อมูลเพิ่มเติม) แต่ยังไม่มีความคืบหน้ามากนัก แม้ว่าจะมีการประชุมอยู่เสมอ คำถามก็คือ บทบาทของ Cisco ในครั้งนี้ จะทำให้เกิดการแตกกระจาย (fragmentation) ของระบบ Cloud โดยรวมหรือไม่ในระยะยาว ทั้งหมดนี้อาจจะต้องรอให้ตลาดและระยะเวลา เป็นตัวพิสูจน์ว่าแนวคิด Intercloud ของ Cisco นั้น ใช้ได้จริงมากแค่ไหน

    Cisco, Cloud Computing, Enterprise, Thailand
     

แบ่งปันหน้านี้