DJI บริษัทโดรนรายใหญ่ที่สุดของโลกจากเซินเจิ้น เพิ่งเปิดตัวโดรนรุ่นใหม่ล่าสุด Phantom 4 ไปเมื่อต้นเดือนที่แล้ว เมื่อวานนี้ผมได้รับคำเชิญจากบริษัท Phantom Thailand ตัวแทนจำหน่ายสินค้าของ DJI อย่างเป็นทางการในไทย ให้ไปร่วมทดสอบโดรน Phantom 4 ตัวนี้ครับ รู้จัก DJI ก่อนเข้าเรื่องตัวสินค้า ขอแนะนำข้อมูลของ DJI สักนิดเผื่อใครไม่รู้จัก บริษัท DJI ก่อตั้งเมื่อปี 2006 และเติบโตอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันกลายเป็นบริษัทโดรนรายใหญ่ที่สุดของโลกไปเรียบร้อยแล้ว (รายละเอียดอ่านในบทความ รู้จัก DJI บริษัทโดรนรายใหญ่ของโลก กับภารกิจบินพิชิตถ้ำใหญ่ที่สุดในโลกที่เวียดนาม) สินค้าของ DJI ที่คนทั่วไปรู้จักคือ "โดรน" แต่เอาเข้าจริงแล้ว DJI ก็มีสินค้าประเภทอื่นๆ ที่ไม่ใช่โดรนด้วย เช่น ขายึดกล้อง (gimbal) ที่พัฒนาต่อมาจากเทคโนโลยี stabilizer ที่ใช้กับโดรน โดรนของ DJI ก็มีหลากหลายรุ่น แต่ที่ฮิตสุดๆ ขายดีที่สุดคือโดรนตระกูล Phantom ที่ราคาไม่แพง และเป็นโดรนสำเร็จรูปคือมีกล้องให้พร้อมสรรพ แกะกล่องออกมาพร้อมบินได้เลย ไม่ต้องปรับจูนอะไรเพิ่ม (ภาษาในวงการเรียก ready-to-fly) ซึ่งโดรน Phantom ของปี 2015 คือ Phantom 3 ที่ออกมาแล้วหลายรุ่นย่อย และอัพเกรดเป็น Phantom 4 ในปีนี้ ตัวอย่างโดรนรุ่นที่ใหญ่ขึ้นมาหน่อย สำหรับมืออาชีพ คือ Inspire 1 โดรนแบกกล้องตัวท็อปสุด Spreading Wings S1000 ตัวใหญ่มาก เอาไว้แบกกล้องวิดีโอได้สบาย โปรดักชันเฮาส์ในไทยก็ใช้กันอย่างแพร่หลายแล้ว โดรนเพื่อการเกษตร ส่วนใหญ่ใช้หว่านเมล็ดพืช MG-1 (ตัวนี้ Blognone เคยรายงานข่าวไปแล้ว) นอกจากโดรนก็ยังมีสินค้าอื่นๆ เช่น กล้องติดโดรน Zenmuse XT เป็นกล้องถ่ายภาพความร้อน (FLIR) ใช้ในงานอุตสาหกรรม หรืองานด้านบรรเทาสาธารณภัย ขายึดกล้อง (gimbal system) มีสองตัวคือ Ronin และ Osmo สำหรับตลาดโดรนในไทยก็เติบโตขึ้นทุกปี ทาง Phantom Thailand ประเมินว่าปี 2015 ยอดขายโดรนในไทยทั้งหมดน่าจะอยู่ที่ 300 ล้านบาท และปี 2016 จะเติบโตเป็น 400 ล้านบาท ส่วนยอดขายของ Phantom Thailand ในฐานะผู้จัดจำหน่ายโดรน DJI รายใหญ่ที่สุด อยู่ที่ราว 200 ล้านบาทในปีที่แล้ว ตอนนี้ Phantom Thailand มีช่องทางการขายโดรน 3 ช่องทาง ได้แก่ ขายออนไลน์ผ่านหน้าเว็บ, ขายผ่าน DJI Store ที่ตอนนี้มีหนึ่งสาขาที่คริสตัลพาร์ค และจะขยายเพิ่มอีก 2 สาขาในปีนี้, ขายผ่านร้านตัวแทนจำหน่ายอื่นๆ เช่น iStudio, .Life, Powerbuy Phantom Thailand พบว่าเมืองไทยมีการเติบโตของโดรนสูง โดยเฉพาะหัวเมืองท่องเที่ยวใหญ่ๆ อย่างเชียงใหม่ ภูเก็ต เพราะมีฝรั่งมาซื้อไปใช้กันเยอะ ลูกค้าในปัจจุบันแบ่งเป็นกลุ่มคนทั่วไป และกลุ่มมืออาชีพที่ใช้ถ่ายโฆษณา ภาพยนตร์ สารคดี ซึ่งทั้งสองกลุ่มมีสัดส่วนพอๆ กัน ปี 2016 ทาง Phantom Thailand จะเริ่มทำตลาดโดรนเพื่อการเกษตรเพิ่มเติมด้วย โดยจะลองเข้าไปคุยกับหน่วยงานภาครัฐเพื่อทำ pilot project ทดสอบกันก่อน (โดรนเพื่อการเกษตรตัวละประมาณ 2 แสนบาท) ปัญหาของการใช้งานโดรนคือมันบินได้ ตกได้ จึงต้องเปิดศูนย์บริการโดรน ตอนนี้ศูนย์บริการแห่งแรกอยู่ที่ตึก K.S.L. Tower ถ.ศรีอยุธยา (ติดกับทางเข้าโรงแรม Pullman Kingpower ฝั่ง ถ.ศรีอยุธยา และโรงเรียนศรีอยุธยา) ผู้บริหาร Phantom Thailand มองว่าการที่ภาครัฐไทยจะออกกฎหมายควบคุมโดรน กลับเป็นเรื่องดีต่อวงการโดรนไทย เพราะถือเป็นการจัดระเบียบโดรนไม่ให้มั่ว มีการลงทะเบียนโดรน ทำประวัติ ทำประกันภัย ซึ่งจะช่วยให้โดรนไทยเติบโตได้ยั่งยืนกว่าการปล่อยให้ซื้อใช้กันมั่วๆ ไม่มีระเบียบใดๆ DJI Phantom 4 เกริ่นกันมานาน เข้าเรื่องพระเอกของเรา เจ้า Phantom 4 โดรนรุ่นใหม่ล่าสุดครับ รายละเอียดของใหม่ใน Phantom 4 ดูได้จากข่าวเก่า ในที่นี้จะพูดเฉพาะฟีเจอร์สำคัญเท่านั้น Phantom 4 เป็นการปรับปรุงจาก Phantom 3 หลายจุด รูปร่างหน้าตาคล้ายของเดิม แต่มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นเล็กน้อย (ผมลองไปยกดูก็พบว่ามันไม่หนักอย่างที่คิด) จุดที่ดีกว่าเดิมคือระยะบินไกลกว่าเดิม (ของเดิม 2 กิโลเมตร ของใหม่ 5 กิโลเมตร) และแบตเตอรี่มีขนาดใหญ่ขึ้น ระยะเวลาบิน (flight time) นานขึ้น จากของเดิม 23 นาทีเป็น 28 นาที ความเร็วของ Phantom 4 ยังเพิ่มขึ้นด้วย ความเร็วสูงสุดคือ 72 กม./ชม. ตีง่ายๆ ว่าสามารถบินตามมอเตอร์ไซค์ได้เลย การควบคุม Phantom 4 ใช้คอนโทรลเลอร์เหมือนกับรุ่นก่อนๆ โดยเราสามารถนำจอสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ต เข้ามาเพื่อแสดงภาพสิ่งที่โดรนมองเห็นได้ด้วย คอนโทรลเลอร์ของ Phantom 4 ก็ปรับปรุงให้ควบคุมโดรนสะดวกขึ้น มีปุ่มปรับโหมดบิน ปรับมุมกล้อง ชัตเตอร์ถ่ายภาพ เพิ่มเข้ามาที่ขอบด้านซ้ายบน ด้านขวาก็มีปุ่ม Pause ที่กดแล้วโดรนจะหยุดนิ่ง ลอยตัวอยู่กลางอากาศ จุดเด่นของ Phantom 4 ที่เพิ่มเข้ามาคือมันฉลาดขึ้นมากๆ โดยมีกล้องเพิ่มเข้ามาอีก 4 ตัว ทำหน้าที่เป็นเซ็นเซอร์ครับ กล้อง 2 ตัวแรกอยู่ด้านใต้ของเครื่อง เอาไว้ดูได้ว่าตัวโดรนบินลงมาใกล้พื้นหรือยัง ช่วยลดการกระแทกเวลาลงจอด และช่วยให้โดรนรักษาระดับลอยตัวค้างไว้ได้ดีขึ้น ทุกครั้งที่ขึ้นบิน Phantom 4 จะจำตำแหน่งฐาน (home base) เอาไว้ บนคอนโทรลเลอร์ควบคุมจะมีกลุ่ม Home กลับบ้าน กดแล้วบินกลับฐานเองอัตโนมัติ ซึ่งปกติแล้ว Phantom 4 ใช้ GPS จำตำแหน่ง แต่ในกรณีที่ไม่มีสัญญาณ GPS เช่น อยู่ในอาคาร ก็ต้องใช้กล้องและเซ็นเซอร์อื่นๆ ช่วยกันประมวลผลแทน คลิปตัวอย่างการบินรักษาระดับภายในอาคาร ทีมงานของ Phantom Thailand บอกว่ากล้องด้านล่างยังมีจุดอ่อนอยู่ตรงที่ไม่เห็นระดับด้านบน ดังนั้นถ้าบินในอาคาร ก็ไม่มีตัวดูว่าจะชนเพดานหรือเปล่า อันนี้ต้องระวังด้วย ต่อมาคือกล้องด้านหน้า 2 ตัว ทำหน้าที่เป็น "ตา" ให้โดรนไม่บินไปชนสิ่งกีดขวาง เมื่อโดรนมีตาแล้ว ก็สามารถประมวลผลให้หลบเลี่ยงสิ่งกีดขวางโดยอัตโนมัติ บินแล้วไม่ชนกำแพงเลย ภาพตัวอย่างสิ่งที่ผู้ควบคุมโดรนมองเห็นบนจอภาพ จะมีแถบสีเหลือง-แดง ขึ้นมาด้านบนของหน้าจอ บอกระยะอันตรายว่าด้านหน้ามีวัตถุกีดขวางที่ระยะไกลแค่ไหน ซึ่งจากภาพด้านขวาเอาเก้าอี้มาขวาง โดรนก็จะเตือนด้วยแถบสีแดงที่เยอะกว่าภาพด้านซ้าย การที่ Phantom 4 มีตาด้านหน้า ส่งผลให้มีฟีเจอร์อื่นๆ จากเทคนิคด้านประมวลผลภาพตามมาอีกมาก เช่น โหมด TapFly แตะบนหน้าจอว่าจะให้บินไปตรงไหน โดรนจะบินไปตรงนั้นให้อัตโนมัติ, โหมด Active Track กำหนดวัตถุที่ให้ตาม (เช่น คนหรือรถ) แล้วโดรนจะวิ่งตามให้อัตโนมัติถ้าวัตถุนั้นเคลื่อนไหว ลองดูคลิปตัวอย่างการใช้ฟีเจอร์ Active Track กันครับ โหมดการบินของ Phantom 4 มี 3 โหมดคือ P (Positioning) โหมดกึ่งอัตโนมัติ, S (Sport) โหมดเน้นความเร็ว และ A (Altitude) โหมดควบคุมเองทั้งหมด ไม่มีระบบตรวจจับสิ่งกีดขวาง ความเร็วของแต่ละโหมดก็แตกต่างกันบ้าง โดยโหมด S มีความเร็วสูงที่สุด (มันคือโหมดแข่งโดรนนั่นเอง) โหมด S หรือ Sport บินได้เร็วที่สุด แต่โหมดนี้มีข้อจำกัดเยอะ เช่น ใช้กล้องหรือเซ็นเซอร์ไม่ได้เพราะโดรนจะบินแบบกดหัวลง 45 องศา เพื่อให้บินได้เร็วกว่าปกติ ดังนั้นการควบคุมต้องระวัง เพราะไม่มีตัวช่วยใดๆ ในงานแถลงข่าวมีให้ลองเล่น Phantom 4 กันนิดหน่อย แต่เนื่องจากบินในอาคาร พื้นที่มีจำกัด เลยทำอะไรได้ไม่มากนักครับ (ไว้เดี๋ยวจะขอยืมของจริงมารีวิว) Phantom 4 วางขายในไทยแล้ว ราคาตัวละ 64,400 บาท ใครที่เงินน้อยก็อาจลองดู Phantom 3 ที่ลดราคาลงมาเยอะ เหลือเพียง 20,200 บาทเท่านั้น ปิดท้ายด้วยคลิปโฆษณา Phantom 4 ของ DJI ครับ ดูกันเพลินๆ ว่าโดรนสมัยนี้มันทำอะไรกันได้บ้างแล้ว Topics: DJIDrone