"บัมเบิลบี"เล็งขายกิจการ โบรกเกอร์ชี้โอกาสเป็นไปได้ แต่มีอุปสรรคสภาพคล่องตึงตัว-ผูกขาดการตลาดในสหรัฐ ไทยยูเนี่ยนฯย้ำมีแผนซื้อกิจการ แต่ไม่ได้ปฏิเสธหรือตอบรับกับกรณีข่าวประมูลซื้อบริษัท บัมเบิล บี ฟู้ดส์ มูลค่ารวม 4.5 หมื่นล้านบาท ขณะที่ราคาหุ้นในตลาดพุ่งรับข่าว โบรกเกอร์ไทยประเมินมีโอกาสเป็นไปได้แต่ถ้าเกิดขึ้นจริง จะมีอุปสรรคใหญ่ 2 เรื่อง คือ ปัญหาสภาพคล่องทางการเงินตึงตัว กับเรื่องการผูกขาดสินค้าในตลาดสหรัฐ เพราะปัจจุบันมีส่วนแบ่งอยู่แล้ว 20%จากชิคเก้นออฟเดอะซี รายงานข่าวจากสำนักข่าว "รอยเตอร์" ระบุว่า บริษัทบัมเบิล บี ฟู้ดส์ กำลังเตรียมกระบวนการขายกิจการ ซึ่งอาจจะทำให้ผู้ผลิตและผู้จำหน่ายทูน่าและปลาซาร์ดีนกระป๋องรายใหญ่ที่สุดของอเมริกาเหนือแห่งนี้ มีมูลค่าสูงถึง 1.5 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งมี บริษัท ไลอ้อน แคปิตอล ซึ่งเป็นเจ้าของบริษัทบัมเบิล บี ฟู้ดส์ กำลังวางแผนจัดการประชุมร่วมกับวาณิชธนกิจหลายแห่งในช่วงหลายสัปดาห์ข้างหน้า เพื่อแต่งตั้งที่ปรึกษาทางการเงิน ซึ่งจะทำหน้าที่จัดการประมูลบริษัทบัมเบิล บี บัมเบิล บีมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ราว 130 ล้านดอลลาร์ต่อปี และคาดว่าจะสามารถดึงดูดความ สนใจจากบริษัทอาหารหลายแห่ง ทั้งจากสหรัฐและเอเชีย "ในการประชุมทางไกลครั้งล่าสุดกับนักลงทุนหุ้นกู้และนักวิเคราะห์นั้น บัมเบิล บีระบุว่า บริษัทอาจจะทำการประเมินทางเลือกในการรีไฟแนนซ์ ในปีนี้" นายเคนท์ แมคนีล หัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินของบัมเบิล บี กล่าว นอกเหนือจากนี้ บริษัทไม่สามารถแสดงความเห็นต่อกระแสคาดการณ์ ใดๆ ที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ หรือทางเลือกอื่นๆ ที่บริษัทอาจจะกำลังพิจารณาอยู่ในขณะนี้ ทั้งนี้ บริษัทบัมเบิล บี ฟู้ดส์ ซึ่งตั้งอยู่ในซาน ดิเอโก เป็นผู้ผลิตอาหารทะเลบรรจุกระป๋อง อาทิ ปลาทูน่าและเนื้อปลาทูน่า, ปลาแซลมอน, ปลาซาร์ดีน และหอยลาย โดยบริษัทใช้ชื่อแบรนด์ต่างๆ สำหรับผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายในสหรัฐ ซึ่งได้แก่ Sweet Sue, Snow's, Beach Cliff และ Wild Selections ขณะที่แบรนด์หลักในแคนาดาได้แก่ Clover Leaf บริษัทบัมเบิล บี ฟู้ดส์ ก่อตั้งขึ้นโดยกลุ่มผู้ผลิตปลาแซลมอนกระป๋อง 7 รายในแอสโทเรีย รัฐโอเรกอนในปี2442 และบริษัทได้ถูกขายให้ กับไลอ้อน แคปิตอลในปี 2553 โดยบริษัทเซ็นเตอร์ พาร์ทเนอร์ส แมเนจเมนต์ แอลแอลซี คิดเป็นมูลค่า 980 ล้านดอลลาร์ มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส อิงค์ระบุว่า ต้นทุนปลาที่ระดับสูง และการไร้ความสามารถของบริษัทต่างๆ อาทิ บัมเบิล บี ที่จะผลัก ภาระด้านราคาให้แก่ผู้บริโภคผ่านทางการกำหนดราคาที่สูงขึ้นนั้น ได้สร้างแรงกดดันต่อตลาดอาหารทะเลบรรจุกระป๋องในช่วงหลายปี ที่ผ่านมา การเคลื่อนไหวราคาหุ้นบริษัทไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ (TUF) เมื่อวันที่ 4 ก.ค.2557 ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้น และมาปิดตลาดที่ 66 บาทคิดเป็น 1.15% ด้านบริษัทไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น ได้ชี้แจงผ่านเอกสารแพร่ว่า การซื้อหรือการควบรวมกิจการ (M&A) ยังคงเป็นเป้าหมายและกลยุทธ์ที่สำคัญ ในการเติบโตของธุรกิจ TUF ระบุด้วยว่าบริษัทยังคงศึกษา และมองหาโอกาสที่น่าสนใจ ในการซื้อกิจการ เพื่อให้เป็นไปตามแผนการดำเนินงาน อย่างไรก็ตาม กรณีที่มีการเก็งกำไรข่าวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในตลาดหุ้นนั้น บริษัทไม่ขอออก ความเห็นต่อเรื่องดังกล่าว เนื่องจาก TUF เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาด หลักทรัพย์ฯ ซึ่งต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของตลาด นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เอเซียพลัส กล่าวว่ากรณีที่ไทยยูเนี่ยนจะเข้าไปร่วมประมูลซื้อบริษัทบัมเบิล บี มูลค่า 1.5 พันล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็น 4.5 หมื่นล้านบาท นั้นมีโอกาสเป็นไปได้ แต่บริษัทยังไม่ได้ตอบรับหรือปฏิเสธใด แต่ยืนยันที่จะมุ่งเน้นการซื้อกิจการหรือควบรวมกิจการเป็นกลยุทธ์หลัก แต่หากพิจารณาที่ปัจจัยพื้นฐานของบริษัทแล้ว พบว่า หากมีการเข้าไปซื้อบัมเบิล บี ฟู้ดส์จริงจะทำให้บริษัทต้องใช้เงินจำนวนมาก ทำให้สภาพคล่องทางการเงินจะตึงตัว และหากต้องกู้เงินบริษัทก็จะมีหนี้สินต่อทุนขยับขึ้นไปเกินระดับ 2 เท่าจากปัจจุบัน1.6 เท่า และเรื่องการผูกขาดสินค้าในตลาดสหรัฐ เนื่องจากปัจจุบันบริษัทมีบริษัทย่อย คือ บริษัทชิคเก้นออฟเดอะซี มีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 20-30% และทำธุรกิจเดียวกับบริษัท บัมเบิล บี มีส่วนแบ่งตลาด 20-30%ดังนั้นถ้าซื้อกิจการดังกล่าว ก็จะมีผลทำให้ส่วนแบ่งตลาดขยับไปถึง 40-50% ก็จะมีปัญหากับนโยบายคุ้มครองผู้บริโภคของสหรัฐ อย่างไรก็ตาม การประมูลซื้อบริษัทดังกล่าวจะดำเนินการภายในเดือนก.ค.นี้ ซึ่งก็คงต้องติดความคืบหน้าของบริษัทไทยยูเนี่ยนว่าจะประมูลซื้อหรือไม่ Tags : ซื้อกิจการ • บัมเบิล บี ฟู้ดส์ • โบรกเกอร์ • รอยเตอร์ • ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น