ซูเปอร์บอร์ดรัฐวิสาหกิจ เตรียมประชุมนัดแรก 9 ก.ค.นี้ เพื่อวางกรอบฐานรากดำเนินงานระยะยาว-การกำกับดูแล นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่าความคืบหน้าการทำงานของคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ ที่ผ่านมายังไม่ได้มีการร่วมประชุม เพื่อกำหนดแนวทางการทำงาน ซึ่งคาดว่าจะมีการร่วมประชุมหากำหนดแนวทางในกลางสัปดาห์หน้า "ที่ผ่านมายังไม่ได้ประชุมกัน ซึ่งตอนแต่งตั้ง ผมอยู่ต่างประเทศ ตอนนี้คณะทำงานเขาน่าจะเดินหน้ากันอยู่ และจะมีการประชุมร่วมกันครั้งแรกในกลางสัปดาห์หน้า ส่วนจะเข้าไปดูรัฐวิสาหกิจใดเป็นพิเศษหรือไม่ เรายังไม่ได้หารือกัน" ส่วนคณะกรรมการส่งเสริมลงทุน (บีโอไอ) จะมีการหารือยุทธศาสตร์การทำงานใหม่ ที่ผ่านมาได้มีการตั้งกรรมการขึ้นมาโดยพล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองหัวหน้า คสช. หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจเป็นประธาน เพื่อพิจารณา โดยจะมีการร่างเกณฑ์ใหม่ โดยนำร่างเดิมมาพิจารณา อาจจะมีเรื่องของสิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรมสร้างความรู้ความสามารถให้กับคนไทยและเศรษฐกิจไทย เรื่องเหล่านี้ยังอยู่ในร่างเหมือนเดิม หากคณะทำงานเห็นด้วยจะเสนอให้กับคณะกรรมการชุดใหญ่อีกครั้ง คสช.แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจเพื่อให้การกำกับดูแลและติดตามผลการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจทั้งระบบเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มีความเป็นเอกภาพ สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาคเอกชนเข้าร่วมกองทุนในกิจการของรัฐ โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของรัฐและประชาชนเป็นสำคัญ คณะกรรมการชุดนี้ มีหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ประธานกรรมการ โดยมีกรรมการอีก 16 คน ซึ่งนอกจากเป็นคสช.และผู้บริหารส่วนราชการเป็นกรรมการแล้ว ยังมีภาคเอกชนอีก 5 คน ประกอบด้วย นายทวีศักดิ์ กออนันตกูล นายบัณฑูร ล่ำซำ นายบรรยง พงษ์พานิช นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล นายรพี สุจริตกุล และ นายวิรไท สันติภาพ กรรมการ แต่อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เกิดความสับสนเรื่องอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการชุดนี้ เนื่องจากคำสั่งคสช. ระบุกว้างๆว่า มีอำนาจหน้าที่ 1. เสนอแนะนโยบาย แผนการบริหารและมาตรการในการทำภารกิจต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ 2.กำกับดูแลและติดตามผลการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้การบริหารงานของรัฐวิสาหกิจเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประสิทธิผลสูงสุด 3. บูรณาการการดำเนินการของรัฐวิสาหกิจให้มีความเป็นเอกภาพ 4.เสนอแนะแนวทางในการแก้ไขปัญหาด้านต่างๆ ของรัฐวิสาหกิจทั้งในด้านการบริหาร การดำเนินงาน และด้านการเงินต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ 5.ส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาคเอกชนเข้าร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ 6.แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ และคณะทำงานเพื่อช่วยเหลือการปฏิบัติงานได้ตามความจำเป็น และ 7.เชิญเจ้าหน้าที่บุคคลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง หรือเรียกเอกสารจากบุคคลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาประกอบการพิจารณาได้ตามความจำเป็น คาดประชุมนัดแรก 9 ก.ค. แหล่งข่าวจากซูเปอร์บอร์ด กล่าวว่า ขณะนี้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนว่าซูเปอร์บอร์ด จะมีอำนาจหน้าที่ในการอนุมัติโครงการต่างๆ ของรัฐวิสาหกิจ หรือแม้กระทั่งโครงการที่มีการลงทุนตั้งแต่ 100 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งไม่ได้เป็นเช่นนั้น แท้จริงแล้วคณะกรรมการชุดนี้ เป็นเพียงคณะกรรมการนโยบายและกำกับที่มีหน้าที่ในการวางรากฐานสำหรับการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจเท่านั้น โดยรายละเอียดแนวทางต่างๆ จะมีการประชุมในวันที่ 9 ก.ค.นี้ "ซูเปอร์บอร์ดไม่ใช่ซูเปอร์พาวเวอร์ เราแค่ช่วยปรับรากฐานเหมือนคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจที่เคยมีในอดีต ที่จะให้กรอบกติกาที่ดีมีมาตรฐานสำหรับแต่ละแห่งเพื่อเป็นผลระยะยาว แต่คณะกรรมการชุดนี้แค่เพิ่มว่าเป็นคณะกรรมการนโยบายและเพิ่มการกำกับมาด้วยเท่านั้น" ไทยพาณิชย์รับกังวลปล่อยกู้รสก. ด้านนายอาทิตย์ นันทวิทยา รองผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์กล่าวว่า ยอมรับว่าธนาคารมีความกังวลถึงประเด็นของการทำงานร่วมกับรัฐวิสาหกิจมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อมีซูเปอร์บอร์ดเข้ามา ธนาคารจะต้องหารือกับฝ่ายกฎหมายว่าโครงการต่าง ๆ ที่เคยคุยไว้จะเดินหน้าต่อได้หรือไม่ ซึ่งฐานลูกค้ารายใหญ่ของธนาคารในปัจจุบันมีหลักพันราย แต่ลูกค้าที่เป็นรัฐวิสาหกิจสร้างรายได้ให้ธนาคารไม่มากนัก หากโครงการเหล่านี้ชะลอออกไปก็ไม่น่าจะส่งผลกระทบมากนัก นอกจากนี้ การมีซูเปอร์บอร์ดเกิดขึ้นทำให้เกิดความไม่แน่ใจว่าจะมีผลต่อการตัดสินใจของบริษัทในกลุ่มรัฐวิสาหกิจหรือไม่อย่างไร นโยบายที่กระทบมาถึงอุตสาหกรรมบางประเภทเช่นโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ จะเกิดอะไรขึ้นตามมาบ้าง รวมถึงอุตสาหกรรมพลังงานและโทรคมนาคมและการขนส่งมวลชนที่จะต้องเปลี่ยนหมด "เราก็ต้องคุยกับฝ่ายกฎหมายเพื่อตีความว่าโครงการต่างๆ ทำได้หรือไม่ ที่รัฐวิสาหกิจขอมาจะผ่านการเห็นชอบของคณะกรรมการชุดนี้แล้วหรือยัง เราไม่รู้นโยบายจะมาจากซูเปอร์บอร์ดอย่างไร ทุกคนก็หวังว่าจะเริ่มเห็นความโปร่งใสมากขึ้นไม่ใช่วาระทางการเมือง" กสิกรไทยเผยไม่มีผลปล่อยกู้รัดกุม นายสุรเดช เกียรติธนากร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า การเข้ามาของซูเปอร์บอร์ด ไม่น่าจะมีผลต่อธุรกรรมที่รัฐวิสาหกิจมีกับธนาคารมากนัก เนื่องจากการพิจารณาโครงการต่างๆ ของธนาคารเป็นไปด้วยความรัดกุมอยู่แล้ว ในทางกลับกันน่าจะทำให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพในแง่เวลามากขึ้น ขณะที่ซูเปอร์บอร์ดเองทำหน้าที่ในการกำหนดทิศทางเท่านั้น โครงการต่าง ๆ ที่ได้เคยทำสัญญาไปก่อนหน้านี้แล้ว ก็ไม่ควรจะมีการเปลี่ยนแปลง แต่หากยังไม่มีการทำสัญญาก็อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้บ้าง การขยายตัวของเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาชะลอตัวลง โดยเฉพาะการส่งออกที่หดตัวมากกว่าที่คิดไว้ ขณะที่เงินลงทุนโดยตรงแม้จะยังเข้ามา แต่ก็ย้ายไปลงประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม อินโดนีเซียและมาเลเซียมากขึ้น ภาครัฐจึงมีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นให้เกิดความเชื่อมั่น และการลงทุนภาครัฐ ซึ่งซูเปอร์บอร์ดน่าจะช่วยให้เกิดการลงทุนต่อเนื่อง Tags : ซูเปอร์บอร์ด • รัฐวิสาหกิจ • ประสาร ไตรรัตน์วรกุล • ผู้ว่าการธนาคาร • บีโอไอ • คสช. • พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง