สอท.เล็งจัดสัมมนาใหญ่ เชิญ 'ซีอีโอ'ของตปท.ร่วม-กระตุ้นเชื่อมั่น ส.อ.ท.เตรียมจัดสัมมนาใหญ่ เชิญ "ซีอีโอ" ชั้นนำทั้งจากไทย-ต่างประเทศ เข้าร่วม หวังกระตุ้นความเชื่อมั่นให้กับประเทศ ขณะบีโอไอ ถกหอการค้าต่างประเทศ 28 แห่ง สร้างความมั่นใจนโยบายลงทุน ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคพุ่งสูงสุดรอบ 8 เดือน ขานรับการเมืองคลี่คลาย คสช.แก้ปัญหาเศรษฐกิจหลายด้าน การเรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุนไทยและต่างประเทศ ถือเป็นปัจจัยหลักที่การผลักดันการฟื้นตัวเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง หลังเริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัว สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนมิ.ย.ปรับขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 แต่ระดับสูงสุดรอบ 8 เดือน นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่าในวันที่ 29 ก.ค.นี้ ส.อ.ท.เตรียมจัดงานสัมมนาใหญ่ “ไทยแลนด์ อิส แบค” เพื่อสร้างความเชื่อมั่นนักลงทุนทั้งไทย และต่างประเทศว่า ไทยพร้อมรับการลงทุน และสถานการณ์ในประเทศดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยจะเชิญนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศ รวมทั้งหอการค้าต่างประเทศ ทูตพาณิชย์จากทุกประเทศ เข้าร่วมงานสัมมนา นอกจากนี้จะเชิญวิทยากรชั้นนำทั้งในประเทศและต่างประเทศ เข้าร่วมบรรยาย นายสุพันธ์ กล่าวว่าวิทยากรของไทยที่ได้ตอบรับเข้าร่วมบรรยายมาแล้วหลายราย เช่น นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรมว.ต่างประเทศ , นายบุญชัย โชควัฒนา ประธานกรรมการ บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) , นายวิชิต สุรพงษ์ชัย ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ และอยู่ระหว่างประสานผู้บริหารบริษัทชั้นอีกหลายราย ส่วนผู้บริหารจากบริษัทชั้นนำระดับโลกที่จะเข้าร่วมเสวนาคาดว่าจะมีประมาณ 3-4 ราย ขณะนี้อยู่ระหว่างการประสานงานประสานงานตอบรับอย่างเป็นทางการ “งานไทยแลนด์ อิส แบค ถือเป็นงานใหญ่ของ ส.อ.ท. ที่ต้องการจัดงาน เพื่อเรียกความเชื่อมั่นนักลงทุนทั้งในประเทศ และต่างประเทศ โดยสถานการณ์ในขณะนี้นักลงทุนจากต่างประเทศ มีความเชื่อมั่นสถานการณ์ประเทศไทยดีขึ้น ส่วนในประเทศ ก็ดีขึ้นอย่างเห็นๆได้ชัด เห็นได้จากกำลังซื้อของประชาชนเริ่มกลับเข้ามาแล้ว หลังจากเศรษฐกิจเริ่มฟื้น มีการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ จ่ายเงินโครงการรับจำนำข้าว” นายสุพันธุ์ กล่าว บีโอไอเร่งสร้างเชื่อมั่นนักลงทุน ด้าน นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ กล่าวว่า บีโอไอได้ประชุมหารือกับหอการค้าต่างประเทศในไทยจำนวน 28 แห่ง ซึ่งเป็นกิจกรรมที่บีโอไอจัดขึ้นเป็นประจำเพื่อรับฟังความเห็นจากนักลงทุนต่างชาติที่ดำเนินธุรกิจในประเทศไทย โดยในครั้งนี้บีโอไอได้สร้างความมั่นใจกับหอการค้าต่างประเทศ ถึงความชัดเจนในการดำเนินงานส่งเสริมการลงทุนในประเทศไทยด้วย โดยเฉพาะแนวทางในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ภายใต้การบริหารงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งยึดนโยบายเศรษฐกิจเสรี และตลาดเสรี รวมทั้งยินดีให้การต้อนรับการลงทุนจากต่างประเทศ พร้อมทั้งมอบให้หน่วยงานภาครัฐให้การสนับสนุนและอำนวยความสะดวกแก่นักธุรกิจต่างชาติอย่างเต็มที่ “จากการหารือและรับฟังข้อเสนอจากหอการค้าต่างประเทศ บีโอไอและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ก็จะนำไปพิจารณาปรับปรุงการอำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยให้มากขึ้น เช่น การผ่อนปรนหลักเกณฑ์การออกวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน ตลอดจนกฎระเบียบอื่นๆ ส่วนการขอใช้แรงงานต่างด้าวบางส่วนของบริษัทบีโอไอจะเร่งนำหารือบอร์ดใหญ่ต่อไป” นายอุดม กล่าว ยันเร่งพิจารณาอนุมัติลงทุน ทั้งนี้ บีโอไอได้ให้ความมั่นใจแก่บรรดาประธานหอการค้าต่างประเทศถึงเรื่องการพิจารณาอนุมัติให้การส่งเสริมแก่โครงการลงทุน ว่าจะมีการดำเนินงานโดยเร็ว เพราะนับตั้งแต่มีคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งมี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ เป็นประธานกรรมการ และพลอากาศเอกประจิน จั่นตอง หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ เป็นรองประธาน ก็ได้มีการพิจารณาอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนแล้วจำนวน 18 โครงการ รวมมูลค่าเงินลงทุน 122,837 ล้านบาท รวมทั้งมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาโครงการ เพื่อทำหน้าที่อนุมัติให้การส่งเสริมและกลั่นกรองโครงการลงทุนขนาดใหญ่ก่อนเสนอบอร์ดใหญ่ ขณะที่ นายแสตนลี่ย์ คัง ประธานหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย กล่าวในระหว่างการประชุมหารือกับบีโอไอ ว่า หอการค้าต่างประเทศมีความยินดีที่บีโอไออำนวยความสะดวกแก่โครงการลงทุนจากต่างประเทศตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา รวมทั้งได้รับข้อเสนอไปพิจารณาและดำเนินการอำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจในประเทศไทยให้ดียิ่งขึ้น นายวชิร คูณทวีเทพ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่าผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือน มิ.ย.2557 พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมเท่ากับ 65.3 เพิ่มขึ้นจากเดือน พ.ค.ซึ่งอยู่ที่ 60.7 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางาน เท่ากับ 68.1 เพิ่มขึ้นจาก 64.2 และ ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต เท่ากับ 92 เพิ่มขึ้นจาก 87.1 "ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นทุกรายการและเป็นการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และดัชนีความเชื่อมั่นส่วนใหญ่อยู่ในระดับสูงสุดรอบ 8 เดือน เนื่องจากปัจจัยสถานการณ์ทางการเมืองมีเสถียรภาพมากขึ้น" นายวชิร กล่าว ทั้งนี้ การที่ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น ส่งผลดีต่อคาดการณ์ภาวะการใช้จ่ายด้วย โดยดัชนีความเหมาะสมในการซื้อรถยนต์คันใหม่ มิ.ย.อยู่ที่ 98.5 เพิ่มขึ้นจาก 93.5 ดัชนีความเชื่อมั่นในการซื้อบ้านหลังใหม่ อยู่ที่ 70.4 เพิ่มจาก 58.6 ดัชนีความเหมาะสมในการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยว อยู่ที่ 75.3 มาอยู่ที่ 70 และ ดัชนีความเหมาะสมในการลงทุนทำธุรกิจเอสเอ็มอีอยู่ที่ 62.3 มาอยู่ที่ 59.3 ดัชนีปรับขึ้นแรง2เดือน ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ศูนย์ฯทำการสำรวจมาแล้ว 16 ปี ครั้งนี้เห็นปรากฏการณ์ที่ไม่ค่อยเจอที่ดัชนีปรับเพิ่มขึ้นติดต่อกัน 2 เดือน รวมแล้ว 7-8 จุด เพราะปกติจะเพิ่มขึ้น 3-4 จุดในเดือนแรก และจากนั้นจะค่อยๆ ปรับขึ้น แต่ครั้งนี้เพิ่มขึ้นค่อนข้างแรง และเป็นการค่อยๆ ปรับขึ้นของดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคต “ที่โดดเด่นมากคือ ดัชนีความคิดเห็นต่อสถานการณ์ทางการเมืองที่ปรับขึ้นถึง 10 จุด และแนวโน้มในอนาคตปรับตัวขึ้นมาก เพราะผู้บริโภคมองว่าการเมืองมีเสถียรภาพเร็ว หลัง คสช.เข้ามาบริหารประเทศ ทำให้คนกล้าที่จะจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในเขตเมืองหลวงและปริมณฑล ความเชื่อมั่นปรับขึ้นเร็วและแรงมาก ตามมาด้วยภาคกลางและภาคตะวันออก” นายธนวรรธน์ กล่าว อย่างไรก็ตาม ศูนย์ฯได้พบสัญญาณกำลังซื้ออ่อนตัวในพื้นที่ต่างจังหวัดทั้งที่ได้มีการจ่ายเงินค่าข้าวในโครงการรับจำนำให้ชาวนาแล้ว สาเหตุเบื้องต้นคาดว่ามาจากราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ การส่งออกอาหารกลุ่มประมงชะลอตัว ทำให้ขาดแรงกระตุ้นเศรษฐกิจที่ต่อเนื่องส่งผลให้ประชาชนยังไม่กล้าใช้จ่าย Tags : ซีอีโอ • สุพันธุ์ มงคลสุธี • สัมมนา • เศรษฐกิจ • ส.อ.ท. • บุญชัย โชควัฒนา • วิชิต สุรพงษ์ชัย • บีโอไอ • ฟื้นความเชื่อมั่น • อุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย • ธนวรรธน์ พลวิชัย