คณะรักษาความสงบแห่งชาติ พิจารณาร่างธรรมนูญปกครองชั่วคราวแล้ว ให้ฝ่ายกฎหมายปรับแก้เล็กน้อย ยันทูลเกล้าฯ ทันตามกรอบเวลาแน่นอน พ.อ.วินธัย สุวารี ทีมโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. เปิดเผยว่า ในวันนี้ คสช. ได้มีการประชุมเพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) โดยที่ประชุมได้พิจารณาปรับแก้เนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) เพียงเล็กน้อย ซึ่งรายละเอียดไม่อาจเปิดเผยได้ และ หัวหน้า คสช. ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายที่รับผิดชอบไปปรับแก้ ตามที่ที่ประชุม คสช. ได้ให้ข้อสังเกตแล้ว ส่วนกำหนดเวลาที่ หัวหน้า คสช. จะนำร่างรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) ขึ้นทูลเกล้าฯ นั้น อยู่ในดุลพินิจของ หัวหน้า คสช. ซึ่งยังเป็นไปตามกำหนดระยะเวลาที่ได้เคยกล่าวไว้ คือ ภายในเดือนกรกฎาคม นี้ พร้อมกันนี้ พ.อ.วินธัย ยังปฏิเสธว่า เมื่อวานที่ผ่านมา ในการประชุม คสช. ชุดใหญ่ ไม่ได้มีการประชุมในเรื่องนี้แต่อย่างใด สุรชัยเชื่อธรรมนูญชั่วคราวคสช.ใกล้เคียงปี49 นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย อดีตรองประธานวุฒิสภา กล่าวถึง ธรรมนูญฉบับชั่วคราวว่า ตนเองคาดว่าจะเป็นลักษณะเดียวกับปี 2549 ที่จะพูดถึงอำนาจ 3 ฝ่าย คือ อำนาจบริหารโดยคณะรัฐมนตรี มีจำนวนเท่าไรใครแต่งตั้ง อำนาจนิติบัญญัติประกอบด้วย สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นคนแต่งตั้ง แต่ที่แตกต่างจากปี 2549 คือ จะมีการตั้งสภาปฏิรูปประเทศเข้ามา ดังนั้น การยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของประเทศไทย ซึ่งเป็นฉบับที่ 19 นั้นจะต้องพูดถึงที่มาของ สนช. และที่มาของสภาปฏิรูป รวมถึง ต้องพูดถึงอำนาจตุลาการและองค์อิสระ และจะต้องพูดถึงอำนาจหน้าที่ของ คสช. ว่ามีหน้าที่อย่างไร ไม่ให้มีการทำงานทับซ้อนกับรัฐบาล รวมไปถึงการนิรโทษกรรมให้ คสช. เกี่ยวกับการดำเนินการที่เกิดขึ้นด้วย นอกจากนี้ ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก็จะทำให้มีรายละเอียดเพิ่มเติมจากรัฐธรรมนูญปี 2550 อาทิ จะต้องมีหลักประกันการปฏิรูปประเทศที่ต้องทำในระยะยาว เพื่อให้การปฏิรูปประเทศในเรื่องดังกล่าวบรรลุเป้าหมาย