พีอีเอเล็งชงครม.ใหม่ แผนลงทุนแสนล้าน ชี้โครงการสมาร์ทมิเตอร์และสมาร์ทกริด 1 หมื่นล้านบาทยังถูกเบรก "พีอีเอ"งัดแผนลงทุนไฟฟ้าฉบับ 11 มูลค่าแสนล้าน รอชงรัฐบาลชุดหน้าพิจารณา ผุดโครงการสถานีจ่ายไฟฟ้าย่อย 5.9 หมื่นล้าน โครงการจ่ายไฟฟ้าพื้นที่ชนบท 3 หมื่นล้าน โครงการระบบเคเบิลใต้ดิน 2 หมื่นล้านบาท นายธีรวุทธิ์ วัตรกิจไพศาล ผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนระบบโรงไฟฟ้า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (พีอีเอ) เปิดเผยว่า พีอีเอ ได้จัดเตรียมแผนลงทุนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ ตามกรอบแผนไฟฟ้าของพีอีเอ ฉบับที่ 11 ระยะเวลา 5 ปี (2555-2559) งบลงทุนทั้งสิ้น 1 แสนล้านบาท ซึ่งแบ่งเป็นการก่อสร้างสถานีจ่ายไฟฟ้าย่อย มูลค่า 5.9 หมื่นล้านบาท สำหรับสร้างสายส่งและจำหน่ายไฟฟ้า รวมถึงปรับปรุงอุปกรณ์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพไฟฟ้า ในพื้นที่รับผิดชอบของพีอีเอ โดยโครงการดังกล่าวกำลังอยู่ระหว่างการศึกษา เพื่อเตรียมขออนุมัติจากครม.กลางปี 2558 นอกจากนี้ยังมีโครงการจ่ายไฟฟ้าในพื้นที่ใหม่ของประชาชนและพื้นที่ชนบทที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ ซึ่งจะใช้งบประมาณ 3 หมื่นล้านบาท รวมทั้งโครงการปรับปรุงระบบสายส่งเคเบิลใต้ดินในเมืองใหญ่ 12 เมือง มูลค่า 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งโครงการนี้อยู่ระหว่างการทบทวนใหม่ เนื่องจากสำนักงานเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) วิเคราะห์ว่าควรลงทุนสายเคเบิ้ลใต้ดิน ในพื้นที่เศรษฐกิจที่มีผลตอบแทนการลงทุนไม่ต่ำกว่า 12% ดังนั้นจึงควรเป็นพื้นที่แหล่งท่องเที่ยว หรือ เมืองชุมชนหนาแน่น ที่ผ่านมาแผนดังกล่าวกำหนดแล้วเสร็จในปี 2557 ซึ่งเป็นแผนระยะ 5 ปี แต่เมื่อ สศช.สั่งให้ศึกษาทบทวนใหม่ ทำให้แผนดังกล่าวต้องเลื่อนไปเริ่มในปี 2558 แทน ส่วนโครงการที่เตรียมเสนอคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พิจารณา คือ โครงการขยายไฟฟ้าพื้นที่ทำกินของเกษตรกรครั้งที่ 2 ซึ่งจะนำไฟฟ้าไปติดตั้งให้กับพื้นที่นาที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ แต่พื้นที่นั้นจะต้องมีแหล่งน้ำและทางสาธารณะผ่านด้วย โดยเตรียมจะเสนอใน 1-2 เดือนจากนี้ นายธีรวุทธิ์ กล่าวว่า สำหรับโครงการที่ค้างพิจารณาและยังไม่ได้รับการอนุมัติ ได้แก่ โครงการโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (สมาร์ทกริด) และโครงการมิเตอร์อัจฉริยะ (สมาร์ทมิเตอร์) มูลค่า 1 หมื่นล้านบาท โดยโครงการสมาร์ทกริดได้กำหนดดำเนินการในพื้นที่ 4 แห่ง คือ เมืองพัทยา เชียงใหม่ นครราชสีมา และภูเก็ต ทั้งนี้ สศช.ได้อนุมัติให้ดำเนินการได้เฉพาะพื้นที่พัทยา โดยใช้เงินประมาณ 1,000 ล้านบาท ส่วนโครงการอื่นให้ชะลอไปก่อน เนื่องจากเป็นการลงทุนรูปแบบใหม่ในไทย ซึ่งมีความเสี่ยงสูง และขณะนี้อยู่ระหว่างการคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) หรือ เรกูเลเตอร์ พิจารณาว่าจะให้ดำเนินการได้เมื่อใดต่อไป ส่วนโครงการสมาร์ทมิเตอร์ 1 ล้านเครื่องที่จะแจกให้ประชาชนในพื้นที่นำร่อง 29 เมืองใช้นั้น เป็นโครงการมูลค่า 4,000-5,000 ล้านบาท จะนำร่องที่เมืองพัทยาก่อน โดยสมาร์ทมิเตอร์จะช่วยตรวจสอบการใช้ไฟฟ้าได้ทั้งทางผู้ใช้ไฟฟ้าเองผ่านมือถือ รวมถึงผู้จำหน่ายไฟฟ้าสามารถตรวจสอบความผิดพลาดในการจ่ายไฟฟ้าได้ Tags : ลงทุน • พีอีเอ • แสนล้าน • ธีรวุทธิ์ วัตรกิจไพศาล • การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค • ครม. • ประชาชน