"ซีไอเอ็มบี" รับต้องคุมเข้มสินเชื่อ เผยครึ่งปีหลังหันเน้นลูกค้ารายเล็ก สร้างผลตอบแทนพอร์ต 8-9% นายจิรัชยุติ์ อัมยงค์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายพาณิชย์ธนกิจ ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ธนาคารระมัดระวังการให้สินเชื่อและเลือกลูกค้ามากขึ้น จึงเป็นเรื่องยากที่จะปล่อยสินเชื่อได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ ธนาคารยังเชื่อว่า จะขยายสินเชื่อได้เป้าปีนี้ที่ตั้งไว้ 1.1 หมื่นล้านบาท หรือเติบโต 22% จากสิ้นปีก่อนที่มีพอร์ตสินเชื่ออยู่ที่ 4.3 หมื่นล้านบาท โดยสิ้นปีนี้ธนาคารจะมีพอร์ตสินเชื่อเพิ่มขึ้นเป็น 5.5 หมื่นล้านบาท "ความต้องการของลูกค้ายังมี แต่ที่ผ่านมาแบงก์เข้มงวดมากขึ้น ระวังลูกค้าบางอุตสาหกรรม เช่น คอนโดมิเนียมแนวสูง ที่จะพิจารณาเป็นรายๆ ไป และเลือกอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ รวมถึงเลือกลูกค้าเดิมเป็นหลัก และช่วยลูกค้าที่กำลังมีปัญหา เพราะเราอยากโตไปกับลูกค้าในช่วงนี้จะได้ใจลูกค้ามากกว่า" สาเหตุที่ทำให้ธนาคาร เชื่อว่าจะทำได้ตามเป้า เพราะยังมีสินเชื่อที่ได้อนุมัติและรอการเบิกใช้อยู่กว่า 8,000 ล้านบาท จากอุตสาหกรรมเกษตร อสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ รวมถึงโรงแรม และบริการ ช่วงที่ผ่านมาสินเชื่อของธนาคารเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 4.5 หมื่นล้านบาทแล้ว โดยช่วงที่เหลือของปี ธนาคารมีการปรับโครงสร้างสายงานใหม่ และจัดกลุ่มลูกค้ารวมถึงออกผลิตภัณฑ์ใหม่ออกมา ที่จะช่วยสนับสนุนการเติบโตของสินเชื่ออีก 4-5 พันล้านบาท เขากล่าวว่า ครึ่งหลังปีนี้ ธนาคารจะรุกขยายฐานลูกค้าเอสเอ็มอีรายเล็กเข้ามาในพอร์ต เพิ่มเติมจากเดิมที่พอร์ตสินเชื่อของธนาคารส่วนใหญ่ หรือมากกว่า 90% เป็นลูกค้าขนาดกลางและขนาดใหญ่ เพราะเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพอย่างมากในการเติบโต และยังให้ผลตอบแทนที่ดี โดยอยู่ที่ระดับ 8-9% และมีความเสี่ยงไม่ได้สูงอย่างที่กังวล เนื่องจากหลักประกันของลูกค้ากลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นบ้าน หรือรถที่จะต้องรักษาไว้ ปัจจุบันสัดส่วนลูกค้าของธนาคารที่มาจากรายเล็กมีเพียง 5% ซึ่งธนาคารตั้งเป้าว่าใน 3 ปีข้างหน้า จะเพิ่มพอร์ตสินเชื่อจากลูกค้ารายเล็กเป็น 15% ธนาคารจัดกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอีตามวงเงินสินเชื่อ ลูกค้าเอสเอ็มอีขนาดเล็ก ได้แก่ ลูกค้าวงเงินไม่ถึง 20 ล้านบาท เอสเอ็มอีขนาดกลาง วงเงิน 20-60 ล้านบาท และเอสเอ็มอีขนาดใหญ่ วงเงิน 60 ล้านบาทขึ้นไป และยังดูแลลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ ที่มีรายได้ต่อปีไม่เกิน 2 พันล้านบาท เขากล่าวว่า ในแง่การสร้างรายได้ของสินเชื่อเอสเอ็มอี ยังทำได้สูงกว่าเป้าที่ตั้งไว้ 107% แม้สินเชื่อจะไม่เติบโตมากนัก โดยครึ่งปีแรกรายได้ดอกเบี้ยอยู่ที่ 600 ล้านบาท และมีค่าธรรมเนียม 80 ล้านบาท ส่วนต่างดอกเบี้ยอยู่ที่ 3% ในส่วนของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ขณะนี้ต่ำกว่า 1% ถือว่าควบคุมได้ตามเป้าที่ตั้งไว้และไม่น่ากังวล เขากล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ได้ติดตั้งระบบสกอร์การ์ด ที่เป็นเครื่องมือสำคัญในการวิเคราะห์สินเชื่อเอสเอ็มอีรายเล็ก และจะใช้จุดแข็งด้านเครือข่ายทั่วอาเซียนของกลุ่มซีไอเอ็มบีเข้าไปช่วยลูกค้าเอสเอ็มอี เตรียมความพร้อมในการขยายตลาดไปเออีซีอีกด้วย และธนาคารได้ปรับโครงสร้างสายงานพาณิชย์ธนกิจ เพื่อตอบโจทย์การให้บริการลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะการลดขั้นตอนการทำงาน และให้บริการแก่ลูกค้าสั้นที่สุด ส่วนด้านผลิตภัณฑ์ ธนาคารเปิดตัว 2 ผลิตภัณฑ์ใหม่ ได้แก่ สินเชื่อไวจังสินเชื่อเพื่อการลงทุนและหมุนเวียนธุรกิจ เพิ่มความคล่องตัว ด้วยวงเงินหลากหลาย ผ่อนสบาย รู้ผลเร็วใน 7 วันทำการเมื่อยื่นเอกสารครบถ้วน วงเงินตั้งแต่ 300,000-20 ล้านบาท วงเงินประกอบด้วย วงเงินเบิกเกินบัญชี เงินกู้ระยะยาว (LTL) วงเงินตั๋วสัญญาใช้เงิน (PN) หนังสือค้ำประกัน (LG) อาวัลตั๋วสัญญาใช้เงิน (AVAL) การรับรองตั๋วแลกเงิน (Acceptance) ระยะเวลากู้ 10 ปีหลักประกันที่รับพิจารณาครอบคลุม เงินฝาก พันธบัตรรัฐบาล และอสังหาริมทรัพย์ สินเชื่อไวจัง...เยอะจริง สินเชื่อเพื่อการลงทุนและหมุนเวียน ด้วยวงเงินสูง 3 เท่าของมูลค่าหลักประกัน รู้ผลเร็วภายใน 7 วันทำการ อนุมัติวงเงินสูงสุด 3 เท่า โดยใช้บสย.ค้ำประกันวงเงินส่วนที่เกินจากมูลค่าหลักประกัน รู้ผลเร็วภายใน 7 วันทำการเมื่อยื่นเอกสารครบถ้วน วงเงินตั้งแต่ 1.5-10 ล้านบาท เงินกู้ระยะยาว (LTL) ระยะเวลากู้ 7 ปี สำหรับหลักประกันครอบคลุม เงินฝากออมทรัพย์ พันธบัตรรัฐบาล หรือบัตรเงินฝาก (NCD) Tags : ซีไอเอ็มบีไทย • สินเชื่อรายย่อย