(รายงาน) โครงสร้างการค้าโลก'เปลี่ยน' สาเหตุส่งออกฟื้นตัวช้า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกรายงานนโยบายการเงิน เดือนมิ.ย. 2557 ซึ่งภาคส่งออกของไทยที่ปรับลดลง ทั้งๆที่แนวโน้มเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวยังเป็นประเด็นน่าติดตามว่าเกิดจากสาเหตุใด โดยธปท.ได้ชี้ให้เห็นว่าสาเหตุหลักมาจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการค้าโลก มีรายละเอียด ดังนี้ ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2557 การส่งออกของประเทศในภูมิภาคเอเชียเริ่มมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศของกลุ่มเศรษฐกิจหลัก ทำให้การส่งออกกลับมามีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเอเชียมากขึ้น และส่งผลให้เศรษฐกิจของหลายประเทศในภูมิภาคขยายตัวดี แม้ว่าอุปสงค์ในประเทศจะมีการปรับลดลง อย่างไรก็ดี วิกฤติเศรษฐกิจและพัฒนาการของเศรษฐกิจโลกในช่วงที่ผ่านมา คาดว่าจะมีผลกระทบต่อโครงสร้างการค้าโลก ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคเอเชียไม่สามารถพึ่งพาแรงขับเคลื่อนจากการส่งออกได้มากเหมือนดังเช่นในอดีตที่ผ่านมา มีข้อสังเกตสำคัญ 2 ประการ ดังนี้ 1. อัตราการขยายตัวของปริมาณการค้าโลกลดลง ซึ่งจะทำให้การส่งออกของภูมิภาคเอเชียในระยะถัดไปอาจจะไม่สามารถขยายตัวได้สูงดังเช่นในอดีต โดยเมื่อพิจารณาอัตราการขยายตัวของการค้าโลกโดยเฉลี่ยในช่วงปี 2534-2550 เปรียบเทียบกับปี 2554-2556 พบว่า ปรับตัวลดลงจาก 7% เหลือเพียง 4% ตามลำดับ ซึ่งอาจเป็นผลจาก เศรษฐกิจประเทศพัฒนา (Advanced Economies) ที่ฟื้นตัวช้า โดยการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศพัฒนาภายหลังจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกในปี 2551 ช้ากว่าการฟื้นตัวจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกในอดีต เนื่องจากในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจครั้งล่าสุด เศรษฐกิจในกลุ่ม G3(สหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น) ต้องเผชิญปัญหาในหลายด้าน ทั้งในภาคการเงิน ภาคการคลัง และภาคอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงปัญหาอัตราว่างงาน ที่อยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างเหล่านี้ต้องใช้เวลา การย้ายฐานการผลิตสินค้าต้นน้ำเข้าไปยังประเทศในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets: EMs) เพื่อใช้ผลิตสินค้าเพื่อการบริโภคในประเทศและเพื่อการส่งออก โดยสะท้อนจากการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ (Foreign Direct Investment: FDI) มาสู่ประเทศตลาดเกิดใหม่ ทั้งในภูมิภาคอาเซียน และกลุ่มละตินอเมริกาที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เพื่อสร้างอุตสาหกรรมสนับสนุน (Cluster) ที่ครอบคลุมทั้งอุตสาหกรรมต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ซึ่งอยู่ในประเทศเดียวกันมากขึ้น ทำให้มีการนำเข้า-ส่งออกสินค้าขั้นกลางลดลง จึงมีผลให้การค้าระหว่างประเทศภายในภูมิภาคปรับลดลง เนื่องจากถูกทดแทนด้วยสินค้าที่ผลิตในประเทศมากขึ้น 2. ความสัมพันธ์ระหว่างผลิตภัณฑ์ มวลรวมของกลุ่ม G3 และปริมาณการนำเข้าสินค้าจากเอเชียปรับลดลงจากช่วงก่อนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจโลกปี 2551 สะท้อนให้เห็นว่า แม้ว่าเศรษฐกิจ G3 จะปรับดีขึ้นในระยะถัดไป แต่การนำเข้าสินค้าจากประเทศในภูมิภาคอาจไม่เพิ่มสูงขึ้นมากนัก ทำให้การส่งออกของประเทศในภูมิภาคเอเชียอาจได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ G3 ไม่มากเหมือนในอดีต ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่ผู้บริโภคบางกลุ่มในประเทศ G3 เปลี่ยนพฤติกรรมหันมาใช้สินค้าที่ผลิตในประเทศมากขึ้น ทำให้มีการย้ายฐานการผลิตของบางบริษัทกลับมายังประเทศ G3 ส่งผลให้สัดส่วนการนำเข้าต่อการบริโภคสำหรับสินค้าคงทนของสหรัฐฯ ปรับลดลงภายหลังจากวิกฤติเศรษฐกิจปี 2551 และเป็นผลจากส่วนต่างต้นทุนค่าจ้างแรงงานระหว่างประเทศ G3 และเอเชียที่ปรับแคบลง สะท้อนจากต้นทุนค่าจ้างแรงงานต่อหน่วย (Unit Labour Cost) ของประเทศ G3 ปรับลดลงต่อเนื่องโดยเฉพาะหลังวิกฤติเศรษฐกิจโลก ขณะที่ต้นทุนค่าจ้างแรงงานต่อหน่วยของประเทศ ในกลุ่มตลาดเกิดใหม่เร่งขึ้นมาก กล่าวโดยสรุป โครงสร้างการค้าโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอาจจะมีผลให้การส่งออกของเอเชียไม่ได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ G3 เหมือนในอดีต นอกจากนี้ รสนิยมการบริโภคสินค้า ที่เปลี่ยนแปลงไป อาทิ การที่ผู้บริโภคลดความนิยมในการใช้คอมพิวเตอร์และหันไปใช้สมาร์ทโฟน และแท็บเล็ตมากขึ้น จะทำให้การส่งออกของบางประเทศที่มีสินค้าที่ไม่เป็นที่นิยมฟื้นตัวช้ากว่าประเทศอื่นๆ โดยประเทศที่ได้รับผลกระทบดังกล่าวจำเป็นต้องยกระดับเทคโนโลยีการผลิตให้สามารถผลิตสินค้า ได้สอดคล้องกับความต้องการในตลาดโลกที่เปลี่ยนไป เพื่อให้สามารถได้รับประโยชน์จากการปรับดีขึ้นของเศรษฐกิจ G3 ให้ได้มากที่สุด Tags : ธปท. • ส่งออก • เศรษฐกิจ • เปลี่ยนแปลง • วิกฤติ • เอเชีย