"ธปท."ยืนยันฐานะการเงินธนาคารพาณิชย์แข็งแกร่งไม่ซ้ำรอยวิกฤติต้มยำกุ้งชี้มาตรฐานบัญชีต่างกันชัดเจน ผ่านไปร่วม 17 ปี สำหรับวิกฤติ “ต้มยำกุ้ง” วิกฤติเศรษฐกิจที่ร้ายแรงสุดในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทย แม้วิกฤติในครั้งนั้น “สถาบันการเงิน” อาจไม่ใช่ “ต้นเหตุ” แห่งปัญหา ..แต่ก็เป็น “สาเหตุ” หลักที่ซ้ำเติมให้สถานการณ์ทวีความรุนแรงขึ้น มาวันนี้แม้เวลาจะผ่านไปแล้ว 17 ปี แต่ “ร่องรอย” ความเสียหายยังคงมีให้เห็นอยู่จวบจนทุกวันนี้ และคาดว่าจะยังคงได้เห็นต่อไปเรื่อยๆ อีกอย่างน้อยเป็นสิบปี ..ร่องรอยที่ว่านี้ สะท้อนผ่านตัวเลข “หนี้” ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (เอฟไอดีเอฟ) ซึ่งปัจจุบันมียอดคงค้างกว่า 1.1 ล้านล้านบาท ด้วยมูลหนี้ที่ยังค้างคาอย่างมหาศาลนี้ ทำให้ต้องหันมาทบทวนดูความ “แข็งแกร่ง” ของ “สถาบันการเงินไทย” ในปัจจุบันว่า มีโอกาสจะเหยียบย่ำซ้ำรอยเดิมบ้างหรือไม่? เรื่องนี้ “เกริก วณิกกุล” รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ “แบงก์ชาติ” ยืนยันกับทีมข่าว “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า วันนี้เราเดินมาไกลจากปัญหาเมื่อปี 2540 ค่อนข้างมาก และสถาบันการเงินไทยในปัจจุบัน ก็แตกต่างจากช่วงเวลานั้นอย่างสิ้นเชิง ดังนั้นโอกาสที่เราจะเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจอย่างเมื่อปี 2540 ถ้าจะเกิดขึ้น ก็คงไม่ได้มาจากสถาบันการเงินอย่างแน่นอน สาเหตุที่มองเช่นนั้นเพราะ “มาตรฐานบัญชี” ในปัจจุบัน แตกต่างจากอดีตชัดเจน โดยเฉพาะการนับหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ซึ่ง “อดีต” กว่าจะกลายเป็น “เอ็นพีแอล” ต้องเป็นหนี้ที่ค้างชำระเกินกว่า 12 เดือน แต่ “ปัจจุบัน” ถ้าค้างเกินกว่า 3 เดือน ก็ปัดมาเป็นเอ็นพีแอลได้แล้ว “ปัญหาเอ็นพีแอลในขณะนั้น ส่วนหนึ่งเพราะเรากำหนดเอ็นพีแอลว่า เป็นหนี้ที่ไม่มีการชำระมากกว่า 12 เดือนขึ้นไป ทำให้รอบบัญชีไม่สามารถดักเก็บความเสียหายได้ เพราะมันเกินรอบบัญชีไปแล้ว ต่างจากปัจจุบันซึ่งถ้าไม่ชำระมากกว่า 3 เดือนก็นับเป็นเอ็นพีแอล ทำให้สามารถเก็บในรอบบัญชีเดียวกันได้ เมื่ออยู่ในรอบบัญชีเดียวกันก็สามารถนำรายได้มาเป็นตัวรองรับความเสียหาย ซึ่งตรงนี้ช่วยได้มาก” นอกจากนี้ ผู้บริหารระดับสูงของธนาคารพาณิชย์ในปัจจุบัน ส่วนใหญ่เป็นคนที่เคยผ่านวิกฤติปี 2540 มาแล้วทั้งสิ้น ทำให้ความระมัดระวังในการดำเนินธุรกิจมีสูง และเวลาที่แบงก์ชาติขอให้มีการตั้งสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญที่มากขึ้น ก็สามารถพูดคุยได้ไม่ยากนัก เพราะทุกคนพร้อมให้ความร่วมมือ สุดท้าย คือ ฐานะการเงินของธนาคารพาณิชย์ไทยในเวลานี้มีความแข็งแกร่งมาก ปัจจุบันธนาคารพาณิชย์ไทยโดยเฉลี่ยมีการสะสมเงินสำรองเผื่อความเสียหายไว้สูงกว่าเกณฑ์ที่แบงก์ชาติกำหนดถึง 160% และเมื่อเอาเงินสำรองทั้งหมดของธนาคารพาณิชย์ หารด้วยสินเชื่อ พบว่ามีสัดส่วนรวมกันที่ประมาณ 3.4-3.8% นับว่าเป็นระดับที่สูงมาก เพราะขนาดทางการจีน พยายามทำให้ได้ที่ 2.2% ยังเป็นเรื่องยาก “การตั้งสำรองของแบงก์พาณิชย์เริ่มมาตั้งแต่ปี 2549-2550 ในช่วงของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล เป็นผู้ว่าแบงก์ชาติในขณะนั้น หลังจากนั้นก็ค่อยๆ เพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ ล่าสุดเราก็ใช้วิธีบริหารความเสี่ยงที่มีลักษณะการคำนวณที่สูงขึ้น คือ การตั้งสำรองโดยคิดจากโอกาสหนี้ที่จะเลื่อนไหลเป็นเอ็นพีแอล และ โอกาสที่เกิดจากความสูญเสียซึ่งอาจทำให้หนี้นั้นเสียไป” นอกจากนี้แล้ว แบงก์ชาติ ยังกำหนดให้ หนี้ที่มีการปรับโครงสร้างหลายครั้ง หรือมีเหตุพอที่คาดเดาได้ว่า ลูกหนี้อาจเสื่อมลง ก็ให้มีการสำรองได้อีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งทั้งหมดนี้เวลาที่แบงก์ชาติหารือกับธนาคารพาณิชย์ เขาก็พร้อมให้ความร่วมมือเต็มที่ จึงมั่นใจได้ว่า ธนาคารพาณิชย์ไทยมีความแข็งแกร่งค่อนข้างมาก เกริก ยังย้ำด้วยว่า แนวทางการกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ของทางแบงก์ชาติที่ยึดมั่นมาช้านาน คือ พยายามดูแลไม่ให้ธนาคารพาณิชย์ต้องเป็นต้นเหตุแห่งวิกฤติเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันต้องมีส่วนช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ด้วยการทำหน้าที่เป็นตัวกลางส่งผ่านเงินออมไปยังผู้ลงทุน และในกรณีที่เกิดปัญหาขึ้น ต้องไม่เอาเงินภาษีประชาชนมาอุดหนุน โฆสิตยันแบงก์แกร่งพอรับวิกฤต เช่นเดียวกับ “โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์” ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ ที่มองตรงกันว่า หลังวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 เป็นต้นมา สถาบันการเงินไทยถือว่ามีความเข้มแข็งมากขึ้น มีเอ็นพีแอลลดลงจากระดับที่เคยสูงถึง 50% มาอยู่ที่ 2%เศษ และมีสัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากลดลงจากที่เคยสูงถึง 120% มาอยู่ที่ระดับ 90% เศษ ที่ผ่านมาธนาคารกรุงเทพให้ความสำคัญกับการความเพียงพอของเงินกองทุนที่เป็นการสร้างภูมิคุ้มกัน ที่จะต้องให้แต้มสูงตลอดเพื่อความมั่นคงระยะยาว ขณะที่แบงก์ชาติเองก็ได้นำมาตรการกำกับสถาบันการเงิน (Macro rudential) มาใช้ มีการตรวจสอบธนาคารพาณิชย์อย่างเข้มงวดและมีการทดสอบภาวะวิกฤติ หรือ Stress Test กับธนาคารพาณิชย์อยู่เสมอในความเสี่ยงรูปแบบต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ซึ่งต่างประเทศที่เกิดวิกฤติก็ได้นำวิธีนี้ไปใช้เช่นกัน หากมองไปในอนาคต ยอมรับว่ายังมีความเสี่ยงอยู่บ้างแต่หากไม่ใช้สถาบันการเงินกระตุ้นเศรษฐกิจก็ไม่มีความเสี่ยง โดยเฉพาะการปล่อยสินเชื่อในระดับสูงกว่าจีดีพีเป็นเวลานานๆ ก็พิสูจน์แล้วว่าจะนำไปสู่วิกฤติ ทั้งนี้เชื่อว่าจะไม่ใช่ความเสี่ยงของระบบ เพราะมาตรการของ แบงก์ชาติ ที่วางไว้รอบด้าน แต่อาจจะมีความเสี่ยงเป็นเพียงจุดๆ เช่นปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เกิดขึ้นในธนาคารเฉพาะกิจของรัฐที่ต้องระวัง และเป็นความรับผิดชอบของภาครัฐในการเพิ่มทุน แต่ก็ไม่ได้สร้างอันตรายให้กับระบบ ไทยพาณิชย์ชี้ธปท.คุมเข้ม ด้าน “หยกพร ตันติเศวตรัตน์” รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า นับจากปี 2540 สถาบันการเงินไทยโดยรวมมีความแข็งแกร่งขึ้นมาก ทั้งเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง ความสามารถในการบริหารธุรกิจและจัดการความเสี่ยง รวมถึงการกำกับกิจการภายในที่ไม่เคยมีการพูดถึงในช่วงก่อนปี 2540 ขณะที่บทบาทของ แบงก์ชาติ ที่สนับสนุนให้สถาบันการเงินเสริมความแข็งแกร่งด้วยการนำมาตรฐานการดำรงเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงมาใช้ ทำให้ธนาคารพาณิชย์มีความพร้อมที่จะรับมือกับวิกฤติเศรษฐกิจ ทั้งนี้ที่น่าเป็นห่วงคือปัญหาหนี้ครัวเรือนของภาคเอกชนที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นอันตรายที่ต้องระมัดระวัง “ตอนปี 2540 เราเจอหลายเรื่องพร้อมกัน ทั้งเรื่องปัจจุบันทันด่วนอย่างทุนสำรองที่ลดฮวบ มีการลดค่าเงินไป 40% หนี้ต่างประเทศเพิ่มเท่าตัว ในขณะนี้แม้จะยังไม่เห็นว่าจะเกิดวิกฤติรอบใหม่ แต่ไม่ได้หมายความว่ามันจะไม่มาในรูปแบบอื่น ๆ หรืออย่างการแข่งขันของแบงก์หากไม่มีกรอบกติกาการแข่งขันสูงไปเรื่อย ๆ อาจนำไปสู่วิกฤติรอบใหม่ได้เช่นกัน” Tags : ธปท. • ต้มยำกุ้ง • ฐานะการเงิน • แบงก์พาณิชย์