จับตา สนช. วิ่งฝุ่นตลบ แนะ พล.อ.ประยุทธ์ คุมเกมยาว

หัวข้อกระทู้ ใน 'การเมือง' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 30 มิถุนายน 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    [​IMG]

    สัญญาณ จาก "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ผ่านรายการ "คืนความสุขให้คนในชาติ" เมื่อวันที่ 20 มิถุนายนที่ผ่านมา ชัดเจนแล้วว่า จะมีการจัดตั้ง "สภาปฏิรูป" หลังเดือนกรกฎาคม โดย "ที่มา" จะมาจากการ "คัดสรร" กันเองของตัวแทนแต่ละพวก-แต่ละฝ่ายที่เกี่ยวข้องมานั่งเก้าอี้ "สมาชิกสภาปฏิรูป"

    ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" จะแสดงความ "วิตก-กังวล" ว่าจะมีการ เซ้งเก้าอี้อำนาจ เพราะในอดีตก็เคยมีกรณี "ล็อบบี้" เก้าอี้ "ผู้ร่างกติกาประเทศ" มาให้เห็นแล้ว

    "ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์" ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) อดีต สนช. สมัยรัฐประหาร ให้ความเห็นว่า สมัยรัฐบาล "พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์" สนช.ตอนนั้น เท่าที่จำได้ ออกกฎหมายประมาณ 90 ฉบับ ซึ่งบางเรื่อง ข้าราชการใช้โอกาสนี้ในการผลักดันประโยชน์ของตัวเอง ทำให้มีกฎหมายที่ออกมาเพื่อประโยชน์ของข้าราชการเสียเป็นส่วนใหญ่

    "ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์" ฟันธงว่า สนช.ที่จะเกิดขึ้นจะมีสภาพ "ฝุ่นตลบ" เหมือนที่เคยเกิดขึ้นแล้วในสมัยรัฐบาล "พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์" ก็คือกลุ่มต่าง ๆ ที่ "อึดอัด-คับข้องใจ" มานาน ทั้งกลุ่มที่ "ทำเพื่อประโยชน์สาธารณะ" - "กลุ่มที่ทำเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มตัวเอง"

    ทุกกลุ่มจะเข้าไป "ล็อบบี้" กันหมด เป็นเรื่องที่คาดเดากันได้ว่ามันจะเกิดเรื่องแบบนี้ เพราะว่าในช่วงที่รัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง มันเปลี่ยนอะไรยากมาก

    "อดีต สนช." สมัยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ยกตัวอย่างให้เห็นว่า ที่ผ่านมา การแก้กฎหมายสัก 1 ฉบับ ในช่วงที่รัฐบาลมาจากการเลือกตั้งนั้น "ยากเย็นแสนเข็ญ" เห็นได้จากการวิจัยระยะเวลาการออกกฎหมาย 1 ฉบับ ต้องใช้เวลาเฉลี่ยประมาณ 840 วัน

    "เพราะฉะนั้น คนที่เดือดร้อนและอยากจะแก้ปัญหามันรอไม่ไหว พอเกิดเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงปุ๊บ ทุกคนก็จะกรูไปยัง คสช.-สนช.เพื่อล็อบบี้ในสิ่งที่ตัวเองอยากจะเห็นเกิดขึ้น บางส่วนออกมาดี แต่ก็มีหลายส่วนที่ออกมาเละ" "ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์" เล่าประสบการณ์ เพื่อฉายให้เห็นภาพในอนาคต

    ส่วนการคัดสรรคนที่จะมาเป็น สนช.จะ "ฉาบฉวย" มากแค่ไหนในช่วงแต่งตั้ง สนช.สมัย "รัฐบาลขิงแก่" ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ เล่าว่า คนที่ได้รับการแต่งตั้งยังไม่รู้ตัวเลยก็มี พอแต่งตั้งเขาถึงไปลาออก เพราะเขาไม่รู้ว่าถูกแต่งตั้งด้วย อาจจะมีใคร "ซี้" กับใคร แล้วไป "ล็อบบี้" ใคร บางคนก็ผู้มีอำนาจอยากจะให้เข้ามา เพื่อให้ "ภาพลักษณ์ดูดี" เท่านั้น

    ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ฝาก "โจทย์หิน" ปฏิรูปประเทศเป็นการบ้านว่า อยู่ที่การสรรหาให้ได้มาจากหลายภาคส่วนอย่างแท้จริง

    ขณะ ที่ "ศ.ดร.ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์" ประธานสภาพัฒนาการเมือง อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สมัย "รัฐบาลขิงแก่" มองว่า การรัฐประหารครั้งนี้ คสช.ต้องเอาให้ชัดว่าจะเป็น "ผู้พิทักษ์" หรือ "ผู้ปกครอง" เพราะถ้าเป็นผู้พิทักษ์ ก็จะเหมือนกับสมัย คมช. คือ "ปล่อยมือ" เมื่อมีรัฐบาลชั่วคราวแล้ว

    "ถ้าจะเป็นผู้ปกครอง ก็ไม่ใช่แค่เฉพาะ 3 เดือน ก่อนที่ธรรมนูญชั่วคราวจะเกิดขึ้น แต่ "อย่าปล่อยมือ"-"อำนาจ" จนกว่าจะมีการผ่องถ่ายอำนาจกลับไปสู่ประชาชน

    "ศ.ดร.ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์" มองว่า ถ้า คสช.เป็นเพียง "ผู้พิทักษ์" เมื่อผ่านช่วง 3 เดือนไปแล้ว มันจะเป็นอีกขั้นตอนหนึ่ง ซึ่งมีความยุ่งยาก-ซับซ้อนมากขึ้น เพราะอย่าลืมว่า ไม่ว่าใครจะมาเป็น สนช.ก็ดี สภาปฏิรูปก็ดี พูดง่าย ๆ ว่าหลายหัว ซึ่งก็มีทั้งจุดแข็งและจุดอ่อน

    "เราก็ไม่รู้เหมือนกันว่า แต่ละคนที่เข้ามาเป็น สนช.หรือสภาปฏิรูปเนี่ย บางคนอาจจะเข้ามาเพราะเป็นตัวแทนของกลุ่มอิทธิพล กลุ่มผลประโยชน์ ซึ่งมันก็จะทำให้ไขว้เขวได้" ดร.ธีรภัทร์แสดงความกังวลกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

    ศ.ดร.ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ ทิ้งท้ายให้ "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" ได้ขบคิดว่า เพราะฉะนั้น คสช.ต้องมีวิสัยทัศน์ชัดเจนก่อนว่าจะแก้เรื่องเหล่านี้อย่างไร แต่ถ้าปล่อยไปตามเรื่องตามราว ผมเกรงว่าช่วง 2 มันจะเป็นอุปสรรคในการปฏิรูปประเทศ

    ด้านแหล่งข่าวในแวดวงนักวิชาการ ที่ถูกเชิญให้เข้า-ออก ล่วงรู้ถึงการตั้ง สนช.ได้เปิดเผยสูตร สนช.ภายใต้กติกาธรรมนูญใหม่ที่ใกล้คลอดเต็มทีว่า อาจจะเป็นโมเดล 40 ต่อ 60 โดย 60 มาจากสัดส่วนวิชาชีพที่มาจากการเลือกกันเอง 350 คน และ 40 มาจากการเลือกตั้งจังหวัดละ 2 คน รวมทั้งหมด 150 คน รวม 500 คน เป็น สนช. และเลือกนายกฯ

    ส่วนจะแก้ปัญหาที่เป็นเงื่อนไข-ความขัดแย้งได้หรือไม่ นั้น ก็ขึ้นอยู่กับว่าคนที่จะมาเป็น "ผู้นำทางการเมือง" มีภาวะผู้นำ-นายกรัฐมนตรีในฝันได้หรือไม่

    โดยโมเดลดังกล่าวออกแบบมา ให้ดูเหมือนว่าเป็นประชาธิปไตย เพื่อให้ต่างชาติยอมรับ สุดท้ายแล้วก็ขึ้นอยู่กับ "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" ว่าจะยอมรับโมเดล "อำนาจนิยม" หรือไม่ น่าติดตาม
     

แบ่งปันหน้านี้