"แบงก์ชาติ" คาดเศรษฐกิจเดือนมิ.ย.เริ่มฟื้นชัดเจน หลังพบสัญญาณดีขึ้น เชื่อไตรมาส 2 ไม่เกิดภาวะถดถอย นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการ สำนักเศรษฐกิจมหภาค ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยเดือนพ.ค.เริ่มปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้ว ตัวเลขในภาพรวมยังคงหดตัวอยู่ อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของเศรษฐกิจเริ่มมีสัญญาณที่เด่นชัดมากขึ้นในเดือนมิ.ย. โดย ธปท. คาดหวังว่า ตัวเลขเศรษฐกิจเดือนมิ.ย.จะเริ่มเป็นบวกได้เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน “เดือนมิ.ย.เป็นอะไรที่เราค่อนข้างหวังไว้มาก เพราะเราจะเห็นผลดีที่จับต้องได้จากสถานการณ์การเมืองที่คลี่คลายอย่างชัดเจนในเดือนนี้ และถ้าดูกันจริงๆ เศรษฐกิจไทยได้ผ่านพ้นจุดต่ำสุดไปแล้วตั้งแต่เดือนเม.ย.ที่ผ่านมา และค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้น”นายดอนกล่าว เขากล่าวด้วยว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่เริ่มเห็นตั้งแต่เดือนพ.ค. และมีแนวโน้มว่าจะฟื้นตัวชัดเจนขึ้นในเดือนมิ.ย. ทำให้ ธปท. ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 น่าจะเป็นบวกได้ไม่น้อยกว่า 1% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า เพียงแต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนอาจจะยังติดลบอยู่ประมาณ 0.4% ส่วนครึ่งปีหลังจะเป็นช่วงที่เศรษฐกิจฟื้นตัวได้เร็ว โดย ธปท. ได้ประเมินการเติบโตโดยเฉลี่ยไว้ที่ประมาณ 3.4% อย่างไรก็ตามสถานการณ์เศรษฐกิจในขณะนี้ ยอมรับว่ายังต้องติดตามดูใกล้ชิด โดยเฉพาะการฟื้นตัวของความเชื่อมั่นทั้งการบริโภคและการลงทุนว่าจะเป็นไปอย่างต่อเนื่องหรือไม่ ขณะเดียวกันต้องติดตามดูไทม์ไลน์ของรัฐบาลด้วยว่าเป็นอย่างไร สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจเดือนพ.ค. โดยรวมถือว่าดีขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ตามการผลิตภาคอุตสาหกรรมและการใช้จ่ายภาคเอกชนที่เริ่มขยายตัว รวมทั้งการส่งออกของไทยไปประเทศอุตสาหกรรมหลักที่ปรับดีขึ้น อย่างไรก็ตามการส่งออกในภาพรวมยังฟื้นตัวได้ค่อนข้างช้า จากผลของราคาสินค้าเกษตรและอุปสงค์จากภูมิภาคเอเชียที่ยังอ่อนแอ ส่วนภาคการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากสถานการณ์การชุมนุมและการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง “กิจกรรมเศรษฐกิจโดยรวมปรับดีขึ้นจากเดือนก่อน ตามการผลิตภาคอุตสาหกรรมและการใช้จ่ายภาคเอกชน โดยเฉพาะการบริโภคที่เริ่มมีสัญญาณขยายตัวจากเดือนก่อน ตามการใช้จ่ายในสินค้าไม่คงทน ส่วนหนึ่งเนื่องจากครัวเรือนนอกภาคเกษตรมีรายได้น้อยจากการทำงานล่วงเวลาเพิ่มขึ้น”นายดอนกล่าว อย่างไรก็ตาม เขายอมรับว่า หากการส่งออกต่ำกว่าที่ ธปท. ประเมินไว้ว่าจะเติบโตได้ประมาณ 3% ก็อาจมีผลกระทบต่อประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจไทยทั้งปีที่ 1.5% ได้เช่นกัน เว้นแต่ว่าเศรษฐกิจไทยจะหันมาเน้นเครื่องยนต์ในประเทศมากขึ้น ซึ่งจะเป็นเรื่องที่ดี เพราะที่ผ่านมาประเทศไทยขาดการลงทุนมานานมาก นายดอน กล่าวว่า โอกาสของภาคการส่งออกไทยถือว่ายังมีอยู่ โดยเฉพาะการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศ กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และ เวียดนาม(ซีแอลเอ็มวี) ซึ่งที่ผ่านมาการส่งออกไปยังประเทศเหล่านี้มีการเติบโตที่ต่อเนื่อง ยิ่งถ้า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) มีแผนจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษขึ้น เชื่อว่าจะทำให้การค้าระหว่างกันปรับตัวดีขึ้นตามไปด้วย โดยปัจจุบันไทยส่งออกไปยังกลุ่มประเทศอาเซียนรวม 26% ในจำนวนนี้คิดเป็นการส่งออกไปยังกลุ่มซีแอลเอ็มวีราว 8% Tags : ดร.ดอน นาครทรรพ • เศรษฐกิจ • ธปท.