โลกการเงินเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมแรกๆ ที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานอย่างหนักด้วยความที่เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่อยู่กับข้อมูลเป็นหลักอยู่แล้ว ทุกวันนี้อุตสาหกรรมการเงินและการธนาคารเป็นลูกค้ารายใหญ่ของบริษัทไอทีจำนวนมาก แต่ในความเป็นจริงแล้วอุตสาหกรรมโดยรวมมีรูปแบบการดำเนินการไม่ต่างจากเดิมไปมากนัก รูปแบบของการทำงานที่มักรวมศูนย์โดยหน่วยงานแกนกลางและกระจายงานออกไปเป็นชั้นๆ เช่น ธนาคารที่เราอาจจะใช้บริการจากตู้เอทีเอ็มที่ดูแลโดยธนาคาร และธนาคารเองก็มีกระบวนการโอนเงินจากธนาคารอื่นๆ ผ่านสำนักหักบัญชีตรงกลางอีกทีหนึ่ง การเสนอแนวคิดว่าระบบการเงินควรสามารถให้บริการได้โดยไม่ต้องมีศูนย์กลาง เช่น Hashcash เสนอแนวทางการใช้พลังประมวลผลเพื่อยืนยันการใช้ทรัพยากรไว้ในปี 1997 แนวคิดนี้ถูก Nakamoto นำมาพัฒนาเป็น Bitcoin ที่เป็นระบบเงินตราเต็มรูปแบบในปี 2008 จนเวลาผ่านมาเพียงไม่กี่ปี Bitcoin กลายเป็นสกุลเงินที่มีมูลค่ารวมเกือบ 6,000 ล้านดอลลาร์ มีจุดรับแลกเงินจำนวนมาก และมีธุรกิจรับชำระด้วย Bitcoin หลากหลาย อย่างไรก็ดี Bitcoin ยังมีได้รับการยอมรับในวงที่จำกัด และมีประเด็นทางกฎหมายในหลายประเทศ แต่ตัว Bitcoin ได้พิสูจน์ว่าระบบคอมพิวเตอร์ไร้ศูนย์กลางสามารถนำมาใช้ให้บริการทางการเงินมูลค่าสูงอย่างต่อเนื่องหลายปีได้โดยแทบไม่มีปัญหา ทุกวันนี้มี Bitcoin เปลี่ยนมือหลายแสน BTC ต่อวัน มูลค่าหลายสิบหลายร้อยล้านดอลลาร์โดยไม่มีใครควบคุมระบบคอมพิวเตอร์นี้ได้จริงๆ การพิสูจน์ความน่าเชื่อถือเช่นนี้ทำให้วงการทางการเงินเริ่มสนใจที่จะนำเทคโนโลยีของ Bitcoin มาใช้ในบริการทางการเงินอื่นๆ บ้าง ผลของการสำรวจความเป็นไปได้ที่จะให้บริการที่หลากหลายกว่าเดิมเช่นนี้ ทำให้มีการออกแบบ Ethereum ขึ้นมาในปี 2013 และเครือข่าย Ethereum เริ่มทำงานได้จริงในปี 2015 ที่ผ่านมา ความน่าสนใจใน Ethereum มากขึ้นเมื่อ 11 ธนาคารสำคัญระดับโลกร่วมกันทดสอบเครือข่าย Ethereum โดยใช้ซอฟต์แวร์จาก R3CEV สตาร์ตอัพทางการเงินที่ได้รับการจับตามากขึ้นในช่วงหลัง เมื่อมีธนาคารสนใจเข้าทดสอบเทคโนโลยีจำนวนมาก คำเตือน: ต่อจากช่วงนี้ไปคือการอธิบาย Ethereum ในเชิงเทคนิค ผมจะถือว่าผู้อ่านเข้าใจกระบวนการ Blockchain ของ Bitcoin แล้ว Ethereum มองภาพกว้างว่า Bitcoin โดยไม่จำกัดอยู่เพียงแค่การเงินอย่างเดียว แต่เป็นระบบ "ประมวลผล" แบบไร้ศูนย์กลาง ที่เปิดให้ทุกคนเข้ามาร่วมประมวลผลและเก็บผลลัพธ์ร่วมกันในการประมวลผลที่อาจจะเป็นการอัพเดตฐานข้อมูล เพื่อให้มีแรงจูงใจในการประมวลผล เครือข่าย Ethereum จะมีกระบวนการขุดเงิน Ether หรือ ETH เป็นหน่วยเงินหลักที่เอาไว้ "จ้าง" ให้คนอื่นบันทึกผล หากเราใช้ ETH เพื่อโอนไปมาแล้ว ก็จะคล้ายกับ Bitcoin แทบทุกประการ สิ่งที่ Ethereum แตกต่างจาก Bitcoin คือการที่มันนิยาม Ethereum Virtual Machine (EVM) เอาไว้ โดย EVM เป็นคอมพิวเตอร์สมมติแบบ stack-based ที่มีคำสั่งไม่มากนัก EVM ถูกกำหนดไว้อย่างชัดเจนว่าจะอ่านข้อมูลจากอะไรได้บ้าง เช่น การอ่านข้อมูลจากบล็อคปัจจุบันของ Ethereum และสามารถสร้างฐานข้อมูลภายใน EVM เป็นแบบ key-value ขึ้นมาใช้งานได้ ผู้ที่ร่วมขุด ETH นอกจากจะมีหน้าที่บันทึกการการโอนเงินแบบเดียวกับ Bitcoin แล้วยังมีหน้าที่บันทึกโค้ด EVM ที่ถูกส่งเข้ามาในเครือข่าย Ethereum เรียกว่า Contract และประมวลผลตามโค้ดเมื่อมีการเรียกใช้โค้ดเหล่านี้ โดยการบันทึกโค้ด EVM ในเครือข่าย Ethereum เนื่องจากโค้ด EVM อาจจะใช้พลังการประมวลผลไม่เท่ากัน ทำให้ Ethereum นิยามถึงค่าใช้จ่ายในการรันโค้ดไว้เป็น gas โดยการรันแต่ละคำสั่งจะมีค่าใช้จ่ายไม่เท่ากัน การเรียกโค้ดแต่ละครั้งเราสามารถจำลองได้ว่าโค้ดแต่ละชิ้นที่เรากำลังรันนั้นมีค่าใช้จ่ายเท่าใด จากนั้นผู้ที่เรียกโค้ดจึงต้องกำหนดราคาว่า gas ต่อหน่วยที่เราพร้อมจ่ายเป็นเท่าใดเพื่อจูงใจให้ผู้ที่คำนวณบล็อคต่อไปนำคำสั่งของเราไปประมวลผล นอกจาก EVM จะเป็นโค้ดสำหรับการรันคำสั่งแล้ว มันยังเป็นเป็นบัญชีเก็บเงิน ETH ด้วยตัวเอง ทำให้เราสามารถสั่งโอนเงินเข้าไปยังบัญชีของซอฟต์แวร์ในเครือข่าย Ethereum ได้ และอาจจะสั่งโอนออกด้วยกระบวนการที่แตกต่างกันออกไปขึ้นกับโค้ดที่กำหนดไว้ โค้ด EVM เป็นคำสั่งระดับล่าง แต่เราสามารถพัฒนาด้วยภาษาระดับสูงด้วยภาษา Serpent ที่คล้ายกับ Python หรือ Solidity ที่คล้ายกับ JavaScript สถาปัตยกรรมที่เปิดให้ Ethereum รันโค้ดภายนอกได้เช่นนี้ทำให้เราสามารถสร้างระบบอื่นๆ ขึ้นไปรันบน Ethereum ได้ไม่จำกัด เช่นโค้ดตัวอย่างข้างบนนี้เป็นโค้ดสำหรับสร้างเงินสกุลใหม่ที่ชื่อว่า Coin เงินนี้มีบัญชีเจ้าของสกุลเงินเป็นบัญชีใน Ethereum สามารถสั่ง "ออกเงิน" (mint) ให้กับบัญชีอื่นบัญชีใดๆ ก็ได้ตามใจชอบ ขณะที่ผู้ที่ถือเงินก็สามารถสั่งโอนเงิน (send) เข้าออกไปยังบัญชีคนอื่นๆ ได้ตามใจชอบเช่นกัน ความพิเศษของระบบ Ethereum คือการที่เราจะเชื่อใจ Contract ใดๆ ในระบบนั้นเราสามารถตรวจสอบได้เสมอว่ามันมีพฤติกรรมอย่างไรบ้าง เพราะโค้ด (อย่างน้อยก็ในภาษาเครื่อง EVM) สามารถดูได้โดยทุกคนที่อยู่ในเครือข่าย ขณะที่ Contract บางส่วนอาจจะเปิดเผยซอร์สโค้ดตั้งต้นซึ่งอาจจะเป็นภาษา Serpent หรือ Solidity เพื่อให้คนทั่วไปเข้าตรวจสอบ รายการ Contract ดูได้จากเว็บ Etherchain (ภาพด้านบน ตัวอย่างโค้ดการออกเงินสกุลใหม่อาจจะไม่มีประโยชน์นักในโลกความเป็นจริง เพราะหากทุกคนออกเงินสกุลใหม่ได้ก็ไม่มีความน่าเชื่อถือใดๆ ตัวอย่างที่มีการใช้งานจริงจังเช่น Wallet ที่เป็น Contract สำหรับการเปิดบัญชีหลายเจ้าของบัญชี เพื่อให้การโอนเงินออกจากบัญชีต้องอาศัยการยืนยันจากเจ้าของอย่างน้อยสองคนขึ้นไป Wallet เปิดโค้ดให้ตรวจสอบได้ว่ากระบวนการเชื่อถือได้ และตอนนี้มีคนฝากเงินไว้ใน Contract นี้ถึง 82,280 ETH หรือคิดเป็นดอลลาร์มูลค่าถึง 262,880 ดอลลาร์ และเราสามารถเข้าไปดูฐานข้อมูลของ Wallet ได้ว่ามีเงินของบัญชีใดฝากอยู่ในนี้บ้าง ระบบที่ซับซ้อนขึ้นไปกว่านี้ เช่น Ethereum Pyramid Contract ระบบแชร์ลูกโซ่ (อ่านไม่ผิดครับแชร์ลูกโซ่ของแท้) โดยทุกคนที่เข้าสู่แชร์นี้จะต้องจ่าย 1 ETH (ประมาณ 120 บาท) เข้าไปยัง Contract เพื่อเข้าสู่ปิรามิด จากนั้นทุกชั้นของปิรามิดจะต้องหาสมาชิกมาอยู่ชั้นล่างตัวเองให้ครบ 3 คน โดยไม่สามารถระบุได้ว่าสมาชิกใหม่เป็นสายของใคร คนมาก่อนจะได้สมาชิกใหม่ไปก่อน เมื่อครบแล้วระบบจะหักเงิน 10% จ่ายให้นักพัฒนา และนำเงิน 90% จ่ายชั้นบน ทำให้การลงทุน 1 ETH จะกลายเป็น 2.7 ETH เมื่อชั้นล่างต่อไปครบ ตอนนี้มีคนจ่ายแล้ว 4 ชั้น ทำให้มีคนได้เงินแล้วถึง 112 คน ส่วนชั้นต่อไปใครจะเข้าปิรามิดตอนนี้อาจจะต้องรอคนอีกเกือบพันคนจึงจะได้เงินคืน Ethereum เปิดกว้างจนตอนนี้หลายกลุ่มพยายามเสนอว่าจะใช้มันทำอะไรได้บ้าง เช่นกลุ่ม Angur เสนอตลาดพยากรณ์อนาคต หรือ [HitFin]9http://www.hitfin.com/) ที่จะสร้างตลาดอนุพันธ์ที่กระบวนการยืนยันการชำระเงินได้ภายในเวลาเพียงไม่กี่นาที หรือ Slock.it ที่เสนอเทคโนโลยีแชร์แทบทุกอย่างด้วยการผูกอุปกรณ์ไฟฟ้าเข้ากับ Blockchain ของ Ethereum จากนั้นลูกค้าสามารถเช่าของมาใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นเครื่องซักผ้าหรือห้องพัก เทคโนโลยี Ethereum ได้รับความสนใจอย่างรวดเร็วในปีที่ผ่านมา ไมโครซอฟท์เปิดบริการ Ethereum Blockchain as a Service บน Azure ขณะที่ธนาคารขนาดใหญ่เริ่มเข้ามาทดสอบเทคโนโลยีนี้ ความเป็นไปได้ดูจะยังไม่มีขีดจำกัด แต่การที่เราจะเห็น Ethereum ถูกใช้งานจริงอาจจะต้องขึ้นกับกฎหมายแต่ละประเทศว่าจะเปิดกว้างเพียงใด โดยเฉพาะภาคการเงินที่มักจะมีกระบวนการกำกับดูแลที่ซับซ้อน การยอมรับเทคโนโลยีที่ใหม่ และอาจจะต้องถูกใช้ข้ามชาติเช่นนี้อาจจะต้องรอให้มีการปรับกติกากันอีกหลายปี Ethereum, Blockchain, FinTech