ผู้นำเข้ารถยนต์อิสระรายย่อยหรือที่เรียกกันติดปากว่าเกรย์มาร์เก็ตมีบทบาทในตลาดรถยนต์เมืองไทยมายาวนาน โดยมีช่องว่างในการเจาะตลาดที่สำคัญ คือ ลูกค้า ที่ต้องการเป็นเจ้าของรถก่อนใคร เนื่องจากในอดีต รถหลายๆ ยี่ห้อ โดยเฉพาะรถหรูจากยุโรป เมื่อเปิดตัวในตลาดโลก จะต้องใช้เวลาอีกนานกว่าที่รถพวงมาลัยขวาจะมาถึงเมืองไทย เฉลี่ย 6 เดือน-1 ปี หรือ อาจจะนานกว่านั้นในบางรุ่น นอกจากนี้ก็ยังมีช่วงทางการทำตลาด ผ่านราคาที่ได้เปรียบตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการ และ ออพชั่น ที่สามารถเลือกได้หลากหลาย ยืดหยุ่น มากกว่า และอาจจะรวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดบางอย่างที่ตัวแทนจำหน่ายไม่สามารถทำได้ เพราะผิดกฎที่บริษัทแม่กำหนดไว้ แต่ระยะหลัง ความได้เปรียบของผู้นำเข้ารายย่อยเริ่มหมดไป ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการปรับตัวของตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการ เช่น การย่นระยะการเปิดตัวให้เร็วขึ้นกว่าเดิม ตามหลังเวทีโลกไม่นาน ซึ่งปัจจุบันจะเห็นว่าเมื่อมีข่าวรถรุ่นไหนเปิดตัวที่บริษัทแม่ ภายใน 1 เดือน อาจจะเห็นมันเข้ามาโลดแล่นอยู่บนท้องถนนเมืองไทยแล้ว โครงสร้างราคาก็เปลี่ยนไปเช่นกัน จะเห็นได้ว่ารถหลายๆ รุ่นทุกวันนี้ มีระดับราคาที่ต่ำกว่าในอดีตมาก บางรุ่นต่างกันหลายแสน หลักล้าน หรือหลายล้านบาท เหตุผลหนึ่งก็คือ หลายรุ่นมีการผลิตในเมืองไทยโดยเจ้าของยี่ห้อเอง ทำให้ไม่มีภาระภาษีนำเข้า ช่วยให้ลดราคาลงได้มาก ขณะที่บางส่วนมาจากการปรับเปลี่ยนรายละเอียดของตัวรถ เช่น เมอร์เซเดส-เบนซ์ รถยอดนิยมของผู้นำเข้ารายย่อย ซึ่ง เมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย เดินแผนลงมาสู้กับผู้นำเข้ารายย่อยอย่างจริงจังเมื่อประมาณ 3 ปีที่แล้ว และต่อเนื่องถึงปัจจุบัน ด้วยหลากหลายกลยุทธ์ ทั้งเรื่องของการรับประกันเพื่อจูงใจลูกค้า การคิดค่าธรรมเนียมแรกเข้าหลายระดับราคา สูงสุดคือ 5 แสนบาท สำหรับลูกค้าที่ไม่ได้ซื้อรถจากตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการที่ต้องการนำรถเข้ารับการบริการ และที่สำคัญคือการปรับลดราคาลงมาหลายครั้ง เมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย บอกว่า การปรับราคาลง เป็นการสนับสนุนของบริษัทแม่ และอีกส่วนหนึ่งก็คือ การปรับลดอุปกรณ์บางอย่างที่ไม่เหมาะสมกับการใช้งานในไทยออกไป ช่วยให้ต้นทนลดลงได้มาก ย้อนไปประมาณ 5 ปีที่แล้ว เมอร์เซเดส-เบนซ์ บอกว่า เสียตลาดให้กับผู้นำเข้ารายย่อยมากกว่า 50% ยอดจดทะเบียนรถตราดาวสามแฉกที่เห็นเกินครึ่งมาจากรายย่อย แต่เมื่อดำเนินมาตรการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ทำให้สัดส่วนการขายของบริษัทดีขึ้น แต่มุมมองของผู้นำเข้ารายย่อยบอกว่า การปรับลดราคา เป็นเพราะการเติบโตของรายย่อย เข้ามาถ่วงดุลโครงสร้างราคาต่างหาก ไม่เพียงแต่เมอร์เซเดส-เบนซ์ แต่รถยี่ห้ออื่นๆ ก็มีความพยายามกดราคาลงมาเช่นกัน ซึ่งแน่นอนว่าส่งผลให้ความแข็งแกร่งของรายย่อยลดลง และหลายค่ายปรับเปลี่ยนแผนตลาดใหม่ เช่น หันไปนำเข้ารถที่รุ่นที่เจ้าของยี่ห้อไม่ทำ โดยเฉพาะรถจากญี่ปุ่นมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ผลกระทบต่างๆที่เกิดขึ้นนั้น ผู้นำเข้ารายย่อยบอกว่าสามารถรับมือได้ จนกระทั่งมีการเปลี่ยนแปลงในส่วนของภาครัฐ ทั้งการปรับภาษี และเงื่อนไขการตรวจสอบมาตรฐาน โดยสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม (สมอ.) ที่ทำให้เกิดปัญหาต้นทุนเพิ่ม จากหลักเกณฑ์ล่าสุดคือ ตรวจทุกชิฟท์เมนต์ และเวลาตรวจสอบที่ใช้เวลานาน ทำให้เสียโอกาส เนื่องจากมีรถที่ตกค้างรอผลตรวจอีกมาก ส่งผลให้ลูกค้าขาดความมั่นใจในการซื้อ เนื่องจากกลัวว่าจะจดทะเบียนไม่ได้ หรือถูกเรียกรถกลับมาตรวจสอบในภายหลัง สมาคมผู้นำเข้าและจำหน่ายรถยนต์ใหม่ ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของผู้ประกอบการ 30 ราย บอกว่าผลกระทบที่เกิดขึ้น ทำให้ระยะ 3 ปีที่ผ่านมา ตลาดลดลงไปอย่างรุนแรง โดยปีที่แล้วยอดขายเหลือ 6,000 คัน ปีนี้คาดว่าจะลงมาที่ 3,000 คัน หลังจากช่วง 6 เดือนหลังยอดหายไป 40% หรือหากจะดูตัวเลขจัดเก็บภาษีกรมสรรพากร จะพบว่าจากเคยอยู่ในระดับ 1 หมื่นล้านบาท ก็ลดลงเหลือประมาณ 8,000 ล้านบาทในปีที่ผ่านมา ปัญหาของรายย่อยยังไม่หมด เนื่องจากพบว่าสถาบันการเงินเองก็เริ่มที่จะไม่จ่ายเงินให้บริษัทในกรณีที่ลูกค้าซื้อรถไปแล้ว หากยังไม่มีใบอนุญาตจาก สมอ.มาแสดง ซึ่งทางผู้ประกอบการบอกว่าสิ่งนี้อาจจะเป็นกลายเป็นวิกฤติการเงิน เนื่องจากปัจจุบันการซื้อขายนั้น เป็นการซื้อเงินผ่อนถึง 70% ดังนั้นทางสมาคมฯ จึงบอกว่าไม่สามารถอยู่เฉยได้อีกต่อไป คงต้องลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง ซึ่งท้ายที่สุดก็อาจหนีไม่พ้นเรื่องของกฎหมายที่ทีมงานกำลังศึกษารายละเอียดอย่างเข้มข้นในขณะนี้ Tags : ยานยนต์ • เกรย์มาร์เก็ต