สมมติว่าเจอกับคนที่ล้มลงและหยุดหายใจ ผู้คนมักจะรีบโทรศัพท์ขอความช่วยเหลือก่อน หากไม่มีความรู้พื้นฐานในการช่วยชีวิตคน ในระหว่างที่รอทีมแพทย์มาช่วยเหลือพวกเขาก็อาจพยายามหาข้อมูลการช่วยชีวิตขั้นต้นจากแหล่งต่างๆ อาทิ WebMD, YouTube หรือ Wikipedia เป็นต้น แต่ในห้วงเวลาวิกฤตินั้นการงมหาข้อมูลแบบนี้คงไม่ใช่ทางเลือกที่ดีนัก นักวิจัยจาก Microsoft Research กำลังทำวิจัยร่วมกับ Division of Emergency Medicine ที่ Stanford School of Medicine ในการทำให้เสิร์ชเอนจินรับรู้ว่าผู้ใช้กำลังค้นหาข้อมูลในช่วงเวลาวิกฤติ เมื่อเสิร์ชเอนจินพบว่าผู้ใช้อยู่ในช่วงเวลาวิกฤติก็จะแนะนำให้ผู้ใช้ติดต่อ 911, บอกตำแหน่งโดยรอบที่มีเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ (AED) หรือกระทั่งแนะนำการกดหน้าอก (chest compression) ระหว่างรอทีมแพทย์มาช่วยเหลือ โดยให้วางมือถือบนหน้าอกและกดลงบนมือถือนั้น เซนเซอร์วัดอัตราเร่ง (accelerometer) ของมือถือจะให้ข้อมูลซึ่งจะช่วยบอกผู้ทำการช่วยเหลือถึงความลึกของการกดหน้าอกที่ถูกต้องและอัตราเร็ว (จำนวนครั้งต่อนาที) นอกจากการนวดหัวใจผายปอดกู้ชีพ (CPR) ที่กล่าวมา งานวิจัยนี้ยังรวมถึงการหยุดการทำงานของสมองอย่างฉับพลัน (stroke), เลือดไหลไม่หยุด และเด็กหายใจไม่ออก (choke) อีกด้วย งานวิจัยนี้ได้รับการตีพิมพ์ในหัวข้อ Time-Critical Search และจะถูกนำเสนอที่งานสัมมนาประจำปีในกลุ่ม Special Interest Group on Information Retrieval (SIGIR) ของ Association for Computing Machinery ระหว่าง 6-11 ก.ค. นี้ ที่มา: Inside Microsoft Research Health, Microsoft, Research, Smartphone, Search Engine