ขณะที่สถานการณ์ในประเทศเหมือนจะ "เอาอยู่" เพราะถึงจะยังมีปฏิกิริยาต่อต้านการรัฐประหาร แต่ยังไม่มีความเคลื่อนไหวใหญ่ที่ถึงขั้นเป็นภัยคุกคามต่อการดำรงอยู่ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สมรภูมิที่ คสช. ตกเป็นรองมาตลอดตั้งแต่เริ่มต้น และยังไม่มีทีท่าว่าสามารถตีตื้นขึ้นมาได้ คือแนวรบด้านต่างประเทศ หลังจากที่สงวนท่าทีหรือแสดออกเป็นนัยๆ ว่าไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารมาตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม ในช่วงสัปดาห์สองสัปดาห์ที่ผ่านมา ปฏิกิริยาของรัฐบาลประเทศมหาอำนาจ-โดยเฉพาะตะวันตก ต่อไทย เพิ่มความร้อนแรงมากขึ้น รัฐบาลสหรัฐอเมริกา ที่ "แสดงความกังวล" ผ่านทั้งกระทรวงการต่างประเทศและสถานทูตสหรัฐในไทยมาโดยตลอด ก็แถลงว่าลดอันดับประเทศไทยในบัญชีประเทศที่มีการ "ค้ามนุษย์" ลงระดับ 2 ไปสู่ระดับ 3 ตามหลังจากที่หนังสือพิมพ์เดอะ การ์เดียนของอังกฤษ ที่เข้ามาฝังตัวทำข่าวการค้ามนุษย์ในเมืองไทยอยู่ 6 เดือน เพิ่งเสนอข่าวใหญ่ไปก่อนหน้าไม่กี่วัน ล่าสุดก็คือคำแถลงของสหภาพยุโรป (อียู) ที่รวมความได้ว่าเป็นการ "ลดระดับความสัมพันธ์" ของทั้งสองฝ่ายลงมา และยังไม่ชัดเจนว่ามาตรการหรือผลกระทบที่ติดตามมาจะมีอะไรอีก 24 มิ.ย. พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบก โฆษก คสช. กล่าวถึงกรณีที่อียูออกมาตรการระงับความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือ ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. หัวหน้า คสช. เน้นย้ำให้สร้างความเข้าใจกับต่างประเทศต่อไปตามที่ได้ทำมา ผ่านช่องทางของทุกกระทรวง ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ คณะทำงานโฆษก คสช. กล่าวว่า ผิดหวังกับแถลงการณ์ดังกล่าว และอยากเรียกร้องให้อียูทบทวนมาตรการต่างๆ ที่ประกาศ "ผมคิดว่าอียูควรมองกลับไปดูความขัดแย้งในสังคมไทยที่ผ่านมา และมองดูโรดแมปที่ คสช. ดำเนินการ รวมถึงกรอบเวลา ซึ่งทางอียูเองต้องให้เวลาเราพอสมควร เพราะความขัดแย้งของไทยยาวนานกว่า 10 ปี "หากจะแก้ไขก็คงต้องใช้เวลาพอสมควร" วันเดียวกันในที่ประชุม คสช. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวในการประชุมว่า ปัจจุบันงานของ คสช.มีหลายเรื่องที่ต้องเดินหน้าไปด้วยความรวดเร็ว ต้องลดขั้นตอนลง เพราะการดำเนินงานของ คสช.ยังมีปัญหาในการขับเคลื่อน แม้สหรัฐและยุโรปจะมีท่าทีคัดค้านการเข้าบริหารงานของ คสช.อยู่บ้าง แต่เราก็ต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีของประเทศไทยด้วย ท่าที "ไม่อ่อน-ไม่แข็ง" ของหัวหน้า คสช. ถูกตีความไปตามความเชื่อและความชอบของแต่ละฝ่ายที่จับจ้อง แต่ที่ไม่พึงละเลยก็คือ การพิจารณายุทธศาสตร์ในการ "รับศึกนอก" ของ คสช. นั้น จะพิจารณาเฉพาะคำพูดของหัวหน้า คสช. หรือคณะโฆษกไม่ได้ หากจะต้องนำความเคลื่อนไหวที่เป็นจริงเข้ามาประกอบ อาทิ การที่หัวหน้า คสช.ลงมาพบปะกับหอการค้าต่างประเทศด้วยตนเอง การที่โฆษก คสช. เชิญทูตทหารประจำประเทศไทยเข้าประชุมชี้แจงแล้ว 2 ครั้ง หรือการที่ พ.อ.วีรชน สุคนธปฏิภาค ไม่เหนื่อยหน่ายกับการชี้แจงสื่อต่างประเทศสารพัดสำนัก แม้ปฏิกิริยาตอบรับจะไม่เป็นที่น่าชื่นใจเท่าใด แต่ทั้งหมด เป็นสิ่งที่ คสช. คาดการณ์ล่วงหน้าเอาไว้อยู่แล้ว ว่าจะต้องเผชิญกับอะไรบ้าง 11 มิ.ย. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ร่วมประชุมกับเอกอัครราชทูตไทยและกงสุลใหญ่ไทย ที่ประจำอยู่ในประเทศต่างๆ ทั้งสหรัฐ ออสเตรเลีย รวม 23 คน เพื่อนำข้อมูลไปสร้างความเข้าใจกับประเทศต่างๆ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยอมรับว่าการเข้าควบคุมอำนาจการปกครองในครั้งนี้อาจจะมีบางประเทศที่ไม่เห็นด้วย และเป็นไปไม่ได้ที่จะทำให้ทุกประเทศเห็นชอบด้วยทั้งหมด และไม่ใช่เรื่องที่ไทยจะไปต่อต้านหรือประท้วงประเทศที่ไม่เห็นด้วย แต่ต้องมุ่งเน้นสร้างความเข้าใจกับประเทศเหล่านั้นให้ได้ ศึกหนักต่างประเทศยังตึงมือ แต่หลบก็ไม่ได้ หนีก็ไม่ได้ มีแต่ต้องเดินหน้าไปเผชิญด้วยสติและการทำการบ้านที่ละเอียดครบถ้วน