2หุ้นอาหารโยงค้ามนุษย์อ่วม มาร์เก็ตแคปสูญ1หมื่นล.

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 26 มิถุนายน 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    รายงาน..2หุ้นอาหารโยงค้ามนุษย์อ่วม มาร์เก็ตแคปสูญ1หมื่นล้าน

    การสำรวจข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พบว่า หุ้นที่ได้รับผลกระทบจากกรณีที่สหรัฐลดระดับต่ำสุดเป็น TIER 3 ซึ่งเป็นประเทศที่ดำเนินการไม่สอดคล้องกับกฎหมายสหรัฐ และไม่มีความพยายามแก้ไขในเรื่องปัญหาแรงงานและการค้ามนุษย์นั้น ได้ถูกแรงเทขายต่อเนื่อง โดยเฉพาะตลอด 3 วันที่ผ่านมาราคาปรับลดลงต่อเนื่อง

    หากพิจารณามูลค่าตลาดรวม (มาร์เก็ตแคป) ของหุ้นทั้ง 2 บริษัท ได้แก่ บริษัท ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ หรือทียูเอฟ และบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือซีพีเอฟ พบว่า ปรับลดลงประมาณ 1.1 หมื่นล้านบาท โดยหุ้นเจริญโภคภัณฑ์อาหาร ปรับลดลง 9.67 พันล้านบาท หุ้นบริษัท ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ ลดลง 2 พันล้านบาท ส่วนราคาหุ้นของทั้ง 2 บริษัท ล่าสุดเริ่มกระเตื้องขึ้นมาเล็กน้อย

    บล.เคทีซีมิโก้ ให้ความเห็นว่า จากการลดเครดิตไทยของสหรัฐและอียู กรณีกล่าวหาไทยละเมิดสิทธิมนุษยชนแรงงาน อาจส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์สินค้าไทยและกระทบทางอ้อมเชิงลบต่อราคาหุ้นในระยะสั้น แต่ผลการศึกษาของ กรณีเลวร้ายสุดสำหรับหุ้นซีพีเอฟ และหุ้นทียูเอฟ หรือบริษัทยกเลิกส่งออกสินค้าไปสหรัฐและยุโรป จะกระทบต่อมูลค่าพื้นฐานปี 2557 โดยหุ้นซีพีเอฟ ประมาณ 3% หรือ 0.90 บาทต่อหุ้น และทียูเอฟ ราว 5% หรือ 3.50 บาทต่อหุ้น ซึ่งเป็นผลกระทบเล็กน้อยและไม่คาดว่า ข่าวนี้จะเปลี่ยนแปลงเรื่องราวการฟื้นตัวของบริษัทได้ ดังนั้นราคาหุ้นที่อ่อนตัวระยะสั้น จะเป็นโอกาสทยอยสะสม จากแนวโน้มกำไรฟื้นตัวในปี 2557-2558

    "เลวร้ายสุด จะกระทบซีพีเอฟ ที่มีรายได้ส่งออกไปสหรัฐ และยุโรปราว 4% ของยอดขายรวม โดยลูกค้ารายใหญ่คือ เทสโก้ วอลมาร์ท และคอสโก ยังคงสั่งซื้อสินค้ากุ้งเป็นปกติ ผลการศึกษาของกรณีเลวร้ายสุด หรือการยกเลิกส่งออกกุ้งไปสหรัฐและยุโรป จะกระทบต่อประมาณการรายได้ และมูลค่าพื้นฐานปี 2557 ราว 3% ส่วนทียูเอฟ มีรายได้การส่งออกอาหารทะเลแช่แข็งไปตลาดสหรัฐและยุโรป 10% ของยอดขายรวม ซึ่งมีการพูดคุยกับทางลูกค้ามาโดยตลอด และยังไม่ได้การตอบรับในเชิงลบจากลูกค้า ผลการศึกษากรณีเลวร้ายสุด หรือการยกเลิกส่งออกไปสหรัฐและยุโรป จะกระทบต่อประมาณการรายได้และมูลค่าพื้นฐานปี2557 ของราว 5-10%"

    เขากล่าวว่า อุปสรรคใหม่ของกุ้งไทย มาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี โดยมาตรการใหม่ที่สหรัฐดำเนินการ คือ ปัญหาแรงงานและการค้ามนุษย์ (สินค้าที่โดน คือ กุ้ง ปลา อ้อย เสื้อผ้า และสื่อลามก) ซึ่งไทยถูกลดระดับลงต่ำสุดเป็น TIER 3 (ประเทศที่ดำเนินการไม่สอดคล้องกับกฎหมายสหรัฐ และไม่มีความพยายามแก้ไข) จากระดับ TIER 2 Watch List ตั้งแต่ปี 2553-2554 (ประเทศที่มีการดำเนินการยังไม่สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำของกฎหมายสหรัฐ แต่ได้แสดงความ พยายามแก้ไขปัญหา แต่พบเหยื่อการค้ามนุษย์เพิ่มขึ้น)

    ทั้งนี้ สหรัฐ ยังไม่มีมาตรการคว่ำบาตรกลุ่มประเทศที่จัดอันดับต่ำสุด โดยการคว่ำบาตรจะเกิดขึ้นหรือไม่ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของประธานาธิบดีบารัก โอบามา แต่ส่วนใหญ่สหรัฐจะรอดูความเคลื่อนไหวของรัฐบาลประเทศนั้นๆ ว่า จะดำเนินการอย่างไร และสหรัฐจะสามารถให้ความช่วยเหลือได้มากน้อย แค่ไหนก่อนพิจารณาใช้มาตรการคว่ำบาตรต่อไป

    ส่วนผลกระทบต่อภาพลักษณ์สินค้าไทย แม้ไม่มีมาตรการห้ามนำเข้าสินค้าที่โดนมาตรการนี้ แต่จะทำให้การค้าขายและส่งออกสินค้าไทยไปตลาดสหรัฐ ลดลงตามไปด้วย ทั้งนี้ทางการสหรัฐจะประชาสัมพันธ์เผยแพร่ให้ประชาชนในประเทศ.รับทราบ ซึ่งประเทศพัฒนาแล้วผู้บริโภคให้ความสำคัญเรื่องการค้ามนุษย์และสิ่งแวดล้อมสูง ซึ่งนั่นอาจกระทบต่อภาพลักษณ์สินค้าไทย และปริมาณคำสั่งซื้อจากสหรัฐ โดยเฉพาะยอดส่งออกอาหารทะเลไปสหรัฐ ซึ่งเป็นผู้นำเข้าอาหารจากไทยมากกว่า 50% ของการส่งออกแต่ละปีมีมูลค่ามากกว่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์ จากการส่งออกอาหารทะเลเฉลี่ย 1 แสนล้านดอลลาร์ต่อปี

    บล.เอเซียพลัส กล่าวว่า หุ้นส่งออกถูกกดดันจากสหรัฐ และยุโรป ยังต่อต้านการยึดอำนาจไทย เชื่อว่าหุ้นส่งออกที่เน้นไปยังตลาด สหรัฐ และยุโรป น่าจะยังได้รับแรงกดดัน หลังสหรัฐได้ขึ้นบัญชีดำไทย ในเรื่องปัญหาการค้ามนุษย์ อันดับ 3 ซึ่งเป็นขั้นต่ำสุด โดยสินค้าส่งออกในตลาดนี้คือ อาหารทะเล และสิ่งทอ เป็นต้น

    ขณะที่สหภาพยุโรป (อียู) ได้ระงับการเยือนอย่างเป็นทางการระหว่างกัน รวมถึงไม่ลงนามในกรอบความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือ กับประเทศไทย จนกว่าไทยจะกลับเข้าสู่โหมดการเลือกตั้งภายใต้ระบอบประชาธิปไตย จะทำให้ไทยอาจสูญเสียโอกาสที่จะได้รับความช่วยเหลือ หรือร่วมมือทางการค้า ระหว่างไทย ยุโรป หรือ FTA ที่ได้มีการเจรจาในรัฐบาลที่แล้ว ซึ่งจะมีการบรรจุสินค้าแช่แข็ง

    000


    (ล้อมกรอบ)



    ทีเอ็มบีเผยกระทบเศรษฐกิจไทย3ด้าน


    ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ประเมินหลังสหภาพยุโรปลดระดับความสัมพันธ์กับไทย จะกระทบต่อเศรษฐกิจของไทยแบ่งเป็น 3 ส่วน ผลกระทบแรก คือ ผลกระทบต่อการส่งออก พบว่าการส่งออกสินค้าไปอียูในปีหน้า จะได้รับผลกระทบอยู่แล้ว เพราะกรอบการได้รับสิทธิ์จีพีเอสของไทย จะหมดลงในปีนี้ จึงประเมินว่า หากข้อตกลง PCA ครอบคลุมการลงนามในข้อตกลงเอฟทีเอ ยิ่งจะทำให้การเจรจาการค้าเสรีไทย-อียู และผลบังคับใช้เลื่อนออกไป

    ดังนั้นทำให้ช่วงระหว่างรอเจรจา ผู้ส่งออกไทยต้องเสียภาษีขาเข้าในอัตราปกติ และต้องสูญเสียความสามารถการแข่งขันในตลาดยุโรป โดยเฉพาะสินค้าที่พึ่งพิงตลาดอียูมาก ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เสื้อผ้าและเครื่องประดับ ไก่แปรรูป กุ้งแช่แข็ง และชิ้นส่วนเครื่องจักรอุตสาหกรรม


    ผลกระทบลำดับถัดมา คือ การลงทุน ประเมินว่า ในระยะสั้นจะส่งผลกระทบน้อย เพราะภาพรวมเศรษฐกิจยุโรป ยังอยู่ในช่วงฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งกดดันไม่ให้เม็ดเงินลงทุนไหลเข้าไทยอยู่แล้ว แต่ในระยะยาวอาจส่งผลกระทบต่อเม็ดเงินลงทุนได้ เพราะการที่อียูระงับการเจรจา PCA ทำให้การวางฐานรากความร่วมมือทางเศรษฐกิจด้านอื่นๆ รวมทั้งด้านการลงทุนต้องชะลอออกไป จนกว่าไทยจะมีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง (มูลค่าเงินลงทุนของอียูในไทยอยู่อันดับที่ 3 คิดเป็น 8.5%ของเงินลงทุนต่างประเทศรวม)

    และผลกระทบสุดท้าย คือ การท่องเที่ยว ซึ่งจะได้รับผลกระทบน้อย เพราะมติประชุมดังกล่าว ไม่ได้บังคับพลเรือนให้เข้ามาในไทย มีผลเพียงการระงับการเดินทางอย่างเป็นทางการของหน่วยงานราชการของอียูเท่านั้น ตัวเลขนักท่องเที่ยวอียู 5 เดือนแรกของปีนี้ พบว่ายังขยายตัว 6.4% เมื่อเทียบกับปีก่อน ขณะที่ภาพรวมการท่องเที่ยวหดตัว -5.9% แต่ต้องจับตาว่า จะมีการลดระดับความสัมพันธ์เพิ่มเติมหรือไม่ และด้วยมาตรการใด


    "การลดระดับความสัมพันธ์ครั้งนี้ อาจทำให้ข้อตกลงด้านเศรษฐกิจระหว่างรัฐกับรัฐ (G2G) ต้องถูกเลื่อนออกไปจนกว่าจะมีการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อการค้าและการลงทุนในระยะยาวมากกว่าระยะสั้น"

    ดังนั้นโจทย์ใหญ่ของภาครัฐ คือ ต้องเร่งสร้างความชัดเจนแก่ภาคเอกชนถึงประกาศดังกล่าวว่า ครอบคลุมเศรษฐกิจด้านใดบ้าง เพื่อให้ภาคเอกชนได้ปรับตัว ขณะที่ผู้ประกอบการไทย จำเป็นต้องเร่งปรับตัว โดยลดต้นทุนการผลิต และหาตลาดใหม่ รวมถึงออกไปแสวงหาโอกาสการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน ที่ยังได้รับสิทธิ์จีเอสพีอยู่ เพื่อบรรเทาผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นในระยะถัดไป


    Tags : ตลาดหลักทรัพย์ • ซีพีเอฟ • ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น • บล.เคทีซีมิโก้ • ค้ามนุษย์ • มาร์เก็ตแคป • สหรัฐ • ยุโรป • ทีเอ็มบี

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้