"ปิยสวัสดิ์"แนะลอยตัวน้ำมัน เลิกประชานิยมเตือนหนี้พุ่ง หวั่นซ้ำรอยยุครัฐบาลทักษิณ นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานกลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน เปิดเผยในงานสัมมนา “ปฏิรูปพลังงาน...เพื่อความยั่งยืนของไทย ซึ่งจัดโดยธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ว่า มาตรการตรึงราคาน้ำมันควรจะทำในระยะสั้นๆเท่านั้น เพราะหากรัฐดำเนินการในระยะยาว จะกลายเป็นนโยบายประชานิยม ที่มีเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งจะยิ่งทำให้โครงสร้างพลังงานถูกบิดเบือน และในที่สุดประชาชนก็ต้องรับภาระ โดยเมื่อปี 2547 ในยุครัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เคยมีการตรึงราคาน้ำมันดีเซลเอาไว้ เพราะคิดว่าราคาน้ำมันในตลาดโลกจะปรับลดลง แต่กลายเป็นว่า กองทุนน้ำมันต้องแบกภาระหนี้ถึง 90,000ล้านบาท และมาใช้หนี้จนหมดในรัฐบาลของ พล.อ.สุรยุทธ์ นายปิยสวัสดิ์ กล่าวว่า รัฐไม่ควรที่จะทำให้น้ำมันเป็นสินค้าการเมือง โดยควรที่จะปล่อยให้มีการลอยตัว เพื่อให้ราคาปรับขึ้นลงตามกลไกตลาด ซึ่งที่ผ่านมา การกำหนดเพดานราคาดีเซลเอาไว้ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร และไม่ยอมเก็บภาษีสรรพสามิตดีเซล ทำให้รัฐสูญเสียรายได้ไปประมาณปีละแสนล้านบาท ซึ่งผ่านมา 3 ปี ก็คิดเป็นเงินประมาณ 3 แสนล้านบาท ทั้งๆที่เงินจำนวนนี้ควรจะนำมาใช้พัฒนาระบบขนส่งมวลชน ที่จะช่วยให้การใช้น้ำมันเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ "การลอยตัวราคาน้ำมันและมีการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตอย่างเป็นธรรม จะทำให้ราคาเบนซินถูกลงมาได้ 1-2 บาทต่อลิตร ส่วนดีเซลก็ควรจะทยอยจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นมาอีก 3-4 บาทต่อลิตร จากที่ยังเก็บอยู่ 0.005 บาทต่อลิตร ส่วนเอ็นจีวีที่มีไม่ภาษีสรรพสามิตเลย ก็ควรจะมีการจัดเก็บภาษี เพราะยังมีราคาที่ต่ำมาก ซึ่งหากจะช่วยให้รัฐมีรายได้ปีละแสนล้านบาท ที่จะมาใช้ลงทุนระบบรถไฟฟ้า แทนที่จะกู้เงินมาลงทุนเพียงอย่างเดียว "นายปิยสวัสดิ์ กล่าว ในส่วนของแอลพีจี เห็นว่า รัฐควรจะจัดสรรแอลพีจีไปใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศมากกว่าใช้ในภาคขนส่ง ทั้งนี้หากยกเลิกการใช้แอลพีจีในภาคขนส่ง จะทำให้มีแอลพีจีเพียงพอที่จะใช้ในภาคครัวเรือน ที่ยังมีความจำเป็นมากกว่า และจะช่วยให้ราคาแอลพีจีลดลงได้ 2.30บาทต่อกิโลกรัม สำหรับประเด็นที่บางกลุ่มเสนอให้มีการยกเลิกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง นั้น มองว่ามีทั้งข้อดีและข้อเสียที่รัฐควรจะต้องพิจารณาให้รอบคอบ ซึ่งในความเป็นจริงหากยกเลิกกองทุนน้ำมันฯ จะส่งผลให้ราคาน้ำมันเบนซินปรับลดลงได้จริง 10 บาทต่อลิตร รวมถึงราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์บางชนิดลดลงด้วย แต่จะส่งผลกระทบให้น้ำมันแก๊สโซฮอล์อี 85 จะปรับขึ้น 12 บาทต่อลิตร รวมถึงก๊าซหุงต้ม(แอลพีจี)จะต้องปรับขึ้นเป็น 26 บาทต่อกิโลกรัมตามต้นทุนที่แท้จริง โดยแอลพีจีภาคครัวเรือนและขนส่งจะต้องถูกปรับขึ้น แต่แอลพีจีภาคอุตสาหกรรมจะได้รับการปรับลดลงจาก 30.13 บาทต่อกิโลกรัมในปัจจุบัน ลงมาเหลือ 26 บาทต่อกิโลกรัม "การยกเลิกกองทุนน้ำมันจะทำให้อุตสาหกรรมเอทานอลมีปัญหาเพราะคนจะหันมาใช้เบนซินที่มีค่าความร้อนที่สูงกว่า และอาจจะทำให้ผู้ประกอบการเอทานอลล้มละลายได้" นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด(มหาชน) หรือ ปตท.สผ. กล่าวว่า ปตท.สผ.อยู่ระหว่างการรอ คสช.พิจารณาว่าจะปรับเปลี่ยนระบบการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่ในรูปแบบใด ระหว่างระบบแบ่งปันผลผลิต หรือ ระบบไทยแลนด์ 3 ที่ยืดหยุ่นการแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างรัฐกับเอกชนที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งจะพิจารณาว่าจะจูงใจให้ปตท.สผ.สนใจร่วมประมูลลงทุนหรือไม่ต่อไป อย่างไรก็ตามเห็นว่าระบบสัมปทานปิโตรเลียมไทยแลนด์3 ในปัจจุบันเหมาะประเทศไทยแล้วโดยหากเอกชนผลิตได้มาก จะต้องส่งเงินให้รัฐมากขึ้น แต่ถ้าผลิตได้น้อยจะส่งคืนรัฐน้อยลง เพื่อให้รัฐได้ประโยชน์อย่างเหมาะสมและเอกชนสามารถมีกำไรสอดคล้องกับต้นทุนและดำเนินธุรกิจอยู่ได้ อีกทั้งแหล่งปิโตรเลียมของไทยเป็นแหล่งเล็กๆ ต้องใช้เงินลงทุนสูงด้วย แต่หากระบบแบ่งปันผลผลิตมีการเรียกเก็บเงินเข้ารัฐมากเกินไปจะไม่จูงใจให้เอกชนสนใจเข้ามาลงทุนได้ ส่วนแนวโน้มราคาน้ำมันโลกในปี2557 คาดว่าจะเฉลี่ยอยู่ที่100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และจะไม่ต่ำลงกว่านี้ เนื่องจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศอิรัก รวมทั้งช่วงปลายปี2557 นี้ความต้องการใช้น้ำมันของโลกจะเพิ่มขึ้นจากสภาพอากาศที่เข้าสู่ฤดูหนาวของยุโรป Tags : ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ • ปฏิรูปพลังงาน • ทักษิณ ชินวัตร • น้ำมัน • ประชานิยม • คสช.