เมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา VMware ได้จัดงานประชุมและแลกเปลี่ยนของคู่ค้า (Partner Exchange) ที่กรุงเทพ Blognone ได้มีโอกาสไปสัมภาษณ์ Jon Robertson รองประธานและผู้จัดการทั่วไปของทาง VMware ซึ่งรับผิดชอบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ ดร.ชวพล จริยาวิโรจน์ กรรมการผู้จัดการ VMware ประเทศไทยด้วย (ซึ่งจริงๆ บทสัมภาษณ์เสร็จค่อนข้างนานแล้ว แต่ผมใช้เวลาเรียบเรียงพอสมควร ต้องขออภัยในความล่าช้ามา ณ ที่นี้) จึงขอนำเอาบทสัมภาษณ์มาเผยแพร่ให้กับท่านผู้อ่านครับ หมายเหตุ แนะนำให้อ่านงานพบสื่อของ VMware ประเทศไทยประกอบ เพื่อที่จะได้เห็นภาพชัดเจนขึ้นครับ ผู้บริหาร VMware (ซ้าย: Jon Robertson, ขวา: ดร.ชวพล จริยาวิโรจน์) Software-Defined Data Center: วิสัยทัศน์ระยะยาวของ VMware ในงาน VMware Partner Exchange คราวนี้ คุณ Jon นำเสนอเกี่ยวกับแนวคิดของ “SDDC” (Software-Defined Data Center) ซึ่งผมก็ถามคุณ Jon ว่า VMware คิดอะไรอยู่ เป็นความฝันของ VMware เลยหรือเปล่า เพราะเวลาคนพูดถึง Software-Defined แล้ว ก็มักจะต่อท้ายด้วยคำศัพท์อะไรบางอย่างเสมอ เช่น Network (SDN: Software-Defined Network) แต่การทำให้ศูนย์ข้อมูล (data center) กลายเป็น “Software-Defined Data Center” คุณ Jon ตอบผมว่าจริงๆ แล้ว แนวคิด SDDC ไม่ใช่เป็นความฝัน แต่อันที่จริงแล้วคือแนวทางของทาง VMware ที่มองว่าการทำ virtualization ทั้งศูนย์ข้อมูลและระบบโครงสร้างพื้นฐานถือเป็นยุทธศาสตร์หลักของ VMware เสียด้วยซ้ำ โดย VMware เน้นอยู่สามเรื่องสำคัญ เรื่องแรกคือ SDDC ที่ได้กล่าวไปแล้วเรื่องที่สองคือ EUC (End-User Computing) ซึ่งตอบโจทย์ด้วยผลิตภัณฑ์อย่าง Horizon Suite และ Airwatch และเรื่องสุดท้ายคือ Hybrid Cloud ที่เน้นทั้งบริการ Cloud จากภายนอกและภายในองค์กร SDDC จึงเป็นองค์ประกอบสำคัญของ VMware (ลองดูภาพสไลด์จากงานพบปะกับสื่อมวลชนรอบที่แล้วด้านล่าง) กลยุทธ์หลักของ VMware ยุทธศาสตร์ EUC (End-User Computing) ของ VMware คือการมองว่าแนวทางในการทำงานของผู้ใช้ในองค์กรจะต้องมีความยืดหยุ่นสูง กล่าวคือ อุปกรณ์ของผู้ใช้งานจะไม่ใช่อุปสรรคในการเข้าถึงข้อมูลหรือการทำงานอีกต่อไป สิ่งที่เกิดขึ้นคือโจทย์สำคัญที่ว่า VMware จะนำพาการทำงานในรูปแบบเดิมๆ ไปสู่อุปกรณ์แบบใหม่ๆ ได้อย่างไร เพราะวิถีชีวิตของคนที่เปลี่ยนแปลงไปที่เน้นไปสู่ความเป็น mobility (การเคลื่อนที่) มากขึ้น ย่อมทำให้รูปแบบของการทำงานต่างๆ เปลี่ยนแปลงไปด้วย ตัวอย่างเช่น BYOD เป็นต้น ซึ่ง VMware ตอบโจทย์ด้วยผลิตภัณฑ์อย่าง Horizon ในฝั่งของ Desktop และในตลาด Mobile ด้วย Airwatch ซึ่ง VMware เข้าไปซื้อมาเมื่อต้นปี วิสัยทัศน์ (หรือภาพความฝัน) ของ VMware ในฝั่งผู้ใช้งาน (End-User) ภาพรวมของผลิตภัณฑ์ในฝั่ง EUC คุณ Jon ชี้ให้เห็นว่า แนวทางของการทำ virtualization ไม่ว่าจะในฝั่งของ Desktop/Client หรือ Server บนแพลตฟอร์ม x86 ทำให้เกิดแนวทางที่ตัวแอพพลิเคชั่น (โปรแกรม) แยกขาดออกจากตัวฮาร์ดแวร์อย่างชัดเจน และประโยชน์ที่ได้มาคือความยืดหยุ่นในเชิงการจัดการและการบริหาร ตลอดจนถึงความง่ายและความสะดวกในการทำ virtualization ที่ไม่ได้ใช้เวลานานเมื่อเทียบกับการวางเครื่องตามปกติ ผลจากจุดนี้ทำให้ทาง VMware ตัดสินใจที่จะตั้งคำถามว่า จะเป็นไปได้หรือไม่ที่จะทำ virtualization ทุกอย่าง ซึ่งแนวทางที่ออกมาคือผลิตภัณฑ์อย่าง Virtual SAN (ระบบ Virtual Storage), NSX (ระบบ Virtual Network), Airwatch (ระบบ MDM) และอื่นๆ (บางส่วนได้มาจากการเข้าซื้อกิจการ บางส่วนเกิดจาก VMware พัฒนาเอง) ซึ่งทั้งหมดทำให้ VMware มีชุดของโซลูชั่นที่ครอบคลุมที่สุดเพราะวางแผนกันมานานมากแล้ว อย่างต่ำก็ 5 ปี นับตั้งแต่ปี 2009 โดยในเวลานั้น SDDC ยังเป็นเพียงคำที่อยู่บนสไลด์นำเสนอเท่านั้น Jon ระบุให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การ virtualization ถูกพิสูจน์ว่าเป็นแนวทางที่ใช้ได้ผล เพราะไม่ต้องซื้ออุปกรณ์ใหม่ กินเวลาต่ำในการ deploy ระบบ (ขั้นตอนการจัดซื้ออุปกรณ์ใหม่ที่จะต้องกินระยะเวลายาวนานเป็นอาทิตย์) และใช้ประสิทธิภาพของเครื่องได้อย่างเต็มความสามารถ (เพราะสามารถใส่ลงไปทีละยี่สิบตัวบนเครื่องเดียวก็ได้) คุณ Jon ชี้ให้เห็นว่า ข้อมูลในทุกวันนี้มีปริมาณที่มากขึ้นเรื่อยๆ แต่แนวโน้มของการจำหน่ายอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับศูนย์ข้อมูล (เช่น server) ลดต่ำลงทุกปี ซึ่งนั่นก็แปลว่า virtualization ได้ผลอย่างมาก ดร.ชวพล เสริมข้อมูลในส่วนนี้ว่าในบางอุตสาหกรรมอย่างเช่นสื่อสารมวลชนหรือโทรคมนาคม ก็มีการเปลี่ยนไปสู่ด้านไอทีมากขึ้น ตัวอย่างเช่น ในอุตสาหกรรมสื่อสารมวลชน ปัจจุบันการเก็บภาพหรือวิดีโอภาพข่าวนั้นเก็บเป็นไฟล์ข้อมูล จากเดิมที่เป็นตลับเทปซึ่งกินที่มาก ในกรณีของโทรคมนาคมก็เช่นกัน เพียงแต่ว่าระบบ switching และภาคกระจายสัญญาณ (RF: Radio Frequency) เท่านั้นที่ยังเปลี่ยนไม่ได้เท่านั้นเอง การเติบโตของ Virtualization ในภูมิภาค เนื่องจากคุณ Jon รับผิดชอบภูมิภาคอาเซียน ผมเลยถามว่าสำหรับภูมิภาคและไทยเป็นอย่างไรบ้าง โอกาสเติบโตยังมีหรือไม่ อัตราการใช้ virtualization เป็นอย่างไรบ้าง และค่อนข้าง ‘ล่าช้า’ กว่าภูมิภาคอื่นมากน้อยแค่ไหน คุณ Jon ตอบผมว่า ในประเด็นเรื่องของความช้าของภูมิภาคนั้นต้องยอมรับว่าช้าอยู่ประมาณ 2-3 ปี แต่ทั้งนี้ก็ต้องดูแยกกันเป็นรายตลาดไป อย่างเช่นในออสเตรเลียหรือญี่ปุ่น อัตราการทำ virtualization มีสูงมาก ประมาณร้อยละ 70 ของไอทีระดับองค์กร แต่ในอาเซียนนั้นยังมีอยู่ค่อนข้างน้อย ตัวเลขจาก Gartner หรือ IDC ออกมาระบุว่าอยู่ที่ประมาณร้อยละ 20 ดังนั้นโอกาสเติบโตน่าจะมีอยู่สูงมาก แต่การช้าอันนี้ไม่ใช่ผลเสียเลยแม้แต่น้อย เพราะช่วงระยะเวลาของแนวโน้ม (trend) ในการใช้ virtualization ที่ล่าช้ากว่าทางอเมริกาเหนือและยุโรป ทำให้ผลิตภัณฑ์พร้อมกว่าเวลาเอาไปใช้งานจริง เช่น เดิมอาจจะไม่มี Virtual SAN (นำ Disk หลายตัวมาทำเป็น storage pool ให้ vm เข้าถึง) หรือ Horizon (Virtual Desktop) ซึ่งทำให้โซลูชั่นยังขาดไปในบางจุด หรือทำให้ใช้งานไม่ได้เต็มประสิทธิภาพ แต่พอมาในตลาดอย่างอาเซียน ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวก็มาแล้ว ดังนั้นมันจึงพร้อม และทำให้ทาง VMware ขายเป็นโซลูชั่นได้ครบวงจรมากกว่า ดร.ชวพล เสริมในแง่นี้ว่า ลูกค้าของ VMware มักจะมีอยู่สามกลุ่มหลักๆ กลุ่มแรกคือกลุ่มที่ทำ virtualization อย่างมากแล้ว และเคยชินกับผลิตภัณฑ์ของ VMware ส่วนที่สองคือลูกค้าที่บางส่วนยังไม่สามารถทำ virtualization ได้ และส่วนสุดท้ายคือยังใหม่มากๆ กับการทำ virtualization ซึงในกลุ่มที่สองและสาม ยังมีโอกาสอีกมากที่จะโต นอกจากนั้นแล้วการล่าช้าในเรื่องของแนวโน้มในภูมิภาคยังมีข้อดี คือปัญหาต่างๆ ที่เจอไปในฝั่งของอเมริกาเหนือและยุโรป มักจะไม่ค่อยเจอในภูมิภาค หรือถ้าเจอก็จะมีแนวทางการแก้ไขที่ชัดเจนแล้ว ดังนั้นความช้าจึงไม่ใช่ข้อเสียอยู่ทั้งหมดเสียทีเดียว Airwatch ในฐานะจิ้กซอว์สำคัญของ VMware ผมถามถึงเรื่อง Airwatch ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ตัวล่าสุดของ VMware ที่เกิดจากการเข้าซื้อกิจการเมื่อช่วงต้นปีนี้ คำตอบจาก Jon ก็คือ Airwatch เป็นส่วนเสริมที่ทำให้ระบบของ VMware ครบวงจร โดยบริษัทมองว่า ระบบ MDM (Mobile Device Management) เป็นอนาคตที่สำคัญ เพราะแนวทางของ BYOD (Bring Your Own Device) ทำให้พนักงานไม่ต้องยึดติดกับอุปกรณ์แบบใดแบบหนึ่ง และทุกบริษัทต้องให้การสนับสนุน Airwatch จึงเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญที่ช่วยเสริมในมิตินี้ Jon บอกว่า Airwatch นั้นเป็นอีกหนึ่งกุญแจสำคัญไม่แพ้ Horizon ที่เป็นยุทธศาสตร์หลักของบริษัท (EUC) โดย Airwatch มีสถานะของการเป็นบริษัทลูกของ VMware และมีความเป็นเอกเทศสูงพอสมควร การเข้าซื้อ Airwatch จึงเป็นประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ด้านหนึ่ง VMware ได้ชุดผลิตภัณฑ์ที่สมบูรณ์ อีกด้านหนึ่ง Airwatch ได้ช่องทางและทีมขายที่ใหญ่มาก และผลิตภัณฑ์ของ Airwatch เอง ก็ได้รับการยอมรับว่าค่อนข้างใช้งานได้ง่ายและมีประสิทธิภาพสูงมาก ลูกค้าจำนวนมากเองก็ต้องการ Airwatch ซึ่งการมาอยู่กับ VMware ทำให้ Airwatch ขยายตัวได้ง่ายขึ้น ในจุดนี้ ดร.ชวพล ชี้ให้เห็นว่า กรณีของเมืองไทยนั้น แต่เดิม Airwatch ไม่มีตัวแทนจำหน่ายในเมืองไทย แต่พอลูกค้าทราบว่า Airwatch เป็นส่วนหนึ่งของ VMware สิ่งที่เกิดขึ้นคือความต้องการของลูกค้าในการใช้งานที่มีจำนวนมาก และลูกค้ารายใหม่ก็มีมากขึ้นด้วย ผมถามต่อว่า เจ้าตลาดอย่าง BlackBerry กำลังเสียพื้นที่ในส่วนนี้มากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะทั้งโซลูชั่นหรืออุปกรณ์ คิดเห็นอย่างไรบ้าง ซึ่งคุณ Jon ก็เล่าว่า ใน VMware เอง ยังไม่เคยเห็นใครที่เลือกจะใช้ BlackBerry ในองค์กรเลยแม้แต่น้อย ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ Carl Eschenbach ประธานกรรมการและซีโอโอของ VMware ก็เปลี่ยนจาก BlackBerry มาใช้ iPhone นอกจากนั้นมันเกี่ยวกับอายุของคนที่ใช้งานด้วย ซึ่งเท่าที่เขาเห็น คนที่ต่ำกว่าอายุ 30 ปี แทบจะไม่มีใครใช้แล้ว ยกเว้นในอินโดนีเชียที่ยังมีคนใช้อยู่มาก เพราะกดราคาค่าบริการลงมาให้ต่ำมากๆ คุณ Jon ระบุชัดเจนว่า แนวทางอย่าง BYOD ทำให้ผลิตภัณฑ์อย่าง Airwatch ต้องสนับสนุนทุกอุปกรณ์ ดังนั้นในฝั่งอุปกรณ์ BlackBerry จึงไม่ใช่คำตอบเดียวอีกต่อไป ส่วน ดร.ชวพล เสริมว่า อันที่จริงแล้วแนวทางในการใช้ BlackBerry นั้น เป็นเพราะว่าองค์กรบางแห่งยังเชื่อในระบบการรักษาความปลอดภัยของ BlackBerry เท่านั้น ซึ่งเอาเข้าจริงผลิตจภัณฑ์อย่าง Airwatch ก็นำเสนอความปลอดภัยที่ทัดเทียมกัน ดังนั้นลูกค้าจำนวนหนึ่งเองก็คงมีความพยายามที่จะออกมาจากโซลูชั่นของ BlackBerry VMware กับคู่แข่งและคู่ค้า ในช่วงที่ผ่านมาบริษัทหลายรายพอเจอกับกระแสของการ virtualization ผลที่เกิดขึ้นคือบริษัทแต่ละแห่งต้องปรับตัวกันอย่างยกใหญ่ ตัวอย่างเช่น Cisco ที่เริ่มรู้สึกว่าแนวทางอย่าง Network virtualization กำลังมีผลกระทบอย่างชัดเจน เพราะรายได้เริ่มลดลง ทำให้ต้องเปลี่ยนแนวทางอย่างเช่นการขายรวมกัน ที่เรียกว่า Cisco ONE โดยขายทั้งซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์ และบริการรวมกัน (ลองอ่านบทความของ Forbes ประกอบ) เมื่อถามถึงคู่แข่งอย่าง Cisco ที่เริ่มปรับตัว โดยนำเอาทั้งอุปกรณ์และซอฟต์แวร์ของตัวเองมาผูกกันแล้วขาย (ที่เรียกว่า Cisco ONE Suite) ซึ่งถือว่ามีขนาดที่ใหญ่มาก เพราะฝั่งอุปกรณ์เอง Cisco เป็นเจ้าตลาดอยู่ VMware จะทำอย่างไรบ้าง? สิ่งที่คุณ Jon ตอบผมมาก็คือ ให้กลับไปดูแนวโน้มเมื่อประมาณปี 2005-2006 ที่ผู้ผลิตอุปกรณ์เกือบทุกราย ต่างหวาดกลัวแนวโน้มของการทำ virtualization กันไปหมด แต่ในปัจจุบัน บริษัทเหล่านี้กลับส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่เหมาะสมกับการทำ virtualization มากขึ้น คุณ Jon ยกตัวอย่างกรณีของ HP ที่เปลี่ยนการพัฒนาผลิตภัณฑ์จาก Server แบบเดิม ไปสู่ Blade Server เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนแนวโน้มไปทาง virtualization มากขึ้น ซึ่งผลที่ได้คือการขายผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ ได้เป็นจำนวนมาก และ HP เอง เป็นหนึ่งใน คู่ค้าของบริษัทที่แข็งแกร่งมาก และทุกบริษัทก็เปลี่ยนไปในแนวทางนี้หมด ในกรณีของ Cisco ต้องมองว่า Network virtualization เป็นของที่ใหม่มาก และ Cisco ก็มองว่ามันเป็นโอกาสด้วยส่วนหนึ่ง แต่ก็มองว่าเป็นจุดอ่อนของตัวเองด้วย ทำให้ Cisco ตัดสินใจที่จะรักษาฐานที่มั่นของตัวเองให้ได้ ซึ่งในแง่นี้คุณ Jon มองว่า เป็นความสมเหตุสมผลที่จะทำแบบนั้น แต่ปรัชญาของ VMware นั้นต่างออกไป โดยเขามองว่า Cisco ได้สร้าง Network Topology (โครงสร้างของระบบเครือข่าย) ที่ดีมากๆ และควรจะทำต่อไป ทว่าก็ควรจะ virtualization โครงสร้างดังกล่าวด้วย และนี่คือสิ่งที่ต่างออกไปสำหรับ VMware ซึ่งลูกค้าก็จะชอบแต่ไม่ใช่กับ Cisco อย่างแน่นอน คุณ Jon บอกว่า จริงๆ Cisco เป็นคู่ค้าที่ดีมากในการทำงานร่วมกัน เพียงแต่ปรัชญาของ Cisco ในด้าน ที่ยังเน้นด้านฮาร์ดแวร์ แตกต่างกับ VMware ที่เน้นด้าน virtualization อย่างชัดเจน กล่าวคื โดยทั้งหมดคุณ Jon บอกว่าขึ้นกับตลาดจะเป็นคนตัดสินว่าใครมีแนวทางที่ดีที่สุด แต่อย่างน้อยความเคลื่อนไหวของ Cisco ก็เป็นสิ่งที่พิสูจน์ว่า แนวทางของ VMware นั้น เป็นสิ่งที่ถูกต้องระดับหนึ่งแล้ว สำหรับคู่แข่งรายอื่นๆ อย่างเช่น Amazon ซึ่งแม้จะอยู่ในตลาดของ Public Cloud แต่ระยะหลังๆ พยายามที่จะเข้ามาแย่งตลาดของ VMware (ลองอ่านข่าวจาก Forbes ประกอบรายละเอียด) ที่ออกตัว Connector/Plugin เชื่อมระบบ Cloud ของตัวเอง (AWS) เข้ากับ VMware คุณ Jon ระบุว่ามันเป็นการพิสูจน์ให้เห็นอย่างชัดเจนว่ายุทธศาสตร์ที่ VMware ใช้นั้นถูกต้อง และเป็นการเปิดทางให้กับลูกค้าในการทดลองกับระบบใหม่ๆ ภายใต้สภาพแวดล้อมเดิม ซึ่งจะเป็นอย่างไรคงต้องชี้วัดกันในอนาคต สำหรับกรณีของ Microsoft ที่มี Hyper-V ติดมาพร้อมกับระบบปฏิบัติการ (เทคโนโลยีนี้ได้มาพร้อมกับการเข้าซื้อ Connectix) คุณ Jon ให้ความเห็นว่า ในตลาด Hypervisor นั้น VMware ทำได้ดีกว่ามาก และมีเสถียรภาพมากกว่าของ Microsoft การขายที่บอกว่า Hypervisor ใครดีที่สุดมันเป็นเรื่องเก่ามากแล้ว สำหรับ VMware มันคือเรื่องเมื่อ 4 ปีที่แล้ว และความเห็นส่วนตัวเขาคือ ถ้าเขามีธุรกิจที่ต้องใช้งาน Hyper-V อาจจะเหมาะกับการทดลอง แต่ไม่ใช่ในสถานการณ์ที่ต้องใช้งานจริง ผมถามว่า แล้วตัวผลิตภัณฑ์ของ VMware อย่าง Horizon จะรับมือกับแอพพลิเคชั่นใหม่ๆ อย่างเช่น Web Application อย่างไรบ้าง เพราะของพวกนี้มันก็ตัดผ่านตัวกลางอย่าง Horizon ที่้เป็น Secured Workspace ไปหมด คำตอบจากทั้งสองท่านก็คือ ไม่เลย เพราะมันเสริมกัน อย่างน้อยๆ ก็ด้วยระบบการลงชื่อเข้าใช้งานครั้งเดียว (Single Sign-On: SSO) ทำให้มันง่ายขึ้น นอกจากนั้นแล้วมันทำให้เข้ากับระบบ Horizon ได้ง่าย สิ่งที่เป็นปัญหามากกว่าคือพวก Legacy App ทั้งหลายที่ยังอยู่บน Desktop แบบเดิมมากกว่า Cloud และอนาคตของ VMware เมื่อพูดถึง Cloud ผมถามถึงความเห็นทั้งสองผู้บริหารว่า คิดอย่างไรบ้างที่ภาครัฐ/หน่วยงานรัฐ นำเอา Cloud ไปใช้ค่อนข้างช้า ไม่ใช่เฉพาะในเมืองไทยอย่างเดียว แต่หลายประเทศก็เป็น คำตอบที่ผมได้รับจาก Jon คือกระแสกำลังมาแรง สำหรับออสเตรเลียและสิงคโปร์ก็มีโครงการอยู่ โดยเฉพาะสิงคโปร์ที่เลือกเส้นทางในการทิ้งโครงสร้างแบบเดิมทั้งหมด แล้วทำโครงสร้างใหม่ตั้งแต่แรกเริ่ม โดยอาศัยโครงสร้างเดิมให้น้อยที่สุด กระบวนการในการวางแผนและขั้นตอนอาจจะใช้เวลานานกว่า แต่พอถึงขั้นตอนในการใช้จริงจะเร็วกว่า สำหรับรัฐบาลของนิวซีแลนด์เอง ตัวโครงสร้างพื้นฐานปัจจุบันก็เป็น Cloud แทบจะร้อยละ 100 ส่วน ดร.ชวพล มองว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือเรื่องของนโยบายที่ต้องชัดเจน ถึงจะประสบความสำเร็จในการดำเนินการ สุดท้ายผมถามถึงแนวโน้มในอนาคตว่า แนวโน้มจะเป็นไปได้หรือไม่ที่ทุกอย่างจะถูก “virtualized” และอุปกรณ์กลายเป็นสิ่งที่ไม่มีความสำคัญอีกต่อไป (ซึ่งทุกวันนี้ก็เริ่มเป็นแล้ว) อย่างเช่นกรณีของ Chromebook ที่เปิดขึ้นมาแล้วเป็นแต่เว็บ ต่ออินเตอร์เน็ตอย่างเดียว ซึ่งคุณ Jon ก็เล่าว่า ลูกสาวของเขาปัจจุบันอายุ 5 ขวบ แต่ไม่เคยแตะแป้นพิมพ์เลย เวลาคุณ Jon กลับบ้าน จะเห็นลายนิ้วมือของลูกสาวเต็มหน้าจอทีวี เพราะลูกสาวเขาไม่ชินกับการใช้รีโมท ดังนั้นเมื่อพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป ทุกอย่างก็ย่อมเปลี่ยนไป และแนวคิดอย่าง Chromebook ก็เป็นสิ่งที่สมเหตุสมผลกับความเปลี่ยนไปนั่นเอง (ซึ่งในส่วนของ Chromebook เอง VMware ก็มีความร่วมมือกับทาง Google อยู่ ลองอ่าน blog ของ VMware ประกอบ) Interview, VMware