ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาแรงงาน เชื่อถูกลดระดับค้ามนุษย์ ไม่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง รศ.แล ดิลกวิทยรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาแรงงานและการจัดการ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะประธานที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาแรงงานแห่งชาติชุดที่ 16 ได้กล่าวในงานสัมมนาทางวิชาการด้านแรงงาน เรื่อง "ปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน โจทย์ที่ประเทศต้องเร่งแก้ไข" ว่า การจัดอันดับเรื่องการค้ามนุษย์ให้ไทยตกไปอยู่ในระดับที่ต่ำสุด คือระดับ 3 นั้น เชื่อว่าไม่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของไทยซึ่งต้องรอดูท่าทีของสหรัฐอเมริกา จะมีมาตรการใดมากดดันไทย แต่ทั้งนี้ไม่น่าจะถึงขั้นคว่ำบาตร เพราะต้องคำนึงถึงเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทั้งนี้ อุตสาหกรรมที่มีการใช้แรงงานหนาแน่น อย่าง อุตสาหกรรมกุ้งและเครื่องนุ่งห่ม อาจได้รับผลกระทบหนัก โดยเฉพาะลูกจ้าง ที่ส่วนใหญ่เป็นแรงงานรายวัน และแรงงานนอกระบบ ที่ไม่ได้เป็นผู้ประกันตนตามระบบประกันสังคม ซึ่งหากถูกเลิกจ้าง จะไม่ได้รับเงินช่วยเหลือกรณีว่างงาน ดังนั้นภาครัฐควรจะแก้ปัญหานี้ควบคู่ไปกับการสร้างความเข้าใจ โดยมีมาตรการที่ชัดเจนในการดูแลลูกจ้างสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบ นอกจากนี้ ยังกล่าวถึงกรณีการเดินทางกลับของแรงงานกัมพูชา ว่า จะต้องเร่งสร้างความเข้าใจ เพื่อให้แรงงาน กลับมาทำงานโดยเร็ว เพื่อไม่ให้กระทบในระยะกว้าง โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐ ทั้งนี้ในประเทศอื่นที่ถูกจัดอันดับด้านการค้ามนุษย์ให้อยู่ระดับ 3 เช่นเดียวกับไทยนั้น บางประเทศก็ไม่ได้สนใจในเรื่องนี้ เนื่องจากไม่มีการค้าระหว่างประเทศ แต่ในส่วนของไทยนั้น หากมีการค้าขายกับประเทศในชาติตะวันตก ก็ต้องมีการปรับตัวเพื่อสร้างความมั่นใจ โดยเฉพาะการที่จะขอปลดล็อคสินค้าที่ถูกขึ้นบัญชีดำของไทยใน 4 รายการ คือ กุ้ง ปลา อ้อย และเครื่องนุ่งห่ม ที่ต้องทำงานอย่างหนักให้เห็นผลชัดแจ้งต่อไป