ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองเศรษฐกิจไทยโตได้ 2.3 % ผลจากคสช.ปลดล็อกแนะระวังเงินเฟ้อหลังราคาน้ำมันพุ่ง นางพิมลวรรณ มหัจฉริยวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยกสิกร ได้ปรับประมาณการจีดีพี ประเทศไทยปี 2557 จะขยายตัวได้ 2.3 % เป็นการปรับขึ้นจากการประมาณการครั้งก่อนที่มองว่าจะขยายตัว 1.8 % เท่านั้น ผลจากการเข้ามาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) มาช่วยปลดล็อกเศรษฐกิจทำให้ เครื่องยนต์กลับมาขับเคลื่อนอีกครั้ง "ภาพตอนแรกเศรษฐกิจไทยมีปัญหา เหมือนเครื่องบินที่หยุดรอการซ่อม เมื่อคสช.เข้ามาเดินหน้าการลงทุนต่างๆ ปลดล็อกปัญหาด้านงบประมาณ ทำให้ประเทศไทยเหมือน เครื่องบินกำลังเทคออฟ เครื่องยนต์ทุกส่วนถูกเดินหน้าเต็มกำลังอีกครั้ง" เธอกล่าวว่า การฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยในปี 2557 นั้นได้รับอานิสงส์จากการช่วยเหลือเกษตรกรจากการจ่ายเงินโครงการรับจำนำข้าว 9.2 หมื่นล้านบาท การเร่งอนุมัติโครงการที่ขอรับส่งเสริมการลงทุนกว่า 7 แสนล้านบาท และการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 ช่วยผลักดันให้จีดีพีขยายตัวเพิ่มขึ้น 1-1.5 % แต่ เศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงในเรื่องการส่งออกฟื้นตัวช้า โดย 4 เดือนแรกขยายตัวได้เพียง 0.7 %เทียบกับปีก่อน และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยว 5 เดือนแรก ลดลง6.9 % ครึ่งปีหลังมองว่า แม้มีสัญญาณการฟื้นตัวแต่เศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้ต่ำกว่าศักยภาพ จากการประเมินพบว่าจะขยายตัวได้ 4.3 % รับแรงหนุนจากการบริโภค ภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัว 3.6 %จากครึ่งปีแรกที่ติดลบ 2 % การบริโภคภาครัฐบาลจะขยายตัว 4.54%จากครึ่งปีแรกที่ขยายตัว 4.7 % การลงทุนขยายตัว 7.3 %จากครึ่งปีแรกที่ติดลบ 8.8 % ส่วนการส่งออกประเมินว่าครึ่งปีหลังจะขยายตัวได้ 5.7 % แต่ยังฟื้นตัวได้ต่ำกว่าที่เราคาด ทำให้ปีนี้มีมุมมองว่าการส่งออกจะขยายตัวเพียง 3 % เท่านั้น จากก่อนหน้าที่คาดว่าจะเติบโต 5 % อย่างไรก็ตามสำหรับปัจจัยต้องติดตามอย่างใกล้ชิดคือผลกระทบจากความขัดแย้งในประเทศอิรัก ที่ผลักดันราคาน้ำมันให้ปรับตัวสูงขึ้นสูงกว่า 110 ดอลลาร์ต่อบาเรล หากน้ำมันยังอยู่ในระดับสูงเช่นนี้ จะกดดันต่อภาวะเงินเฟ้อในประเทศ รวมถึงการกีดกันทางการค้าของสหรัฐ กรณีการใช้แรงงานผิดกฎหมาย หรือเทียร์ 3 อาจกดดันต่อการส่ง ออกกุ้งและอาหารแช่แข็งของไทย ซึ่งยังไม่รวมปัจจัยนี้เข้าไปไว้ในประมาณการ แต่เชื่อว่าจะมีผลกระทบวงจำกัด เพราะที่ผ่านมาผลิตภัณฑ์กุ้งของไทยมีส่วนแบ่งทางการตลาด (มาเก็ตแชร์)ในสหรัฐลดลง จากในปีก่อน 30 % เหลือ 19 % ผลจากการที่ไทยมีปัญหาการระบาดของโรคกุ้งตายด่วน(อีเอ็มเอส)ทำให้ต้นทุนสูง ทั้งการแข่งขันในตลาดกุ้ง แช่แข็งยังรุนแรงมาก สิ่งที่ไทยควรปรับตัวคือการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สามารถแข่งขันได้ น.ส.เกวลิน หวังพิชญสุข ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า เมื่อพิจารณาการฟื้นตัวในรายหมวดธุรกิจครึ่งปีหลังนั้นพบว่า ภาคการก่อสร้างน่าจะฟื้นตัวได้ดีที่สุด จะสามารถขยายตัวได้ 5.8 % จากครึ่งปีแรกที่ติดลบ 6.8 % ผลจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างของรัฐบาลช่วยให้เอกชนมีความเชื่อมั่นการลง ทุนมากขึ้น รองลงมาคือกลุ่มค้าปลีกอานิสงส์การประชาชนมีความมั่นใจและใช้จ่ายมากขึ้น จะสามารถขยายตัวได้ 5.2 % จากครึ่งปีแรกที่ขยายตัวได้เพียง 0.3 % สำหรับสินค้าส่งออกที่คาดว่าจะเติบโตได้ดี ในหมวดสินค้าอุตสาหกรรม ทั้ง รถยนต์ คาดว่าจะขยายตัวได้ 12.0% จากครึ่งปีแรกที่ขยายตัวได้ 3.0% ผลจากข้อ ตกลงการค้าเสรีในแอฟริกาและละตินอเมริกา รองลงมาคือหมวดสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่จะขยายตัวได้ 3.9 % ปรับตัวลดลงเล็กน้อย เนื่องจากไม่ใช่ฤดูกาล ส่งออกของสินค้าดังกล่าว ส่วนสินค้าเกษตร มันสำปะหลัง ยังสามารถขยายตัวได้ดี โดยครึ่งปีหลังประเมินว่าจะมีการส่งออกเพิ่มขึ้น 7.1%จากคำสั่งซื้อคู่ค้าสำคัญอย่าง ประเทศจีน ส่วนไก่ เริ่มเข้าสู่ฤดูกาลส่งออก และได้รับปัจจัยหนุนจากความต้องการในตลาดญี่ปุ่น สำหรับความท้าทายในระยะต่อไปนั้น คือต้นทุนที่มีแนวโน้มสูงขึ้น จากราคาเชื้อเพลิงและค่าขนส่ง กดดันต่ออุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม สิ่งทอ ถีบตัวสูงขึ้น รวมถึงความเสี่ยงด้านแรงงานต่างด้าวที่มีอยู่ 1.5 ล้านคน เป็นแรงงานพม่า กัมพูชา และ ลาวประมาณ 1.39 ล้านคน ซึ่งทางการอาจมีการจัดระเบียบในเรื่องดังกล่าว ส่งผลให้ แรงงานบางส่วนอพยพกลับ แม้ทางการจะออกมาให้ข่าวว่าจะยังไม่มีการจัดระเบียบ แต่การดึงแรงงานกลับมาอาจต้องเพิ่มแรงจูงใจทำให้เป็นความเสี่ยงด้านต้นทุน Tags : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย • เศรษฐกิจ • เงินเฟ้อ • ราคาน้ำมัน