รัฐมนตรีต่างประเทศของกลุ่มสหภาพยุโรป หรืออียู ออกแถลงการณ์ประณามการยึดอำนาจในไทยและเตรียมดำเนินมาตรการลงโทษ เพื่อสนับสนุนการเรียกร้องให้ไทยกลับสู่การปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอีกครั้ง นอกจากนี้รัฐมนตรีทั้งหมดของอียูได้ระงับการเดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการ และระงับการลงนามในข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือกับไทย นอกจากนี้ กลุ่มรัฐมนตรีต่างประเทศอียูยังแสดงความเป็นห่วงอย่างยิ่งต่อสถานการณ์ต่างๆ ในไทย ดังนั้นกองทัพไทยควรจะต้องฟื้นฟูทุกอย่างให้กลับสู่สภาวะปกติ อันเป็นภารกิจอันเร่งด่วน รวมทั้งมีกระบวนการทางประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญ ผ่านระบบการเลือกตั้งที่น่าเชื่อถือ อีกทั้งกองทัพไทยจะต้องปล่อยตัวนักการเมืองที่ถูกควบคุมตัวเอาไว้ทั้งหมด รวมทั้งเคารพต่อหลักสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพ ซึ่งสหภาพยุโรปจะทบทวนความสัมพันธ์ทางทหารกับไทย โดยเนื้อหาฉบับเต็มที่อียูแถลงการณ์ จำนวน 5 ข้อ มีดังนี้ 1.สหภาพยุโรปและประเทศไทยมีความผูกพันแน่นแฟ้นต่อกันมาเป็นเวลานานทั้งในด้านการค้า การท่องเที่ยว การลงทุน วัฒนธรรม และความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนของทั้งสองฝ่าย 2.ด้วยเหตุนี้ ทางคณะรัฐมนตรีต่างประเทศสหภาพยุโรปจึงได้เฝ้าติดตามสถานการณ์ในประเทศไทยในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาด้วยความกังวลเป็นอย่างยิ่ง คณะรัฐมนตรีได้เรียกร้องให้ผู้นำทหารดำเนินการเรื่องที่เร่งด่วนที่สุดในการคืนสู่กระบวนการทางด้านประชาธิปไตยที่มีความชอบธรรมและคืนการปกครองตามหลักรัฐธรรมนูญผ่านทางการเลือกตั้งที่น่าเชื่อถือและทุกฝ่ายมีส่วนร่วม คณะรัฐมนตรียังได้ขอให้ทุกฝ่ายใช้ความยับยั้งชั่งใจสูงสุด โดยจะต้องให้ความเคารพต่อสิทธิมนุษยชนและยึดมั่นต่อสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรียังเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ทหารปล่อยตัวผู้ที่ถูกควบคุมตัวทางการเมืองทั้งหมด รวมทั้งหลีกเลี่ยงการจับกุมที่มีเหตุผลทางการเมืองและยกเลิกการควบคุมสื่อ 3.การประกาศของผู้นำทหารที่ผ่านไม่นานนั้น ยังไม่ได้ให้หลักประกันที่น่าเชื่อถือในการกลับคืนสู่การปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญ อันเป็นสิ่งจำเป็นในสถานการณ์ปัจจุบัน ทั้งนี้ จะต้องให้สถาบันทางด้านประชาธิปไตยต่างๆ สามารถกลับมาทำงานได้อย่างเต็มที่เพื่อเป็นหลักประกันการคุ้มครองและสวัสดิภาพของประชาชนทุกคน 4.ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว สหภาพยุโรปมีความจำเป็นที่จะต้องทบทวนการทำงาน โดยให้มีการระงับการเยือนอย่างเป็นทางการระหว่างกัน สหภาพยุโรปและประเทศสมาชิกจะไม่ลงนามในกรอบความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือ (Partnership and Cooperation Agreement) กับประเทศไทย จนกว่าจะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และความตกลงอื่นๆ จะได้รับผลกระทบตามสมควร โดยประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปได้เริ่มทบทวนความร่วมมือทางทหารกับประเทศไทย 5.การมีแผนดำเนินการที่น่าเชื่อถือในการ กลับสู่การปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญโดยเร็ว การมีการเลือกตั้งอันน่าเชื่อถือและทุกฝ่ายมีส่วนร่วมอย่างจริงจังเท่านั้นที่จะสามารถทำให้สหภาพยุโรปให้การสนับสนุนต่อไปได้ คณะรัฐมนตรีจึงได้ตัดสินใจที่จะดำเนินการทบทวนความสัมพันธ์กับประเทศไทยและอาจพิจารณาดำเนินมาตร การอื่นๆ ต่อไปตามสถานการณ์