รีวิว ASUS Zenfone 4: เมื่อกระเบื้องคิดจะเฟื่องฟูลอย

หัวข้อกระทู้ ใน 'เทคโนโลยี' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 15 พฤษภาคม 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    [​IMG]
    สำหรับตลาดโทรศัพท์มือถือราคาถูกในปีนี้ ต้องถือว่าค่อนข้างเป็นสมรภูมิที่ดุเดือดกันมาตั้งแต่ต้นปี ไม่ว่าจะเป็น Moto E ที่เพิ่งเปิดตัวไปไม่กี่วันที่ผ่านมา หรือ Nokia X ก็ตาม ซึ่งส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าเป็นผลเกิดจากการที่สมาร์ทโฟนสามารถผลิตได้มากขึ้นโดยมีต้นทุนที่ต่ำลง ผลพลอยได้อย่างหนึ่งคือสินค้าเหล่านี้ได้แปลงสภาพกลายเป็นสินค้าอุปโภคบริโภค (commodity) และทำให้ผู้ใช้หน้าใหม่ที่ไม่เคยสัมผัสสมาร์ทโฟนได้เข้าถึงสมาร์ทโฟนง่ายขึ้นกว่าเดิม

    ASUS เองถือเป็นหนึ่งในผู้ผลิตที่เข้าสู่ตลาดนี้ตั้งแต่ต้นปี โดยการประกาศชุดกลุ่มผลิตภัณฑ์สมาร์ทโฟน Zenfone ทั้งชุดในงาน CES 2014 โดยสิ่งที่เรียกเสียงฮือฮาได้มากที่สุดคือราคาของ Zenfone ที่เปิดตัวมาที่ประมาณ 99 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ (สำหรับตัว Zenfone 4 ที่ถือเป็นตัวล่างสุดของสาย) อย่างไรก็ตาม ข่าวคราวของ Zenfone ก็เงียบหายไปจนกระทั่งเมื่อช่วงปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา จึงเริ่มมีการวางจำหน่าย ส่วนในประเทศไทยก็มีงานเปิดตัว (Blognone ได้ไปลองจับด้วยเช่นกัน) เมื่อสิ้นเดือนเมษายน และเพิ่งวางจำหน่ายครั้งแรกสำหรับ Zenfone 4 ในงาน Thailand Mobile Expo 2014 ครั้งที่ผ่านมาเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม ซึ่งผมก็ไม่พลาดที่จะซื้อมารีวิวครับ

    เพื่อไม่ให้เสียเวลา สเปคไปตามอ่านได้ในข่าวเก่า เราลองมาดูรีวิวกันเลยดีกว่าครับ

    คำเตือน: ภาพเยอะมาก

    แกะกล่องและรูปลักษณ์ภายนอก


    กล่องของ Zenfone 4 ต้องยอมรับว่าเหมือนผู้ผลิตในยุคปัจจุบันที่มักจะไม่ค่อยมีอะไรบรรยายไว้ มีแต่ตัวผลิตภัณฑ์แล้วก็คำอธิบายนิดหน่อย เมื่อดึงออกมาก็จะพบตัวเครื่องวางเด่นเป็นสง่าแห่งกล่องครับ

    [​IMG]

    ของในกล่อง นอกจากจะมีตัวโทรศัพท์แล้ว ก็มีแบตเตอรี่ให้มาสองก้อน ก้อนละ 1,200 mAh ตัดปัญหาเรื่องของ "แบตน้อย" ไปได้ระดับหนึ่ง สายชาร์จ/เชื่อมต่อคอมพิวเตอร์ และอแดปเตอร์ชารจ์ไฟพอร์ต USB ถือว่ามาครบ ไม่ขาดไม่เกิน ยกเว้นหูฟังที่ต้องพึ่งตัวเองกันไปครับ ไม่มีแถม

    [​IMG]

    เนื่องจากเคยมีลองจับมาแล้ว ผมขออนุญาตข้ามว่าเครื่องประกอบด้วยอะไรบ้างภายนอก แต่มีจุดหนึ่งที่น่าสนใจที่จะต้องยกมากล่าวในรีวิวนี้ คือการแกะฝาหลังเครื่องจะมีร่องให้ใช้เล็บหรือเครื่องมือช่วยแกะให้งัดออกมาด้านมุมซ้ายมือของเรา (ขวาของเครื่อง) แบบเดียวกับ Geeksphone Keon ซึ่งแนวทางนี้ผมชอบมากกว่าของ Nokia X ที่ต้องดันฝาแบบไม่รู้ชัดเจนว่าจะต้องแงะหรือดันตรงไหน

    [​IMG]

    สิ่งหนึ่งที่ผมไม่ชอบคือผิวสัมผัสของฝาหลัง เพราะให้ความรู้สึกเหมือนกับถือกระดาษอยู่ ไม่ใช่ว่าเพราะจับแล้วรู้สึกว่าพลาสติกไม่หนา แต่จับแล้วผิวสัมผัสมันให้ความรู้สึกเป็นกระดาษ แง่หนึ่งทำให้มันรู้สึกว่าไม่สมกับมือถือระดับสามพันบาท แง่หนึ่งให้ความรู้สึกเหมือนถือวัสดุที่รักสิ่งแวดล้อม (ทำนองรีไซเคิลได้ง่าย) แต่ความรู้สึกแรกจริงๆ ที่ขึ้นมาพอได้จับฝาหลังคืออยาก ‘ขยำ’ แบบขยำกระดาษ ซึ่งผมก็ไม่รู้ว่าดีหรือไม่ (เรื่องแบบนี้เป็นปัจเจกบุคคล ซึ่งผมก็แก้ไขด้วยเคส)

    [​IMG]

    สิ่งที่หงุดหงิดในแง่สุนทรียศาสตร์อีกอันคือ ต้องมีโลโก้อินเทลปรากฏตลอดเวลา ผมเข้าใจได้ในเชิงการตลาดว่าอยากให้คนจดจำนะ แต่ปกติสติ๊กเกอร์ที่มีโลโก้อินเทล ไม่นานถ้าไม่ถูกคนใช้แกะออกไป ก็จะเป็นที่ว่าเก่าจนหลุดไปเอง เพียงแต่สงสัยว่าจำเป็นขนาดนั้นด้วยหรือ? แต่ปัญหานี้แก้ได้ด้วยเคสเช่นกัน

    [​IMG]

    นอกนั้นถือว่าทำมาดีมาก ทั้งปุ่มกดที่เอาใจใส่ในเรื่องลวดลาย ส่วนด้านหน้าสัมผัสเองไม่รู้สึกว่าเป็นสินค้าราคาสามพันบาทแม้แต่น้อย คือในส่วนหน้าตานี้โอเคครับ ดีมาก ทันสมัย เนี้ยบจริง (ในภาพผมติดฟิล์มไปแล้วนะครับ) ส่วนภายในถือว่าทำได้ดี สำคัญก็คือบอกหมดครับว่าเสาอะไรอยู่ตรงไหน อย่างเช่นในภาพด้านล่างที่บอกชัดเจนว่านี่คือเสาอากาศสำหรับสัญญาณโทรศัพท์

    [​IMG]

    [​IMG]

    รูปลักษณ์ภายนอกโดยทั่วไปของเครื่องถือว่าหรูหราระดับหนึ่ง จะบอกว่าเพราะ ASUS สนใจในรายละเอียดอาจจะพอบอกได้ เพราะเมื่อถือแล้วใช้งานจริง ภายนอกไม่ได้ต่างจากโทรศัพท์มือถือราคาระดับกลางเลย งานนี้ถึงแม้สัมผัสฝาหลังอาจจะดูแย่ไปสักหน่อย แต่พอมาเจอความหรูหราด้านหน้าและโดยรวมถือว่า โอเคเลยครับ เอาไปถือเดินห้างใหม่แถวชิดลมได้ไม่อายใคร

    [​IMG]

    [​IMG]

    สิ่งหนึ่งที่ทำให้ผมหงุดหงิดอย่างมากกับ Zenfone 4 คือเรื่องเสียงของลำโพงตัวหลักที่ไม่ดังมาก อยู่ระดับพอๆ กับ Xperia Z เพราะผมมักจะอยู่ห่างเครื่องหรือเดินบนถนนที่เสียงดัง ผลคือผมมักจะพลาดการรับสายบนเครื่อง Zenfone 4 เป็นประจำ ในแง่นี้ Nokia X ให้เสียงที่ดังกว่า ส่วนเสียงที่ขับออกมาจาก Zenfone 4 จะติดแนวกังวาน (echo) มากไปนิด

    อย่างไรก็ตาม ลำโพงที่เอาไว้คุยโทรศัพท์หรือสนทนาปกติ (ear speaker) กลับให้เสียงที่คมชัดและดีมาก ซึ่งต้องชื่นชมว่าทำได้ดีจนผมทึ่ง แม้อาจจะดีไม่เท่า Moto X หรือ Droid Ultra แต่ถือว่าชัดเอาการ ชัดพอๆ กับ Moto G

    หมดเรื่องทรวดทรวงและสรีระแล้ว ก็ได้เวลาภายในครับ “ซอฟต์แวร์”

    ซอฟต์แวร์


    Zenfone 4 ใช้ระบบปฏิบัติการภายในเป็นแอนดรอยด์รุ่น 4.3 (และได้รับคำมั่นสัญญาว่าจะได้ 4.4 KitKat แน่ๆ) ซึ่งได้รับการปรับแต่งด้วย ZenUI อีกทีหนึ่ง หน้าตาที่ออกมาเหมือนกับลูกผสมระหว่าง Vanilla Android กับ iOS ครับ

    [​IMG] [​IMG]
    [​IMG] [​IMG]

    โดยภาพรวมก็ไม่ต่างจากแอนดรอยด์ปกติที่ใช้ มีแอพจำนวนหนึ่งที่ติดมาให้ด้วย (และผมไม่คิดว่ามันมีความจำเป็นอะไรขนาดนั้น) อย่างเช่น Mirror, Note, Omlet (เอาไว้แชท) ซึ่งด้วยความเคยชิน ผมต้องการจะไปปิดการใช้งาน (disable) แอพเหล่านี้ แต่ก็ทำไม่ได้

    [​IMG] [​IMG]
    [​IMG] [​IMG]

    อย่างไรก็ดี แอพที่มีประโยชน์มากๆ ก็ยังมีอยู่ อย่าง Weather ที่เป็นแอพพยากรณ์อากาศ ซึ่งบอกได้ละเอียดมากๆ ถึงขั้นระดับรังสี UV ในแต่ละวัน ทำให้ไม่ต้องเสียเวลาหาลงแอพเพิ่ม

    [​IMG] [​IMG]

    ในส่วนของรายละเอียดสเปค และประสิทธิภาพก็ตามด้านล่างนี้ สิ่งหนึ่งที่พบก็คือ Zenfone 4 จับสัญญาณ GPS ได้รวดเร็วพอสมควร เร็วจนผมทึ่ง แต่ก็มีข้อจำกัดตรงที่ถ้าอยู่ในรถไฟฟ้าที่กำลังวิ่ง หรืออาคารสูง ก็แกว่งหรือจับไม่ได้เลยเช่นกัน ทำนองเดียวกัน ด้วยความที่ไม่มีตัววัดแสง ก็ต้องปรับความสว่างหน้าจอกันเอง (ซึ่งเอาจริงๆ แล้ว ก็น่าจะใส่มาได้ แต่ก็เข้าใจว่าอาจจะมีต้นทุนเพิ่มขึ้น ทำให้กดลงไปอยู่แถว 3,000 บาทลำบาก) แล้วก็ความจำที่มาให้ 8GB ก็อาจจะน้อยไปนิด แต่โชคดีที่ซื้อ Micro SD มาใส่เพิ่มได้ เลยไม่น่าเป็นปัญหามากนัก

    [​IMG] [​IMG]
    [​IMG] [​IMG]

    อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือการที่ ASUS มีบริการของตัวเอง ไม่ใช่เพียงแต่ Cloud Storage 5 GB ของตนเองในชื่อว่า ASUS WebStorage เท่านั้น แต่ผู้ใช้สามารถซิงค์ข้อมูลอย่างประวัติการเข้าเว็บผ่าน Browser ตัวหลักของระบบปฏิบัติการได้ด้วย

    การใช้งานจริงในชีวิตประจำวัน


    เมื่อถึงสถานการณ์ในการใช้จริง สิ่งแรกที่ผมพบ (และคิดว่าจะเป็นปัญหาของ Zenfone 4 ถ้าไม่มีแบตสองก้อน) คือการใช้พลังงาน โดยแบตหนึ่งก้อนอยู่ได้ประมาณ 6 ชั่วโมงเศษๆ เท่านั้น ก่อนที่จะต้องวิ่งหาที่ชาร์จอยู่ (คือขึ้นเตือนที่ 15% ว่าควรหาที่ชาร์จได้แล้ว) ทั้งนี้ผมใช้ตามปกติ มีเปิดเล่นอินเกรสบ้าง ซึ่งทางออกอันหนึ่งก็คือเปิดโหมด Ultra-saving mode ซึ่งก็ไม่ได้ต่างจาก STAMINA mode ของ Xperia แม้แต่น้อย

    [​IMG] [​IMG]

    หากไม่พูดถึงประเด็นเรื่องพลังงาน ถือว่า Zenfone 4 สามารถตอบสนองงานพื้นฐานได้ดีและไม่มีอาการช้าจนปวดหัวแบบ Nokia X ค่อนข้างลื่นไหลและทำงานได้ดีภายใต้สเปคลักษณะนี้ เล่นเกมอย่าง Ingress ได้ไม่มีปัญหา

    [​IMG] [​IMG]
    [​IMG] [​IMG]

    อย่างไรก็ตาม ผมกลับพบว่าแป้นพิมพ์ที่แถมมาให้ ค่อนข้างใช้งานยาก และสำคัญคือกินหน่วยความจำสูง บางทีเวลาพิมพ์ต้องรอให้ข้อความขึ้น ซึ่งเมื่อผมจะเข้าไปปิดการใช้งานแป้นพิมพ์แล้วใช้ Google Keyboard ผลก็คือปิดไม่ได้ ทำให้ประสิทธิภาพโดยรวมในการเรียกแป้นพิมพ์อื่นขึ้นมาใช้งานตามตกลงไปด้วย

    อีกเรื่องที่ไม่เข้าใจทาง ASUS ก็คือ ในเครื่องมีทั้ง Browser ที่เป็นตัวหลักของเครื่อง และ Google Chrome มาให้อีกหนึ่งอัน ซึ่งตามจริงแล้วผู้ใช้สมควรที่จะมีสิทธิในการปิดหรือเลือกตัวใดตัวหนึ่ง แต่ก็ไม่เข้าใจว่าทำไมถึงไม่อนุญาตให้ปิด Browser ตัวหลักของเครื่อง แล้วให้ระบบเรียกใช้งาน Google Chrome อย่างเดียวก็น่าจะพอ

    ด้วยความที่ Zenfone 4 ใช้ได้สองซิม เราจึงสามารถกำหนดและตั้งค่าได้ว่าจะใช้อย่างไร โดยเวลาโทรออกปุ่มโทรจะระบุชัดเจนว่าอยากจะโทรซิมไหน

    [​IMG] [​IMG]

    อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่อาจจะถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ มากกว่าเรื่องทั้งหมดที่ได้กล่าวไป อยู่ที่เรื่องของการรับสัญญาณ เพราะเครื่องรับสัญญาณโทรศัพท์ได้เข้าขั้น ‘แย่’ โดยหลายครั้งที่ผมประสบปัญหาการเชื่อมต่อข้อมูล (data connection) หลุดอยู่ประจำ จนทำให้ผมต้องตัดสินใจเปลี่ยนเครื่องใช้งาน โดยเมื่อทดสอบกับ Nexus 5 ใต้เสาสัญญาณที่สยามพารากอน ตัวเครื่องสามารถรับสัญญาณได้ดี

    [​IMG]

    แต่เมื่อพอมาทดสอบอีกจุดหนึ่ง คือบริเวณชั้น 4 ของห้าง Terminal 21 ผลที่ได้ก็เป็นดังภาพ อัตราการรับสัญญาณของ Zenfone 4 แย่กว่า Nexus 5 อย่างชัดเจนในขาลง (downlink)

    [​IMG]

    ในการใช้งานจริง ผมทดสอบจากสถานีพร้อมพงษ์ไปถึงสยาม โดยยืนเล่น Twitter บนนั้น พบว่าเมื่อใช้ Zenfone 4 ผมเจอสัญญาณหลุดหลายครั้งกลางทาง มากถึง 3 ครั้ง เมื่อเทียบกับ Moto G เพียง 1 ครั้ง (บนผู้ให้บริการค่ายเดียวกันคือทรู) และเมื่อเปลี่ยนซิมเป็นอีกค่าย (บนผู้ให้บริการเดียวกันทั้งสองเครื่องคือ AIS) ก็ยังเป็นลักษณะเดียวกัน แสดงว่า Zenfone 4 มีปัญหาในมิติการรับสัญญาณ ซึ่งในมุมมองผม นับว่าเป็นเรื่องที่น่ากังวลพอสมควร

    โดยภาพรวม ถ้าคิดว่าใช้งานทั่วไป โดยไม่ได้พึ่งบริการด้านข้อมูล (data) ก็ถือว่าสอบผ่านอยู่ เพราะใช้งานได้ลื่นไหล ไม่ติดขัด อาจจะมีอะไรที่ยังไม่เข้าที่บ้าง ถือว่าให้อภัยได้ แต่ถ้ามีการใช้บริการด้านข้อมูล อาจจะต้องผิดหวังมาก และเป็นเรื่องที่น่ากังวลสำหรับ Zenfone 4 ซึ่งควรจะต้องหาทางรีบแก้ไขให้ได้

    เสริม: ตัวปุ่มกดจริงสามอันที่อยู่ด้านล่างจอ เวลากลางคืนจะไม่มีแสง ดังนั้นแล้วต้องอาศัย 'สัญชาตญาณ' เล็กน้อยครับ

    กล้อง


    ในมิติกล้อง Zenfone 4 ทำออกมาได้ค่อนข้างจะโอเคอยู่ คือสมกับราคา เพียงแต่ว่าเหนือคู่แข่งอย่าง Nokia X มากพอสมควรตรงที่มี Auto-focus มาให้ และโหมดการถ่ายภาพที่หลากหลายมาก

    [​IMG]

    [​IMG]
    ภาพถ่ายที่ออกมาถือว่าใช้ได้ อย่างไรก็ตามสีอาจจะดูสดจนเพี้ยนธรรมชาติได้ ตัวอย่างเช่นภาพหมูแดงด้านล่าง ซึ่งสีของหมูจริงๆ ออกสีชมพู แต่เมื่อถ่ายด้วย Zenfone 4 ออกมาเป็นสีแดงสวยแบบไม่ต้องใส่สีแดงตอนทำให้เหนื่อย

    [​IMG]

    [​IMG]

    ในที่แสงทั่วไป ภาพถ่ายถือว่าออกมาใช้ได้ดีทีเดียว ตัวอย่างเช่นกระปุกน้ำเชื่อมใบเมเปิ้ลหรือในห้างสรรพสินค้าแถวชิดลมแห่งหนึ่ง ด้านล่างนี้

    [​IMG]

    [​IMG]

    อย่างไรก็ตาม หากถ่ายในที่มีแสงค่อนข้างจัด กล้องจะเจอกับอาการม่วงอมชมพูอย่างสบายๆ

    [​IMG]

    ส่วนการถ่ายในที่มืด แม้จะไม่ได้เทียบเท่ารุ่นใหญ่อย่าง Zenfone 5/6 แต่ก็ถือว่าให้ภาพที่ดี แม้จะบอกตอนแรกว่าไม่ได้กล้อง PixelMaster ก็ตาม (ตอนเปิดกล่องมาก็มีเขียนนะว่ามาพร้อมกับกล้องนี้ด้วย) อย่างไรก็ตามไม่ได้สว่างอะไรขึ้นมากมาย เหมือนกับรุ่นใหญ่อย่าง Lumia 1020

    ถ่ายด้วยโหมด Auto
    [​IMG]

    ถ่ายด้วยโหมด Night
    [​IMG]

    บทสรุป


    [​IMG]

    โดยส่วนตัวแล้ว แม้ว่ามือถืออย่าง Zenfone 4 จะมีข้อเสียนิดๆ หน่อยๆ และมีจุดที่ควรจะปรับปรุงให้ดีกว่านี้ได้ ทว่า ด้วยราคาที่ 2,990 บาท และสามารถทำได้ขนาดนี้ ต้องยอมรับว่า ASUS ทำการบ้านมาดีมาก และถือว่าเป็นโทรศัพท์ที่จ่ายต่อราคาแล้ว น่าจะคุ้มค่าที่สุดในเวลานี้ และเมื่อพูดราคาขึ้นมา ข้อด้อยทั้งหลายที่ไม่เป็นปัจจัยสำคัญย่อมจะอยู่ในสถานะ “ให้อภัยได้”

    อย่างไรก็ตาม ปัญหาเรื่องของการรับสัญญาณอาจจะเป็นจุดอ่อนอันหนึ่งที่ถือเป็นเรื่องสำคัญสำหรับ ASUS ซึ่งจะต้องเร่งทำงานแก้ไขเป็นการด่วน ก่อนที่สินค้าจะกระจายไปทั่วประเทศ เพราะผู้ใช้คงไม่รู้สึกดีแน่ๆ หากว่าการเข้าถึงสัญญาณข้อมูลขาดๆ หายๆ เพราะโทรศัพท์รับสัญญาณได้ไม่ดี

    ถ้าถามว่าน่าซื้อหรือไม่? เรื่องนี้ผมอาจจะฟันธงลงไปตรงๆ ไม่ได้ แต่ถ้าถามหามือถือสักตัวที่คุ้มราคา และทำงานได้ไม่แพ้รุ่นกลางๆ Zenfone 4 ก็จะตอบโจทย์ในแง่นี้ ซึ่งสิ่งที่น่าสนใจคือในตอนที่ผมไปซื้อ เท่าที่สังเกตคนที่ซื้อโทรศัพท์เหล่านี้ มักจะเป็นเด็กๆ ที่ต้องการสมาร์ทโฟนราคาไม่แพง แต่ตอบโจทย์การใช้งานได้ดีระดับหนึ่ง หรือไม่ก็เป็นคนที่เริ่มเปลี่ยนมาใช้สมาร์ทโฟนเป็นครั้งแรก (อายุประมาณ 50 ขึ้นไป จากการประเมินด้วยสายตา) ดังนั้นแล้ว Zenfone 4 อาจจะตอบโจทย์คนเหล่านี้ได้ดี

    ข้อดี

    • ประสิทธิภาพการใช้งานที่ดี
    • ราคาถูกและคุ้มค่า
    • ดูหรูหราเกินราคาค่าตัว
    • กล้องที่ดีเกินตัวพอสมควรในบางโหมดการใช้งาน

    ข้อด้อย

    • มีปัญหาเรื่องของการรับสัญญาณข้อมูล (data connection)
    • ฝาหลังที่น่าจะทำได้ดีกว่านี้
    • แอพไม่มีประโยชน์ที่มีมาในเครื่อง ควรจะเข้าไปปิดการทำงานได้
    • แบตที่หมดอย่างรวดเร็ว (ถ้าแถมสองก้อน ไม่ใช่ปัญหา ถ้าไม่แถม เป็นข้อด้อยสำคัญ)
    • เพิ่ม ปุ่มกดจริงสามอันที่อยู่ด้านล่างจอไม่มีไฟ เวลาใช้งานตอนกลางคืนจะลำบาก
    ASUS, Mobile, Review, Zenfone
     

แบ่งปันหน้านี้