'เงินติดล้อ'รุกไมโครไฟแนนซ์

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 23 มิถุนายน 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    "เงินติดล้อ"เมินขาดทุนลุยสินเชื่อไมโครไฟแนนซ์ พร้อมเดินหน้าขยายธุรกิจต่อเนื่อง ขณะที่เอ็นพีแอลอยู่ที่ 6%

    นายปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ซีเอฟจี เซอร์วิส จำกัด หรือ "เงินติดล้อ" เปิดเผยถึงการทำธุรกิจสินเชื่อตลาดสดหรือไมโครไฟแนนซ์ของบริษัทว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา บริษัทมียอดสินเชื่อคงค้าง 75 ล้านบาท มีการปล่อยสินเชื่อไปแล้ว 9,000 ครั้งจากลูกค้าทั้งสิ้น 2,500 ครัวเรือน มียอดสินเชื่อที่ปล่อยไปรวมแล้ว 331 ล้านบาท จาก 50 ชุมชนทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด ในปีนี้บริษัทมีแผนที่จะขยายตลาดไปตามหัวเมืองใหญ่ในต่างจังหวัดมากขึ้น เช่นอุบลราชธานี หนองคาย ขอนแก่นโคราชและเชียงใหม่

    ทั้งนี้สินเชื่อตลาดสดของบริษัทเป็นสินเชื่อสำหรับลูกค้าที่ให้กับพ่อค้าแม่ค้าในตลาดสด ที่เดิมพึ่งเงินกู้นอกระบบอยู่ โดยมีวงเงินสินเชื่อต่อรายตั้งแต่ 5,000-50,000 ล้านบาท แต่หากเป็นลูกค้าเก่าจะได้รับวงเงินสูงสุด 100,000 บาท อัตราดอกเบี้ย 28% เน้นการปล่อยกู้เพื่อใช้หมุนเวียนในกิจการมากกว่าการขยายธุรกิจ และในสิ้นปีนี้บริษัทตั้งเป้าหมายว่าจะมีตลาดสดที่เข้าไปให้สินเชื่อเพิ่มเป็น 72-75 แห่ง ในส่วนของสินเชื่อคาดว่าจะปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ 150 ล้านบาท และทำให้ยอดสินเชื่อคงค้างเพิ่มขึ้นเป็น 100 ล้านบาท

    เขากล่าวว่า ที่ผ่านมาสินเชื่อที่ปล่อยไปกลายเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ประมาณ 6% เทียบกับมาตรฐานสากลในต่างประเทศที่อยู่ที่ 5% แต่บริษัทไม่ได้มีเป้าหมายที่จะปรับลดเอ็นพีแอลลง เนื่องจากมองว่าธุรกิจนี้ยังอยู่ในช่วงทดลอง และทดสอบตลาด เพื่อเรียนรู้ความเสี่ยงที่รับได้

    นอกจากนี้ยังยอมรับว่าธุรกิจดังกล่าวมีต้นทุนที่สูงและยังไม่สามารถทำกำไรแม้จะผ่านมา 3 ปีแล้วก็ตาม โดยมีต้นทุนต่อรายได้คิดเป็น 130% เทียบกับทั้งบริษัทที่มีต้นทุนต่อรายได้อยู่ที่ 60% แต่บริษัทถือว่าเป็นธุรกิจที่ต้องลงทุนทั้งบุคลากร เทคโนโลยี และเวลาในการสร้างความเชี่ยวชาญในแต่ละพื้นที่ ส่วนเอ็นพีแอลที่อยู่ในระดับสูงกว่าต่างประเทศบริษัทไม่ได้กังวลมากนัก เพราะแต่ละประเทศย่อมมีความแตกต่างกัน

    อย่างไรก็ตามหากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)สามารถผลักดันแนวทางการทำธุรกิจนาโนไฟแนนซ์ให้เป็นรูปธรรมได้จะส่งผลดีกับธุรกิจและประชาชนรากหญ้าที่พิงพาเงินกู้นอกระบบอยู่ ซึ่งเมื่อมองไปแล้วโอกาสในธุรกิจนี้ยังมีอยู่อีกมาก แต่ยอมรับว่าในระยะแรกยังติดกฎระเบียบบางอย่างที่ทางการต้องเร่งแก้ไข

    “ไมโครไฟแนนซ์ยังเป็นของใหม่สำหรับประเทศไทย เมื่อปีก่อนที่ธปท.และกระทรวงการคลังพูดเรื่องนาโนไฟแนนซ์ขึ้นมาเราก็มีความหวังว่าธุรกิจนี้กำลังจะถูกเปลี่ยนโมเดล แต่ก็เงียบไปในที่สุด เคยมีการเรียกประชุมถามความเห็นแบงก์ แต่ก็มีแบงก์ใหญ่ถามคำถามแรกขึ้นมาว่า ธปท.จะยอมให้คิดดอกเบี้ยเพิ่มได้หรือไม่ หลังจากนั้นก็เงียบกันไป ในส่วนของบริษัทมองว่าโครงการนี้เป็นการลงทุน ในขณะนี้ก็ต้องขาดทุนอยู่ เพราะลูกค้าแต่ละพื้นที่แตกต่างกัน เราตั้งเป้าที่จะเป็นผู้เชี่ยวชาญก็ยอมรับว่าต้องใช้เวลาในการเรียนรู้”

    นายปิยะศักดิ์ยังกล่าวอีกว่าในช่วง 5 เดือนแรกการขยายสินเชื่อจำนำทะเบียนรถหรือเงินติดล้อซึ่งเป็นสินเชื่อหลักของบริษัทยังเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยปล่อยสินเชื่อไปแล้ว 4,000 ล้านบาท ทำให้มียอดสินเชื่อคงค้าง 11,400 ล้านบาท ในสิ้นปีนี้คาดว่าจะเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ 13,500 ล้านบาท ในส่วนของการขยายสาขาในปีนี้มีอยู่ที่ 305 แห่ง ในสิ้นปีนี้มีแผนที่จะเปิดอีก 15 แห่งทำให้สิ้นปีจะมีสาขาทั้งสิ้น 320 แห่ง

    นอกจากนี้ในช่วงต้นที่ผ่านมาบริษัทได้ออกประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลในช่วง 5 เดือนแรกสามารถขายได้แล้ว 12,000 ราย คิดเป็นเบี้ยประกัน 10 ล้านบาท จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 50-80 ล้านบาท ส่วนประกันรถยนต์ในช่วงที่ผ่านมาสามารถขายได้แล้ว 40 ล้านบาท จากเป้าหมายทั้งปีตั้งไว้ที่ 250 ล้านบาท โดยในช่วงที่เหลือของปีเชื่อว่าจะทำได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

    Tags : ปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล • เงินติดล้อ

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้