สำรวจพอร์ตลงทุน "วิชัย ทองแตง" รุกคืบครองหุ้น 5 บริษัทในตลาดหุ้น พบมูลค่าการถือครองพุ่งใกล้ 4 พันลบ. จากการรวบรวมข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา พบว่า นายวิชัย ทองแตง ทนายความชื่อดังในฐานะนักลงทุนรายใหญ่เริ่มกลับเข้ามามีบทบาทในตลาดหุ้นไทยอีกครั้ง โดยเข้ามาลงทุนถือครองหุ้น 5 บริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย ซึ่งมีมูลค่าการถือครองหุ้นปัจจุบัน รวม 3.78 พันล้านบาท ประกอบด้วย บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BGH ถือครองหุ้น 154.99 ล้านหุ้น คิดเป็น 10.01% มีฐานะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 2 ซึ่งหากพิจารณาที่มูลค่าการถือครองรวมอยู่ที่ 2.5 พันล้านบาท หุ้นบริษัท ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ FORTH 70 ล้านหุ้น คิดเป็น 7.29% มีฐานะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 2 มูลค่าการถือครองปัจจุบันอยู่ที่ 399 ล้านบาท บริษัท อาร์พีซีจี จำกัด (มหาชน) หรือ RPC ถือหุ้น 279 ล้านหุ้น คิดเป็น 21.4% มีฐานะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 มูลค่าการถือครอง 485.90 ล้านบาท บริษัท ตงฮั้ว คอมมูนิเคชั่นส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TH จำนวน 60 ล้านหุ้น คิดเป็น 9.84% มีฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ อันดับ 2 มูลค่าการถือครอง 133.80 ล้านบาท ล่าสุด ได้เข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุน บริษัท ทีดับบลิวแซด คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TWZ 510 ล้านหุ้น คิดเป็น 9.8%และมีฐานะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 2 จากข้อมูลดังกล่าวจะเห็นว่าการเข้าลงทุนของนายวิชัย ทองแตง ส่วนใหญ่จะเข้าลงทุน โดยการถือครองหุ้นในอันดับ 1และ 2 ทำให้สะท้อนได้ว่าการเข้าลงทุนในแต่ละบริษัทมีเป้าหมายที่จะเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นเท่านั้น ขณะที่การเคลื่อนไหวราคาหุ้นของบริษัทที่บุคคลดังกล่าวเข้าไปลงทุนตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกบริษัท โดยบริษัทกรุงเทพดุสิตเวชการ หุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้น 130% หุ้นฟอร์ท เพิ่มขึ้น 2.78% หุ้นอาร์พีซีจี เพิ่มขึ้น 16.23% หุ้นตงฮั้ว เพิ่มขึ้น 82.81% และหุ้นทีดับบลิวแซด 43.75% ด้านนายวิชัย ทองแตง ในฐานะลงทุนรายใหญ่ กล่าวยอมรับว่า ภายหลังจากที่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาจัดระเบียน และเกิดปฏิรูปเศรษฐกิจจริงจัง จากการดำเนินการดังกล่าวของคสช. จึงทำให้ความเชื่อมั่นกลับมา โดยเฉพาะความเชื่อมั่นด้านการลงทุน ในตลาดหุ้นไทย จะเห็นว่าในช่วง 6-7 เดือนที่ผ่านมา หลังเกิดปัญหาภายในประเทศ แต่ในแง่การลงทุนตลาดหุ้นไทย สะท้อนให้เห็นว่า ไม่ได้รับผลกระทบ เหมือนวิกฤติต้มยำกุ้ง และวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ แต่บริษัทจดทะเบียนของไทยยังสามารถอยู่รอดได้ และไม่ได้รับผลกระทบ โดยยังสามารถบริหารได้ บริษัทยังมีอัตราการเติบโต และทำกำไรได้อยู่ ยกเว้นเพียงมูลค่าตลาดรวมของบริษัทจดทะเบียน ที่ปรับตัวลดลงเท่านั้น "ตรงนี้จึงเป็นโอกาสที่ผมมองเห็น และเป็นสิ่งที่ผมมีความถนัด จึงสนใจเข้ามาลงทุนซื้อกิจการ หรือลงทุนถือหุ้นใหญ่" นายวิชัยกล่าวย้ำว่า หลักการลงทุนของเขา จะไม่ชื่นชอบการลงทุนในลักษณะที่เป็นศัตรูกับบริษัทที่จะเข้าไปลงทุน หรือ hostile takeover นอกจากนี้การเข้าไปร่วมธุรกิจ เจ้าของจะต้องเปิดใจ และเชื้อเชิญเขาเข้าร่วมลงทุน ขณะเดียวกันก็ต้องมองเห็นวิธีคิด และวิธีการทำธุรกิจของผู้บริหารที่จะเข้าไปร่วมทำธุรกิจด้วย "กรณีของทีแซดดับบลิว เป็นธุรกิจที่คอมพรีเมนท์กับธุรกิจของซีทีเอช และการพูดคุยกับผู้บริหารของบริษัท ทำให้เห็นแนววิสัยทัศน์ของผู้บริหาร เนื่องการการเข้าร่วมทุนครั้งนี้ เรายังให้เขาบริหารต่อไป เพียงแต่ผมจะเป็นผู้คอยส่งเสริม และช่วยสนับสนุนให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งเท่านั้น" ส่วนนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ กล่าวว่า การที่นายวิชัย ทองแตง นักลงทุนรายใหญ่ ได้เข้ามาลงทุนในช่วงนี้ เพราะภาพรวมเศรษฐกิจ มีแนวโน้มดีขึ้นหลังจากการเมืองเปลี่ยนแปลง และภาพรวมตลาดหุ้นไทยมีแนวโน้มฟื้นตัว ถือว่าเป็นจังหวะที่ดีในการลงทุนโดยเฉพาะการซื้อกิจการ(เทคโอเวอร์) และการควบรวมกิจการเพื่อต่อยอดธุรกิจ ซึ่งการเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นมีโอกาสจะได้รับผลตอบแทนทั้งในส่วนต่างราคาหุ้นที่เพิ่มขึ้นและผลตอบแทนจากเงินปันผล รวมถึงมูลค่ากิจการที่จะเพิ่มขึ้นด้วย "ในช่วงนี้จะเห็นว่ากระแสการเทคโอเวอร์ และควบรวมกิจการคึกคัก เพราะเมื่อสถานการณ์เศรษฐกิจมีแนวโน้มที่ดีขึ้น การกระตุ้นการลงทุนภาครัฐก็ทำให้มีความเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจ กลับเข้ามาทำให้เอกชนมีความต้องการลงทุนมากขึ้น โดยเฉพาะบริษัทในกลุ่มนายวิชัย ทองแตง ก็ยังมีแผนที่จะซื้อกิจการอย่างต่อเนื่อง "นักวิเคราะห์กล่าว Tags : วิชัย ทองแตง • ตลาดหุ้น • หลักทรัพย์