นักเศรษฐศาสตร์ซิตี้แบงก์แนะไทยเร่งปฏิรูปเศรษฐกิจ-การเมือง สร้างสมดุลสนับสนุนการเติบโตภายในประเทศ นักเศรษฐศาสตร์ซิตี้แบงก์แนะไทยเร่งปฏิรูปเศรษฐกิจ-การเมือง สร้างสมดุลสนับสนุนการเติบโตภายในประเทศ สร้างกันชนรับมือผลกระทบจากคาดการณ์เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยกลางปีหน้า มองไทยยังดึงดูดเอฟดีไอไหลเข้าเพราะเป็นแหล่งมีโภคภัณฑ์กับสินทรัพย์เพื่อการผลิตอยู่มาก แต่ยังต้องลงทุนสาธารณูปโภคโครงสร้างพื้นฐาน เพิ่มขีดแข่งขันชิงความได้เปรียบให้ได้มากที่สุด เพื่อเป็นศูนย์กลางเออีซีที่จะเกิดขึ้นปี 2558 และเป็นแกนกลางเชื่อมโยงการผลิตกระจายสู่กลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวี ๐เร่งปฏิรูปรับมือดบ.สหรัฐขึ้น หลังจากเดินทางมาเยี่ยมเยียนให้ข้อมูลลูกค้าของธนาคารในไทย จุน ตรินิแดด นักเศรษฐศาสตร์ซิตี้แบงก์ ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจไทยและฟิลิปปินส์ ให้โอกาสสื่อในเครือเดอะ เนชั่น รับฟังข้อมูลมุมมองเขา เกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยและการดำเนินนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) โดยเขาคาดว่าเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยกลางปีหน้า เพราะพลวัตขับเคลื่อนเศรษฐกิจสหรัฐฟื้นตัวดีขึ้น ตัวเลขจีดีพีแท้จริงดีขึ้น ตัวเลขว่างงานลดลงมาที่ 6.5%แล้ว เป็นไปตามเป้าหมายที่นายเบน เบอร์นันเก้ อดีตประธานเฟดคนก่อนตั้งเป้าไว้ และเมื่อตลาดแรงงานสหรัฐตึงตัวมากขึ้น ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ก็จะส่งสัญญาณให้รู้ว่าจะพิจารณาอัตราดอกเบี้ยอีกครั้ง "การปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดกลางปีหน้าจะส่งผลต่อดอกเบี้ยและค่าเงินบาทไทย เมื่อมีสัญญาณว่าสหรัฐจะใช้นโยบายคุมเข้มการเงินมากขึ้นจะไม่มีแรงหนุนค่าเงินบาท และจะได้เห็นผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับขึ้น หลังดอกเบี้ยทั่วโลกนำโดยสหรัฐปรับขึ้น ขณะที่นโยบายการเงินในไทยยังคงผ่อนคลาย ดอกเบี้ยที่เคยช่วยสนับสนุนตลาดการเงินกลับเป็นปัญหา กระแสเงินลงทุนทั่วโลกเปลี่ยนไปทำให้ซิตี้แบงก์คาดการณ์บาทอาจอ่อนลงอีก" เขาเพิ่มเติมคาดการณ์ด้านเศรษฐกิจการเมือง ทำให้ธนาคารปรับเพิ่มน้ำหนักลงทุนในค่าเงินบาทเป็นปานกลาง จากเดิมให้ต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ย ระยะใกล้เงินบาทอาจไม่แข็งขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 32 บาท ความท้าทายนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะไทย แต่เกิดขึ้นทั้งเอเชีย ขึ้นอยู่กับเฟดหันมาใช้นโยบายการเงินคุมเข้มขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้ง ส่งผลให้ค่าเงินตลาดใหม่รวมเอเชียอ่อนค่าลง สวนทางกับดอลลาร์แข็งค่าขึ้น ด้วยแรงหนุนจากผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐปรับขึ้น ตรินิแดดมองว่าจากข้อเท็จจริงข้างต้น เป็นเหตุผลทำให้ไทยและชาติเอเชียต้องเตรียมตัวในหลายเรื่องให้พร้อม และเรื่องที่สำคัญคือให้การปรับตัวด้านเศรษฐกิจและการเมือง เพื่อให้แน่ใจว่าเมื่อดอกเบี้ยในตลาดโลกเริ่มปรับขึ้นปีหน้า เศรษฐกิจและตลาดไทยมีการเตรียมพร้อมให้อยู่ในสถานะดีขึ้น ในการรับมือผลกระทบอาจเกิดขึ้น และนี่เป็นเหตุผลสำคัญอย่างมาก ที่ไทยต้องปฏิรูปเพื่อให้ได้รัฐบาลสามารถทำหน้าที่จัดการแผนงบประมาณให้เรียบร้อย เพื่อสร้างกันชนผลกระทบในช่วง 12 เดือนข้างหน้า เขาเพิ่มเติมว่าการเติบโตที่ดี และการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ อาจซึมซับการอ่อนค่ามากเกินไปของสกุลเงินต่างๆ ในตลาดเกิดใหม่ สำหรับไทยต้องสร้างสมดุลช่วยสนับสนุนการเติบโต ซึ่งจะช่วยให้ปีหน้าอาจได้เห็นบาทอยู่ที่ 33 บาทได้ ขณะที่ดอลลาร์แข็งค่าขึ้น ดังนั้นตอนนี้เขาแนะนำให้ลูกค้าของซิตี้แบงก์เตรียมตัวตั้งแต่ตอนนี้ด้วยการบริหารความเสี่ยงค่าเงินไว้ด้วย สำหรับไทยตรินิแดดคิดว่าเร็วไปจะใช้นโยบายคุมเข้มการเงิน จนกว่าภาพความเสี่ยงเกิดจากภาวะถดถอยหมดไป พร้อมกับมีกิจกรรมด้านการคลังมากขึ้น แต่เขาไม่เห็นความเสี่ยงจากภาวะเงินเฟ้อ ทำให้ธปท.ยังคงใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายด้วยการคงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 2% ๐เพิ่มขีดแข่งขันชิงความได้เปรียบ ตรินิแดดให้ความเห็นว่าในระยะใกล้และจากนี้ไป ไทยควรเตรียมการให้เศรษฐกิจไทยอยู่ในสถานะสามารถแข่งขันได้มาก เพื่อรองรับการเกิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(เออีซี) ในปี 2558 การลงทุนกับการใช้จ่ายของภาครัฐ ที่ผ่านมาคิดเป็นสัดส่วน 18-20%ของจีดีพี ซึ่งมีความสำคัญในการทบทวนเป้าหมายการคลังทั้งระยะสั้นและกลาง โดยรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งสามารถดำเนินการ เพื่อให้แน่ใจว่าโครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังคงแข็งแกร่ง เขาบอกว่าทั้งการลงทุนของภาครัฐและเอกชน สามารถทำให้ต้นทุนลดลงด้านการคมนาคมขนส่งลดลงต่อเนื่องได้ และเรื่องนี้สำคัญเพราะหากว่าไทยอยากสร้างความได้เปรียบเชิงกลยุทธ์ให้ได้มากที่สุดกับการเป็นสมาชิกเออีซีในปี 2558 และสร้างความได้เปรียบเชิงกลยุทธ์กับบทบาทความเป็นประเทศเชื่อมโยงพรมแดนติดกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวี (CLMV) คือ กัมพูชา, ลาว, พม่าและเวียดนาม ไทยจำเป็นต้องลงทุนอย่างมากในบางโครงการที่เป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานเพื่อการขนส่ง ในมุมมองของเขาอาจเป็นเรื่องยากลำบากทำให้โครงการขนาดใหญ่ให้เป็นที่ยอมรับได้ เพราะต้องคำนึงถึงความโปร่งใส ซึ่งจำเป็นต้องมีเพื่อให้ตลาดการเงินกับนักลงทุนเข้าใจว่าประเทศจำเป็นต้องมีหรือทำอะไร อีกเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องต้นทุน ซึ่งไม่จำเป็นต้องทำให้โครงการทุกโครงการที่มีอยู่ทั้งหมดให้เสร็จ แต่ต้องดำเนินการบางโครงการที่มีความสำคัญ อย่างท่าเรือหรือสนามบิน ระบบรถไฟ ล้วนเป็นโครงการมีความสำคัญมาก ช่วยสร้างความได้เปรียบให้ไทยให้มากที่สุด "ไทยมีสินทรัพย์เพื่อการผลิตอยู่มากมาย เป็นชาติมีทรัพยากรเป็นโภคภัณฑ์มากมาย สามารถกระจายผลผลิตส่งขายประเทศตามแนวชายแดนได้ และกระจายไประดับภูมิภาค แต่ไทยจำเป็นต้องมีสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานดีอีกมากมาย ให้พร้อมรองรับเก็บเกี่ยวผลประโยชน์มากมายให้ประเทศ และเป็นผลดีด้านการค้าภายในภูมิภาคด้วย เหล่านี้เป็นเหตุผลว่าไทยสามารถเป็นศูนย์กลางอาเซียนได้แน่นอน และเป็นศูนย์กลางให้กับกลุ่มประเทศเป็นตลาดใหม่ที่เข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ของอาเซียน" ๐เร่งพัฒนาศักยภาพดึงเอฟดีไอ นักเศรษฐศาสตร์ซิตี้แบงก์ชมว่าที่ผ่านมาไทยสามารถดึงเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) เข้ามาได้ค่อนข้างมาก ซึ่งเอฟดีไอเหล่านี้แปลงไปเป็นสินทรัพย์เพื่อการผลิต ที่มีการกระจายอยู่ในธุรกิจผลิตอาหารและธุรกิจไม่ใช่อาหาร อย่างอิเล็กทรอนิกส์และรถยนต์ เขายกให้ไทยเป็นตลาดที่เป็นเหมือนห่วงโซ่อุปทานสำคัญ และมีบทบาทด้านการส่งออกด้วย ความได้เปรียบอีกเรื่องหนึ่งที่ไทยต้องคำนึงถึงเพื่อดึงดูดเอฟดีไอ คือความฉลาดที่กำหนดความสามารถ แสวงหาประโยชน์จากภูมิภาคและจากส่วนอื่นของโลกได้ โดยการกำหนดนโยบายและสาธารณูปโภคพื้นฐานควรช่วยเพิ่มศักยภาพกับความสามารถ ดังนั้นเพื่อปรับปรุงความสามารถแข่งขัน ในภาวะแวดล้อมดอกเบี้ยต่ำ เงินเฟ้อระยะยาวอยู่ระดับต่ำ ช่วยให้เกิดผลิตภาพจากแรงงานมากขึ้น หากนำความได้เปรียบทั้งหมดมารวมกัน จะช่วยให้ไทยเป็นสวรรค์ เป็นประเทศสมบูรณ์แบบ ช่วยให้สินทรัพย์เพื่อการผลิตขยายตัวได้ และช่วยเพิ่มศักยภาพตลาดให้เหนือกว่าตลาดอื่น อีกทั้งช่วยสร้างความได้เปรียบให้ไทยในการเข้าไปอยู่ในกลุ่มเออีซี "ปัญหาอยู่ที่ว่าถ้าไทยไม่ลงทุน ไม่เพิ่มศักยภาพความสามารถด้านการส่งออกให้มากขึ้น และหากการเมืองทำให้ความคืบหน้าและกิจกรรมการลงทุนหยุดกลางคัน ไทยก็จะติดอยู่ในกับดักประเทศรายได้ปานกลาง การปรับตัวให้ดีขึ้น สามารถสร้างงานและรายได้มากขึ้น จะช่วยให้ไทยอยู่ในอันดับดีขึ้นและดีกว่าชาติสมาชิกอาเซียนอื่น หรือสามารถเทียบชั้นกับมาเลเซียได้" ตรินิแดดแนะนำในช่วงท้าย Tags : ซิตี้แบงก์ • นักเศรษฐศาตร์