ทำไมต้องหนังสือเสียง สำหรับคนที่นิยมอ่านอีบุ๊กภาษาอังกฤษอยู่บ่อยๆ อาจจะมีบางครั้งที่อยากให้มันอ่านให้เราฟังเวลาเราที่เราไม่สะดวกที่จะอ่าน เช่น เวลาขับรถ หรือ เวลาขึ้นรถลงเรือ หรือบางคนเคยใช้คินเดิลรุ่นที่มีฟีเจอร์สังเคราะห์เสียง (text-to-speech) สามารถให้คินเดิลอ่านหนังสือให้เราฟังได้ ทำให้เราไม่ต้องจ้องหน้าจอก็สามารถเสพสื่อได้ แต่เอาเข้าจริง คุณภาพเสียงที่ได้รับอยู่ในระดับที่ "พอทนได้" หลายครั้งเราจะเจอปัญหาในการอ่านผิด โดยเฉพาะการอ่านตัวย่อ, ชื่อเฉพาะ หรือเป็นชื่อในภาษาอื่น ที่ทำให้จินตนาการอันเพริศแพร้วต้องสะดุดหยุดลง อีกทั้งปัญหาของเนื้อเสียงที่ได้จากเสียงสังเคราะห์ คือจังหวะ, ความเร็วและน้ำเสียงเดียวกันตลอดทั่วทั้งเล่ม ไร้สิ้นซึ่งอารมณ์ ไม่ว่าจะอ่านหนังสือสาระวิชาการ ไม่ว่าจะนิยายในบทที่กำลังชมนกชมไม้ หรือว่ากำลังเข้าสู่ไคลแม็กซ์ที่กำลังล่าฆ่ากันเลือดสาด เสียงที่เครื่องอ่านให้ก็ยังคงอ่านน้ำเสียงเดิม ความดังเท่าเดิม จังหวะเดิมเป๊ะ ในกรณีที่เป็นนักเรียนหรือนักศึกษาที่อยากฝึกทักษะการฟัง การฟังเสียงจากคนพูดจริงๆ ย่อมดีกว่าเสียงสังเคราะห์ในแง่ความถูกต้องของการออกเสียง และจะดีกว่าไหมถ้าเรามีหนังสือเสียงที่อ่านโดยนักพากย์มืออาชีพจริงๆ และมีทั้งเสียงและตัวหนังสือให้เราอ่านได้ไปพร้อมๆกัน ปัญหา ปัญหาใหญ่คือ ราคาและความสะดวกในการอ่าน ถ้าเราไปเช็กราคาหนังสือเสียง (audiobook) ที่อ่านโดยผู้บรรยายมืออาชีพ ก็จะพบว่าราคาหนังสือเสียงเหล่านี้แพงระยับเสียเหลือเกิน ถ้าเป็นนิยายตกเล่มละสามสี่สิบเหรียญสหรัฐขึ้นไป เรียกได้ว่าราคาเท่ากับพอๆ กับอีบุ๊กสามเล่ม ยกตัวอย่างเช่น จาก Audible.com: A Game of Thrones เล่มแรก, Ender's Game เล่มแรก, Hunger's Game เล่มแรก, Brilliance ราคาอยู่ที่ 31.50, 31.50, 27.87, และ 10.49 เหรียญสหรัฐ ตามลำดับ อีกทั้งหนังสือเสียงทั่วไปก็จะมาเป็นเสียงเพียงอย่างเดียว ไม่มีตัวหนังสือให้อ่านตาม ดังนั้นถ้าทักษะการฟังไม่ดีจริงๆ ก็อาจจะมีปัญหาในการถอดความได้ ไม่สามารถจับใจความได้ 100% ต้องคอยกลับไปกลับมาเพื่อพยายามถอดความ หลังจากอเมซอนเข้าซื้อกิจการ Audible เมื่อหกปีก่อน ในที่สุดอเมซอนก็ใช้ฐานลูกค้าเดิมของคินเดิลที่มีจำนวนมาก และใช้กลยุทธ์ที่ถนัดคือใช้ราคาที่ถูกเข้าสู้ เข้ารุกในตลาดหนังสือเสียงครับ โดยเมื่อตุลาคมปีที่แล้ว อเมซอนเปิดให้ลูกค้าที่เคยซื้ออีบุ๊กจากอเมซอนไปแล้ว สามารถซื้อหนังสือเสียงเรื่องเดียวกันได้จาก Audible ในราคาที่ถูกมากอย่างไม่น่าเชื่อ ยกตัวอย่าง Brilliance อยู่ที่ 1.99, Hunger's Game 3.95 เรียกว่าถ้าไม่รีบนัก เก็บเงินที่จะซื้อหนังสือเล่ม ไปซื้ออีบุ๊กได้พร้อมกับหนังสือเสียงในราคาพอๆ กันเลย และล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา อเมซอนก็ปล่อยอัพเดตให้กับแอพคินเดิลบน iOS, Android ให้สามารถอ่านหนังสือเสียงได้โดยตรง ในครั้งนี้ผมจะรีวิวประสบการณ์การซื้อหนังสือเสียงผ่าน Kindle App for Android ว่ามันให้ประสบการณ์การอ่านที่ดีอย่างไร โดยการใช้ Kindle App for Android รุ่นล่าสุด (4.5.0.123) ครับ การซื้อหนังสือเสียง อันดับแรก เราต้องมีหนังสืออีบุ๊กที่เคยซื้อไว้กับทางอเมซอนเสียก่อน เวลาเปิดคินเดิลแอพขึ้นมา ที่เมนูด้านซ้ายจะมีรายการที่ชื่อว่า Audio Upgrades เพื่อแสดงให้ดูว่าในบรรดาอีบุ๊กที่เราซื้อไว้ เล่มไหนบ้างที่มีสิทธิ์ให้เราซื้อหนังสือเสียงเพิ่มเติม ซึ่งเราสามารถเลือกซื้อได้จากบนนี้เลย หรือถ้าไม่ถนัดซื้อผ่านมือถือ จะสั่งซื้อผ่านหน้าเว็บอเมซอน Matchmaker ก็ย่อมได้ เวลากดซื้อจะต้องกดสองจังหวะ เมื่อกด “Tap to Upgrade” จึงจะเป็นการซื้อจริง และถ้าพลาด ก็ยังสามารถสั่งยกเลิก (Cancel Order) ได้ตามสไตล์อเมซอนครับ หมายเหตุ: ปัจจุบันยังไม่สามารถใช้ยอดเงินที่มีอยู่ใน Amazon Gift Card มาใช้ซื้อหนังสือเสียง ทำให้เวลาซื้อต้องตัดผ่านบัตรเครดิตเสมอครับ คือ Audible อ้างว่าเป็นคนละบริษัท แต่แปลกตรงเวลาซื้อกลับไม่ต้องกรอกข้อมูลบัตรเครดิตใหม่ ตัวหนังสือจะมีขนาดใหญ่สักหน่อยคือประมาณ 120-160 MB ซึ่งจะรอให้โหลดเสร็จทั้งหมดก่อนจึงจะใช้งานหนังสือเสียงได้ การใช้งานหนังสือเสียง ในหน้าโฮม อีบุ๊กที่เราซื้อหนังสือเสียงไว้แล้วจะมีสัญลักษณ์เฮดโฟนกำกับที่มุมขวาบน ก็จะเข้าโหมดหนังสือเสียง สามารถสั่งเริ่ม/หยุด ย้อนหลัง/เดินหน้าไป 30 วินาที หรือจะตั้งเวลาให้หยุดอ่านเมื่อไร 10 นาที หรือจบบท หรือแม้จะปรับความเร็วในการอ่านได้อีกด้วย ซึ่งการทำงานในโหมดหนังสือเสียงก็จะเหมือนการฟังพ็อดคาสต์ทั่วไป เล่นได้ หยุดได้ แค่นั้นจบ แต่ที่ประทับใจคือ ถ้าเราฟังหนังสือเสียงอยู่แล้วอยากจะที่อ่านอีบุ๊กและฟังหนังสือเสียงไปพร้อมๆ กัน เพียงกดไอคอนรูปหนังสือ มันจะสลับมาแสดงโหมดอ่านหนังสือแต่ยังคงเล่นหนังสือเสียง พร้อมเน้นข้อความที่กำลังอ่านอยู่ทีละคำจนครบทั้งประโยค คือเรียกว่าถ้าฟังไม่ทันสามารถดูได้ว่าประโยคก่อนหน้านี้ เนื้อความเป็นอย่างไร ช่วยแก้ปัญหาเวลาที่เราหลุดไปก็สามารถตามเนื้อหาได้ รวมทั้งตำแหน่งที่กำลังอ่านหนังสือเสียงกับหน้าหนังสืออีบุ๊กจะตรงกัน เรียกว่าถ้ากำลังอ่านพ้นหน้า โปรแกรมก็จะเลื่อนหน้าอีบุ๊กให้ และถ้าเราพลิกหน้าอีบุ๊กเอง หนังสือเสียงก็จะข้ามไปเริ่มอ่านที่ต้นหน้าใหม่ให้ เรียกว่าเหมือนมีคนตามอ่านหนังสือให้ตลอด (ฟีเจอร์ Immersion Reading) ส่วนเรื่องตำแหน่งการฟังของโหมดหนังสือเสียง จะถูกซิงค์ระหว่างอุปกรณ์คินเดิลของเราทั้งหมด สมมติว่า ถ้าระหว่างเดินทางกลับบ้านเราใช้วิธีฟังหนังสือเสียง กลับมาถึงบ้าน หยิบ Paperwhite ขึ้นมา ก็สามารถอ่านต่อตำแหน่งที่ฟังค้างไว้ได้เลย (Whispersync for Voice) ส่วนข้อจำกัดคือ เราต้องซื้อหนังสืออีบุ๊กกับอเมซอนก่อนจึงจะให้เลือกซื้อหนังสือเสียงได้ในราคาลดพิเศษ และหนังสือเสียงที่ให้เลือกซื้อได้ในโปรแกรมนี้ยังจำกัด คือประมาณสี่หมื่นห้าพันเล่ม แต่ต่อไปก็มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สรุป ดังนั้นสำหรับใครที่มีอีบุ๊กที่ซื้อกับอเมซอนไว้แล้วและสนใจอยากได้หนังสือเสียงในราคาที่ไม่แพงนัก รวมถึงอยากได้ประสบการณ์การอ่านที่ดี หรือ นักเรียนที่อยากฝึกทักษะการฟัง ก็อาจมองหานิยายคลาสสิก ซึ่งราคาทั้งอีบุ๊กและราคาหนังสือเสียงรวมกันก็ไม่สูง และไม่ต้องลงทุนซื้ออุปกรณ์เฉพาะ น่าจะเป็นตัวเลือกที่ดีอีกทางหนึ่งครับ Amazon, Audio Books, E-book, Kindle, Review