สถาบันการเงินผวา"หนี้ครัวเรือน"พุ่ง เดินหน้าคุมลูกหนี้-เข้มปล่อยสินเชื่อ รายการ Ringside สังเวียนหุ้น ทางสถานีโทรทัศน์ NOW26 พูดคุยกันในหัวข้อ "เข้มปล่อยสินเชื่อ หนี้ครัวเรือนพุ่ง" กับสถานการณ์ระดับหนี้ครัวเรือนไทยสูง ส่งผลให้สถาบันการเงินเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อ โดยเฉพาะกลุ่มรายได้ต่ำกว่า 10,000 บาทต่อเดือน นายชุติเดช ชยุติ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส สายงานคอร์ปอเรท ไฟแนนซ์ บริษัทบัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ บมจ.บัตรกรุงไทย (เคทีซี) กล่าวว่า อัตราการเติบโตของสินเชื่อโดยรวมในปีนี้น่าจะชะลอลงจากปีก่อน ทั้งจากฐานเดิมที่สูง และจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในครึ่งปีแรก ทำให้ประชาชนไม่กล้าจับจ่ายใช้สอยมากนัก อย่างไรก็ดี มองว่าอัตราการเติบโตในช่วงครึ่งปีหลังน่าจะมีมากขึ้น จากนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทั้งนี้ ในส่วนของ เคทีซีมีสินเชื่ออยู่ 2 ประเภท คือ สินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล โดยสินเชื่อทั้ง 2 ประเภทมีอัตราการเติบโตที่ชะลอลง ไตรมาสแรกของปี 2556 สินเชื่อบัตรเครดิตเติบโตประมาณ 14% แต่ในปีนี้โตเพียง 8% เท่านั้น ขณะที่สินเชื่อบุคคลก็ยังเติบโตในอัตราที่ชะลอลงเช่นเดียวกัน ทวงด่วนลดหนี้เสีย รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส สายงานคอร์ปอเรท ไฟแนนซ์ บมจ.บัตรกรุงไทย กล่าวต่อว่า ระดับหนี้เสียของลูกค้าเคทีซีจะอยู่ในระดับต่ำกว่าอุตสาหกรรมโดยรวมทั้งหมด โดยสินเชื่อส่วนบุคคลมีหนี้เสียอยู่ระดับประมาณ 1.7% จากอุตสาหกรรมโดยรวมที่อยู่ระดับ 4% และหนี้เสียบัตรเครดิตอยู่ในระดับประมาณ 2.4% จากอุตสาหกรรมที่อยู่ระดับ 2.6-2.7% ทั้งนี้เนื่องจากบริษัทมีการจับตาการใช้จ่ายและการชำระหนี้ของลูกค้าอยู่ตลอด รวมถึงมีการปรับเกณฑ์บริหารความเสี่ยงในการรับลูกค้า เพื่อให้ระดับหนี้เสียของเคทีซีไม่สูง และการใช้จ่ายยังเติบโตได้ต่อเนื่อง ทั้งนี้ บริษัทมีเป้าหมายจะควบคุมคุณภาพหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ให้อยู่ในระดับที่ทรงตัว โดยเอ็นพีแอลในสินเชื่อบัตรเครดิตจะอยู่ที่ระดับ 1.5% และเอ็นพีแอลสินเชื่อส่วนบุคคลจะอยู่ที่ระดับ 2.2% ประกอบกับมีการขยายฐานลูกค้าบัตรใหม่เพิ่มขึ้นอีก 4 แสนราย โดยบริษัทตั้งสำรองไว้ 3 เท่าของเอ็นพีแอล "ถ้าลูกค้าไม่ชำระเงินตรงตามวันที่กำหนด ภายในสัปดาห์นั้นเราก็จะมีการส่งเอสเอ็มเอสไปเตือนเพื่อให้ชำระเงิน ไม่ได้รอให้ผ่านไป 1-2 สัปดาห์ก่อนค่อยทวง ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นลูกค้าทางหนึ่ง เพื่อให้ลูกค้าไม่เสียประวัติ และเราก็ไม่เกิดหนี้เสีย" เข้มปล่อยกู้ หวั่นหนี้เสีย นายชุติเดช กล่าวอีกว่า จากระดับหนี้ครัวเรือนในปัจจุบันที่เพิ่มสูงขึ้นถึง 80% ของจีดีพี โดยส่วนหนึ่งมาจากนโยบายของภาครัฐในอดีตที่กระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชน ส่งผลให้ลูกค้าบางกลุ่มมีหนี้เพิ่มขึ้น และอาจจะกลายเป็นหนี้เสียในอนาคตได้ ซึ่งจุดนี้ต้องระวังอย่างมาก แต่ระดับหนี้เสียในปัจจุบันยังไม่น่ากังวลมากนัก อาจเป็นเพราะลูกค้าเองมีการสำรวจสภาพคล่องของตนเองอยู่เสมอ ประกอบกับมีเครดิตบูโรที่มีข้อมูลพร้อมในการตรวจสอบสินเชื่อของลูกค้า อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันเคทีซียังไม่ขยับเกณฑ์ในการปล่อยสินเชื่อ แต่เราจะระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น โดยลูกค้าที่มีความเสี่ยงที่จะเป็นหนี้เสียมากก็คงต้องมีการปฏิเสธไปบ้าง "ที่กังวลกันว่าเมื่อมีเหตุการณ์ทางการเมืองจะทำให้เศรษฐกิจไม่ดี คนรายได้ลดลง และเอ็นพีแอลจะสูงขึ้น แต่จากประสบการณ์ที่ผ่านมาไม่เป็นอย่างนั้น เพราะอย่างเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ หรือการชุมนุมทางการเมืองครั้งก่อนๆ แทนที่จะมีการใช้สินเชื่อและชำระหนี้ช้า ลูกค้ากลับระมัดระวังการใช้จ่าย และไม่ก่อหนี้เพิ่ม รวมทั้งเราเองได้ย้ำเตือนลูกค้าเสมอว่าให้ใช้เงินให้ถูกทาง ใช้เฉพาะยามจำเป็น เมื่อกดเงินไปแล้วเป็นหนี้ก็ต้องใช้คืน ทำให้แม้จะมีเหตุการณ์ไม่ปกติ แต่เอ็นพีแอลก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นผิดปกติ" คาดสินเชื่อปีนี้โตแค่ 6-7% นางธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ภาพรวมสินเชื่อในปีนี้น่าจะโตในกรอบตัวเลขหลักเดียว จากเดิมที่ประเมินว่าจะโตประมาณ 10.6% แต่ทั้งนี้เนื่องจากตัวเลขการเติบโตของยอดสินเชื่อช่วง 3-4 เดือนแรกของปีนี้โตเพียง 8.5% เท่านั้น แม้ครึ่งปีหลังจะมองเป็นเชิงบวกมากขึ้น จากแนวโน้มเศรษฐกิจที่ดีขึ้น แต่เรายังมองกรอบการเติบโตของสินเชื่อในปีนี้ที่ 6-7% โดยสินเชื่อสำคัญที่เข้ามาขับเคลื่อนตลาดคือ สินเชื่อเอสเอ็มอี และรายย่อย จากเดิมที่เราคาดการณ์ว่าสินเชื่อรายใหญ่จะเป็นตัวขับเคลื่อนตลาด "ตอนแรกเรามองว่าสินเชื่อปีนี้น่าจะโตได้ประมาณ 10.6% แต่พอผ่านไตรมาสแรกมันโตแค่ประมาณ 8.5% เท่านั้น จึงได้มีการหั่นเป้าสินเชื่อลงเหลือประมาณ 6-7% แม้เศรษฐกิจครึ่งปีหลังน่าจะปรับตัวดีขึ้น แต่เราเชื่อว่าสินเชื่อจะขยายตัวเป็นเลขหลักเดียว" รายได้"ต่ำหมื่น"ต้องระวัง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทยฯ กล่าวอีกว่า หนี้ครัวเรือนในปัจจุบันอยู่ในระดับประมาณ 80% ของจีดีพี และทิศทางการเติบโตน่าจะเพิ่มขึ้นในอนาคต โดยปัจจัยสำคัญมาจากการใช้จ่ายที่มากขึ้นของประชาชน และนโยบายประชานิยมต่างๆ ที่ทำให้ประชาชนมีหนี้เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี สิ่งที่ต้องจับตามองแม้อัตราการเติบโตของสินเชื่อหรือหนี้เสียจะชะลอลง คือ ประชาชนจะมีเงินเพื่อจ่ายหนี้ได้ยาวนานแค่ไหน โดยปัจจุบันประชาชนมีภาระที่ต้องจ่ายหนี้คิดเป็นเงินประมาณ 30% โดยกลุ่มที่น่าเป็นห่วงมากที่สุด คือ กลุ่มที่มีเงินเดือนต่ำกว่า 1 หมื่นบาท ซึ่งมีภาระที่ต้องจ่ายหนี้มากขึ้น จากเดิมที่ต้องจ่ายหนี้ระดับประมาณ 60% แต่จากข้อมูลล่าสุดพบว่าคนกลุ่มนี้ต้องจ่ายหนี้มากขึ้นถึง 69% หรือ 2 ใน 3 ของเงินเดือนต้องนำไปใช้หนี้ "วันนี้คนกลุ่มนี้อาจจะมีกำลังพอที่จะใช้หนี้ได้ เพราะสภาพเศรษฐกิจตอนนี้ยังเอื้ออำนวย แต่ตราบใดที่ปัจจัยแวดล้อมต่างๆ เป็นลบ เช่น แนวโน้มดอกเบี้ยที่น่าจะปรับเพิ่มขึ้นในปีหน้า คนกลุ่มนี้จะสามารถประคองตัวต่อไปได้อีกหรือไม่ ซึ่งเสี่ยงมากๆ" นางธัญญลักษณ์ กล่าว Tags : หนี้ครัวเรือน • กรุงไทย • ลูกหนี้ • NOW26