"ก.ล.ต." กำหนดปีหน้าทุกจุดที่ขายหน่วยลงทุน ต้องเปิดเผยข้อมูลผลการดำเนินงาน เพื่อให้นักลงทุนรับทราบ นางดวงมน จึงเสถียรทรัพย์ ผู้ช่วยเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่ 1ม.ค. 2558 เป็นต้นไป กำหนดให้ทุกจุดที่ขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวม ต้องเปิดเผยข้อมูลผลการดำเนินงานของกองทุน เทียบกับกองทุนรวมในกลุ่มเดียวกัน ที่ผู้ลงทุนสนใจจะซื้อ เพื่อให้นักลงทุนรับทราบข้อมูล และใช้เปรียบเทียบ โดยต้องแสดงข้อมูลผลตอบแทนสูงสุด ผลตอบแทนต่ำสุดผลตอบแทนที่เป็นค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม และดัชนีเทียบวัด โดยจะแสดงผลการดำเนินงานย้อนหลัง 3 เดือน-10 ปี ก่อนตัดสินใจลงทุน ในการทำรายการผ่านอินเทอร์เน็ต หากไม่เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวให้ผู้ลงทุนทราบถือว่ามีความผิดและมีบทลงโทษ "ในแง่ของผู้ประกอบการ มีต้นทุนเพิ่มขึ้น แต่ผู้ลงทุนก็จะได้ประโยชน์มากขึ้น จะได้รู้ว่ากองทุนที่ตัวเองจะซื้อนั้น ผลตอบแทนอยู่ตรงไหนในอุตสาหกรรม เพื่อพิจารณาประกอบการตัดสินใจลงทุน โดยข้อมูลผลการดำเนินงานนี้ จะมาจากทางมอร์นิ่งสตาร์ ซึ่งสำนักงานก.ล.ต.จะจัดกลุ่มของกองทุนใหม่เป็น 5 กลุ่มหลัก ได้แก่ หุ้น ตราสารหนี้ ผสม สินค้าโภคภัณฑ์ และอสังหาริมทรัพย์ โดยในนั้นจะมีอีก 41 กลุ่มย่อย ซึ่งต่อไปเกณฑ์การจัดกลุ่มจะเป็นไปตามแนวทางนี้รวมถึงการแบ่งกลุ่มของสมาคมบริษัทจัดการลงทุนเองด้วย" เกณฑ์การจัดกลุ่มใหม่นี้ จะดูจากการลงทุนจริงของกองทุนเป็นหลักพิจารณาใน 3 รอบบัญชีว่ามีลักษณะการลงทุนอย่างไร เพื่อให้นำกองทุนมาเปรียบเทียบผลการดำเนินงานกันได้เพราะนโยบายกองทุนส่วนใหญ่จะเขียนไว้กว้างๆ ไม่เหมาะกับการนำมาเปรียบเทียบจริง เพื่อ นอกจากนี้ยังพยายามให้การจัดกลุ่มกองทุนนี้ เพื่อมีเกณฑ์เป็นมาตรฐานสากล และสามารถใช้เทียบเคียงผลการดำเนินงานของกองทุนในประเทศและต่างประเทศได้อีกด้วย เพื่อเป็นการรองรับโอกาสการลงทุนที่จะเปิดมากขึ้น โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียน เป็นต้น โดยกรอบการจัดกลุ่มกองทุนต่างๆ ได้วางแผนไว้หมดแล้วและจะเริ่มทำการจัดแยกกองทุนเข้าประเภทที่ได้แบ่งเกณฑ์ไว้ในเดือนก.ค.นี้เป็นต้นไป "ปีนี้สำนักงานก.ล.ต. จะนำเสนอแผนการจัดตั้งกองทุนรวมเพื่อการศึกษา (Education Fund) ให้กับกระทรวงการคลังด้วย โดยหวังว่าจะมีการผลักดันให้เกิดขึ้นจริง เพราะมีประโยชน์ และเงินที่ออกจากกองทุน ก็จ่ายไปเพื่อการศึกษาจริงๆ แต่ขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุปในรายละเอียด และอาจจะต้องมีการให้ประโยชน์ทางภาษีเพื่อจูงใจให้คนออมผ่านกองทุนประเภทนี้ด้วยเช่นกัน" สำนักงานก.ล.ต.ยังส่งเสริมให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) จัดตั้งกองทุนการออมหลังเกษียณ (Post Retirement Fund) เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับผู้เกษียณให้มีเงินใช้สม่ำเสมอ และป้องกันไม่ให้จ่ายเงินก้อนที่เก็บไว้ในวัยทำงานไปจนหมด โดยกองทุนนี้จะขายให้กับผู้เกษียณอายุ หรืออายุมาก เช่น 55 ปี ขึ้นไป และนำเงินไปฝากในสินทรัพย์ที่ความเสี่ยงไม่สูงเป็นหลัก โดยบลจ.อาจกำหนดรูปแบบและระยะเวลาจ่ายเงินให้แก่ผู้ลงทุนตามความต้องการ หรืออาจเปิดให้ผู้ลงทุนกำหนดเองได้ เช่น ขอรับ 5,000 บาท ทุกเดือนไปจนอายุ 80 ปี เป็นต้น "ส่วนประโยชน์ทางภาษีกองทุนรวมหุ้นระยะยาวที่จะครบอายุ กองทุนนี้จะแปลงเป็นกองทุนเปิดปกติ เมื่อครบอายุโครงการ ถ้านักลงทุนยังลงทุนในหุ้นก็ไม่ต้องขายไปไหน ถ้าครบกำหนดแล้วไม่ต่อทางรัฐก็คงมีเหตุผล หากสมาคมบลจ.เห็นว่าควรต่อก็ต้องให้ทั้ง 2 ฝ่ายพูดคุยกันด้วยเหตุผลมากกว่า" Tags : ก.ล.ต. • หน่วยลงทุน