ชงบอร์ดรื้อภาษีตลาดทุน

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 20 มิถุนายน 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    ตลาดหลักทรัพย์ หวั่นเก็บภาษีขายหุ้นกระทบความเชื่อมั่น เตรียมชงบอร์ดตั้งคณะทำงานศึกษาเก็บภาษีใหม่

    นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ไม่เห็นด้วยหากจะมีการเก็บภาษีกำไรจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ (capital gain tax) เพราะขณะนี้ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงการสร้างความเชื่อมั่น รวมถึงความเชื่อมั่นต่อการลงทุนในตลาดหุ้นไทย ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจเช่นเดียวกัน ปัจจุบันการลงทุนในตลาดหุ้น เป็นการลงทุนของนักลงทุนหลากหลายกลุ่มไม่ใช่แค่ช่องทางลงทุนของผู้มีฐานะดีเท่านั้น

    โดยเฉพาะในตลาดหุ้นไทยที่ส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนรายย่อย มีสัดส่วนการลงทุนมากกว่า 50% ของตลาด หากมีการจัดเก็บภาษีก็จะกระทบต่อนักลงทุนรายย่อย และจะมีผลต่อการส่งเสริมให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้น ซึ่งเป็นการออมในรูปแบบหนึ่ง

    “การจัดเก็บภาษี ขึ้นอยู่กับสถานการณ์และความเหมาะสมของแต่ละประเทศ ซึ่งขณะนี้ประเทศไทย ตลาดหุ้นไทยอยู่ในภาวะที่ต้องการสร้างความเชื่อมั่น จึงควรชะลอแนวคิดในเรื่องนี้ออกไปก่อน หากต้องการเพิ่มรายได้จากการจัดเก็บภาษี ควรไปเจาะผู้มีรายได้สูงมากที่ยังไม่ได้เสียภาษีหรืออยู่นอกระบบภาษี หรือเสียภาษีในอัตราน้อยกว่าที่ควร เพื่อไม่ให้มาตรการต่าง ๆ ส่งผลกระทบต่อตลาดทุนไทย”

    เช่นเดียวกับการลดหย่อนภาษีของกองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ (อาร์เอ็มเอฟ) และกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (แอลทีเอฟ) ที่เห็นว่ายังไม่ใช้เวลาเหมาะสมที่จะพิจารณาเรื่องนี้ เนื่องจากเม็ดเงินลงทุนผ่านทั้ง 2 กองทุนมีจำนวนหลายแสนล้านบาท ผู้ที่ซื้อกองทุนส่วนใหญ่เป็นคนมีเงินเดือนรายได้ปานกลาง ส่วนหนึ่งก็เป็นการเพิ่มนักลงทุนสถาบันให้กับตลาดทุนด้วย ช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้กับตลาดทุน หากเม็ดเงินเหล่านี้หายไปก็อาจจะทำให้ตลาดทุนไทยอ่อนแอลงและไม่สามารถแข่งขันได้

    ทางด้านศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ กรรมการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย คาดว่าในช่วงต้นเดือนหน้าจะเสนอที่ประชุมคณะกรรมตลาดหลักทรัพย์ เพื่อพิจารณาตั้งคณะทำงาน ศึกษาแนวทางการปรับปรุงระบบการจัดเก็บภาษีการลงทุนใหม่ เพื่อให้การจัดการเก็บภาษีมีคุณภาพมากขึ้น รวมถึงการลดการเก็งกำไรในตลาดหลักทรัพย์ให้ลดลง โดยมองว่าน่าจะช่วยสร้างความแข็งแรงให้กับตลาดทุนไทยได้

    เขากล่าวว่า ตนต้องการให้มีการปรับเปลี่ยนรูปการจัดเก็บภาษี ใหม่ให้สอดคล้องกับต่างประเทศมากขึ้น โดยเสนอให้ยกเว้นการจัดเก็บภาษีเงินปันผลบุคคลธรรมดา ที่ปัจจุบันจัดเก็บอยู่ 10 % ซึ่งในหลายประเทศไม่มีการจัดเก็บภาษีดังกล่าว เสนอให้มีการจัดเก็บภาษีแคปปิตอลเกณฑ์กับผู้ที่ถือหุ้นน้อยกว่า 6-10 เดือน ในอัตรา 5 -10 %

    แต่หากนักลงทุนขาดทุนก็จะไม่เก็บภาษีดังกล่าว ใช้วิธีจัดเก็บภาษีผ่านบริษัททรัพย์ ซึ่งการจัดเก็บดังกล่าวจะช่วยสร้างนักลงทุนระยะยาวให้มีมากขึ้น และลดการเก็งกำไรลง แต่จะยกเว้นให้กับบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ให้ยังคงซื้อขายหุ้นได้โดยไม่เสียภาษี

    รวมถึงเสนอให้มีการจัดเก็บภาษีนิติบุคคล ไม่ควรเกิน 25 % จากปัจจุบันไม่เกิน 28 % และลดภาษีบุคคลธรรมดา ที่จัดเก็บมากกว่า 30 % ให้เหลือ 25% เท่ากัน และจัดเก็บภาษีโรงเรือน ภาษีที่ดิน เพื่อจัดหารายได้ทดแทนกับการลดการจัดเก็บภาษี อย่างไรก็ตาม หากข้อเสนอนี้ได้รับการเห็นชอบจากคณะกรรมการตลท. และจัดตั้งคณะทำงาน คาดว่าจะใช้เวลาในการศึกษา 3-6 เดือน เสนอให้กับรัฐบาลชุดใหม่ได้ทัน ภายใน 1 ปี

    ทางด้านนายพงศ์พิเชษฐ์ นานานุกูล กรรมการผู้จัดการ บลจ.กสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า หากภาครัฐไม่ต่อสิทธิประโยชน์ทางภาษีกองทุนแอลทีเอฟและอาร์เอ็มเอฟที่จะหมดลงในปี 2559 นั้น ทางผู้ประกอบการเองไม่มีปัญหาอะไร โดยกองทุนแอลทีเอฟมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างนักลงทุนสถาบันเพื่อช่วยเสริมสร้างเสถียรภาพให้ตลาดทุนไทยและส่งเสริมให้ประชาชนลงทุนระยะยาวในหุ้น แต่ปัจจุบันสัดส่วนนักลงทุนสถาบันในตลาดหุ้นไม่ถึง 10% เป็นรายย่อยเกือบ 70%

    หลังจากนี้การจะสร้างสมดุลจากนักลงทุนสถาบันให้กับตลาดก็คงน้อยลงไป นักลงทุนเองก็ต้องคิดถึงการลงทุนระยะยาวในหุ้นเพื่อตัวเองเมื่อภาครัฐไม่ได้ให้ประโยชน์ทางภาษีมาเพื่อจูงใจแล้ว ทั้งนี้เชื่อว่าเงินลงทุนในกองทุนแอลทีเอฟอาจจะหายไปประมาณ 50% ทำให้บลจ.จะเปลี่ยนนโยบายกองทุน LTF เป็นกองหุ้นปกติแทน

    “เมื่อไม่ต่อประโยชน์ทางคาดว่าเงินที่มีอยู่ในระบบเดิมคงทยอยออกไปเฉลี่ยปีละ 50,000 - 60,000 ล้านบาทในช่วง 4 ปี จนหมด ซึ่งคงไม่กระทบต่อตลาดหุ้นแต่ประการใดเพราะเป็นการทยอยออกจากตลาด ในส่วนของโบรกเกอร์เองรายได้ค่าธรรมเนียมจากการซื้อขายหุ้นก็คงหายไปด้วยเพราะเงินกองหุ้นหายไปขั้นต่ำประมาณ 50,000 ล้านบาท ดังนั้น ผู้ประกอบการในตลาดทุนทุกส่วนคงต้องปรับตัวรวมถึงนักลงทุนเองด้วย ปัจจุบันมีเม็ดเงินลงทุนในกองทุนแอลทีเอฟประมาณ 230,000 ล้านบาท และอาร์เอ็มเอฟประมาณ 150,000 ล้านบาท โดยมีเงินไหลเข้ามาเฉลี่ยแต่ละปีประมาณ 70,000 ล้านบาท"

    นายวิน อุดมรัชตวนิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.วรรณ จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันสัดส่วนนักลงทุนสถาบันในไทยมี 12 - 13% หลังจากนี้เชื่อว่าเงินลงทุนส่วนนี้จะหายไปและทำให้สัดส่วนนักลงทุนสถาบันลดลงไปอีกประมาณ 2 - 3% กระทบต่อการสร้างสมดุลของนักลงทุนในตลาด ส่วนเงินลงทุนหลังปี 2559 คาดว่าจะหายไปประมาณ 50% บาง แต่เชื่อว่าจะไม่กระทบตลาดหุ้นมากนักเพราะเป็นการทยอยขายออก ในส่วนของบริษัทเองคงรอดูแรงขายว่าสุดท้ายเหลือเงินในกองทุนมากน้อยเพียงไหน แต่ถ้าเหลือน้อยมากคงปิดกองและแนะนำนักลงทุนไปลงทุนกองหุ้นปกติหรือกองทุนอื่นต่อไป

    Tags : สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ • ตลาดหลักทรัพย์ • ภาษี

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้