"ประยุทธ์" ย้ำโรดแมพ3ระยะ-ต.ค.นี้มีรัฐบาล หอการค้านอก29 แห่ง ออกแถลงการณ์จันทร์นี้ “ประยุทธ์” แจง 6 หอการค้าต่างประเทศ ย้ำเดินหน้าเศรษฐกิจไทยเตรียมอาเซียน ย้ำโรดแมพ 3 ระยะแก้ปัญหาเฉพาะหน้า จัดตั้ง 'รัฐบาล-ปฏิรูป' เดือนต.ค. จัดเลือกตั้งใน 1 ปี ด้านหอการค้า 29 แห่ง ออกแถลงจุดยืนจันทร์นี้ เรียกร้องขจัดอุปสรรคการค้า-ทุจริต ขณะที่บีโอไอเผยอนุมัติโครงการค้างใน 2-3 เดือน เล็งประกาศสิทธิประโยชน์ใหม่ วานนี้ (19 มิ.ย.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หารือร่วมกับผู้แทนหอการค้าต่างประเทศประจำประเทศไทย จาก 6 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐ อังกฤษ แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี และ ออสเตรเลีย ซึ่งถือเป็นครั้งที่ 3 ที่เรียกธุรกิจต่างชาติเข้าชี้แจง ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ เรียกหอการค้าญี่ปุ่นชี้แจง จากนั้นเป็นหอการค้าในเอเชีย โดยพยายามชี้แจงให้เข้าใจถึงการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค. และแผนการหรือโรดแมพของคสช.ก่อนที่จะจัดการให้มีการเลือกตั้งทั่วไป รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล กล่าวว่าพล.อ.ประยุทธ์ ได้ชี้แจงจะเร่งสร้างความพร้อมประเทศในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปลายปี 2558 รวมทั้งการขับเคลื่อนและสนับสนุนการลงทุนที่มีการหยุดชะงักไป รวมทั้งได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอI) ซึ่งอนุมัติโครงการไปแล้วกว่า 18 โครงการ เป็นเงินกว่า 1.2 แสนล้านบาท การจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว ทั้งที่ถูกกฎหมาย ผิดกฎหมาย และได้รับการผ่อนผัน เพื่อความสร้างความมั่นคงปลอดภัยแก่ประชาชน การแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการค้า การลงทุน การเร่งเจรจาความตกลงการค้าต่างๆ ที่คั่งค้าง เช่น การเจรจาเขตการค้าเสรี (FTA) กรอบความตกลงการพัฒนามาจากความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (RCEP) และการเร่งขยายความร่วมมือในกรอบต่างๆ เช่น อาเซียน สหภาพยุโรป (EU) ให้ยั่งยืนและเกิดประโยชน์ร่วมกัน “คสช.ตระหนักดีว่าประเทศไทยไม่สามารถอยู่อย่างโดดเดี่ยวได้ จึงตระหนักถึงความสำคัญในการยกระดับความสัมพันธ์กับทุกประเทศ บนพื้นฐานการไว้เนื้อเชื่อใจ ลดความหวาดระแวง และผลประโยชน์ร่วมกันอย่างเท่าเทียม พร้อมขอให้เชื่อมั่นในประเทศไทย ว่าประเทศไทยยังคงสนับสนุนและส่งเสริมการค้าการลงทุนจากต่างประเทศ ทั้งในแง่การต่อยอดและการเพิ่มมูลค่าการลงทุน” ย้ำโรดแมพ3ระยะสู่เลือกตั้ง นอกจากนี้หัวหน้า คสช.ได้อธิบายถึงนโยบายและเจตนารมณ์ของ คสช.ในการเข้ามาแก้ปัญหาเร่งด่วนของประเทศเพื่อให้ประเทศสามารถเดินหน้าต่อไปได้ และเร่งเดินหน้าการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ รวมทั้งการสร้างประชาธิปไตยให้เข้มแข็ง ยั่งยืน เป็นสากล ทั้งนี้หัวหน้า คสช.ได้ชี้แจงผู้แทนหอการค้าต่างประเทศประจำประเทศไทย ถึงกรอบระยะเวลาในการดำเนินการ (โรดแมพ) ของการบริหารราชการแผ่นดิน โดยแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะแรก ในช่วงเวลา 3 เดือน คสช.จะบริหารแทนรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหาเร่งด่วนที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อน เช่น การจ่ายเงินแก่ชาวนา ซึ่งรัฐบาลรักษาการในขณะนั้นไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะติดขัดข้อกฎหมาย หรือการจับกุมสิ่งผิดกฎหมายและอาวุธสงคราม การแก้ปัญหายาเสพติด การบุกรุกทรัพยากรธรรมชาติ และการสร้างสภาวะแวดล้อมให้เกิดการปรองดองสมานฉันท์ในทุกระดับ รวมทั้งการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณปี 2557 ที่ยังค้างอยู่จำนวนมาก รวมทั้งจัดทำงบประมาณปี 2558 ให้เสร็จสิ้น ส่วนระยะที่ 2 ตั้งแต่เดือนต.ค. 2557 จะมีการจัดตั้งรัฐบาล สภานิติบัญญัติ และสภาปฏิรูป ซึ่งรัฐบาลจะใช้เวลาบริหารประเทศประมาณ 1 ปี ควบคู่ไปกับการปฏิรูป และการแก้ปัญหาคั่งค้างที่ยังเหลืออยู่ รวมทั้งเตรียมความพร้อมสู่การเลือกตั้งในระยะที่ 3 นอกจากนี้ หัวหน้า คสช.ได้สรุปภาพรวมผลการดำเนินการในช่วงที่ผ่านมาว่า สามารถคืนความสงบสุขให้แก่ประเทศ และประชาชน สถานการณ์ต่างๆ ดีขึ้นตามลำดับ รวมทั้งเศรษฐกิจมีการพัฒนากว่าในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ พร้อมเปิดรับความเห็นเพื่อปฏิรูป แหล่งข่าวกล่าวว่า คสช.ได้ชี้แจงการเรียกบุคคลรายงานตัวนั้นมีจุดประสงค์เพื่อพูดคุยสร้างความเข้าใจ ไม่ใช่เป็นการควบคุมหรือกักขัง และได้ให้ความมั่นใจว่า คสช.ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความบริสุทธิ์ใจ ซื่อสัตย์สุจริต ไม่ได้มุ่งหวังผลประโยชน์แอบแฝงใดๆ ยึดมั่นผลประโยชน์ของประเทศ และประชาชนเป็นที่ตั้ง รวมทั้งความมั่งคง ปลอดภัยของประเทศ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะทำให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยที่เข้มแข็งและเป็นสากล ทั้งนี้ คสช. ยินดีรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูปจากทุกประเทศผ่านช่องทางต่างๆ ของกระทรวงการต่างประเทศ และ กระทรวงพาณิชย์ ทั้งนี้ผู้แทนหอการค้าได้แสดงความขอบคุณหัวหน้า คสช. ที่ได้เปิดโอกาสให้ได้รับฟังข้อมูล และความมุ่งมั่นตั้งใจของ คสช.ในการแก้ปัญหาของประเทศและยังคงส่งเสริมและสนับสนุนการค้า การลงทุนจากต่างประเทศ พร้อมทั้งเชื่อว่าการดำเนินการของ คสช.ครั้งนี้จะเกิดประโยชน์ และสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการค้า และการลงทุนจากต่างประเทศ 'ประยุทธ์'วอนร่วมพัฒนาประเทศไทย หอการค้าต่างประเทศรายหนึ่ง ที่เข้าร่วมหารือกับพลเอกประยุทธ์ กล่าวว่า สาระสำคัญที่หัวหน้า คสช. ต้องการสื่อสารกับหอการค้าต่างประเทศ คือ ต้องการอธิบาย ทำความเข้าใจถึงความจำเป็นของการทำรัฐประหาร ว่าต้องการรักษาความมั่นคงของชาติ ยุติความวุ่นวายของบ้านเมืองเป็นสำคัญ จึงขอร้องให้หอการค้าต่างชาติเข้าใจสถานการณ์ในประเทศไทย พร้อมกับมั่นใจการลงทุนในไทย อย่าทิ้งประเทศไทย ร่วมกันแก้ไขปัญหาและพัฒนาประเทศไทยไปพร้อมกัน นอกจากนี้ หัวหน้า คสช. ยังอธิบายถึงโรดแมพในการขับเคลื่อนประเทศไทยในระยะสั้นและระยะยาวว่าจะมีโครงการใดเกิดขึ้นบ้าง อย่างไรก็ตาม ในการหารือดังกล่าวเป็นเพียงการรับฟังและทำความเข้าใจ แต่ยังไม่ใช่การนำเสนอประเด็นปัญหาและร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการขับเคลื่อนประเทศ ซึ่งทางหอการค้าต่างประเทศคาดหวังว่าจะมีโอกาสเสนอประเด็นปัญหาเหล่านี้ต่อไปในอนาคต “บรรยากาศในห้องประชุมหารือถือว่าเป็นกันเอง ท่านประยุทธ์ถือว่าให้เกียรติเราที่เป็นต่างชาติ ยิ้มแย้ม และเป็นกันเอง ไม่มีการสั่งการใดๆ ถือว่าท่านเปิดใจให้กับนักธุรกิจ แม้จะเป็นทหารมาตลอดชีวิต จึงมีบุคลิกเฉพาะที่แตกต่างจากผู้นำที่เราเคยเห็น แต่การที่ท่านแสดงความเป็นห่วงครอบครัวนักธุรกิจต่างชาติ ที่อยู่ในไทย ถือว่าสร้างบรรยากาศที่ดีกับชาวต่างชาติมาก แม้จะยังไม่ได้หารือถึงประเด็นการรายละเอียดความร่วมมือกันในอนาคตก็ตาม” เรียกร้องแก้อุปสรรคการค้า-คอร์รัปชัน เขายังกล่าวอีกว่า สิ่งที่หอการค้าทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าต้องการให้ คสช.แก้ไข คือ การแก้ไขกฎหมายเก่าๆ บางส่วนที่เป็นอุปสรรคทางการค้า รวมถึงการป้องกันและปราบปรามการทุจริต “ผมอยู่ในเมืองไทยมานานมาก เคยผ่านรัฐประหารในประเทศไทยมาหลายครั้ง ทำให้เข้าใจสถานการณ์ในไทยเป็นอย่างดี แม้รัฐบาลในประเทศของเราจะไม่ทำกิจกรรม หรือไม่คุยกับรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่ไม่เกี่ยวกับกลุ่มนักธุรกิจที่มองหาโอกาสด้านการลงทุนใหม่ๆ ดังนั้นหาก คสช.เปิดประมูลโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเราก็พร้อมที่จะเดินหน้าเข้าร่วมประมูล แม้รัฐบาลของเราไม่ช่วยเราก็ตาม เพราะธุรกิจกับการเมืองแยกส่วนกัน” หอการค้ารายนี้กล่าว เตรียมออกแถลงการณ์ 23 มิ.ย. ด้าน นายสแตนลีย์ คัง ประธานหอการค้าต่างประเทศในไทย หรือ JFCCT กล่าวว่า JFCCT ไม่ได้เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ แต่สมาชิกหอการค้าต่างประเทศในไทย 29 แห่ง จะออกแถลงการณ์วันจันทร์ที่ 23 มิ.ย.นี้ เพื่อแสดงจุดยืนสนับสนุนการบริหารประเทศของ คสช.ที่ทำให้ประเทศไทยมีเสถียรภาพมากขึ้นหลังจากการควบคุมอำนาจเมื่อวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา หลังจากนี้ จะมีการขอนัดเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งหอการค้าในเอเชียเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของไทยมากกว่าตะวันตก เพราะว่าอยู่ประเทศไทยมานานเข้าใจคนไทยและธุรกิจไทย บีโอไอเล็งปรับสิทธิประโยชน์ใหม่ นายโชคดี แก้วแสง รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวในงานสัมมนา AutoMotive Summit 2014 ว่าบอร์ดบีโอไอจะมีความต่อเนื่องสามารถอนุมัติโครงการลงทุนที่ค้างการพิจารณาอยู่ประมาณ 6 แสนล้านบาทได้เสร็จภายใน 2-3 เดือนนับจากนี้ หลังจากเมื่อวันที่ 18 มิ.ย. ที่ผ่านมา อนุมัติการลงทุนกว่า 1.2 แสนล้านบาท ในหลายอุตสาหกรรม อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ เหล็ก ตู้แช่แข็ง เป็นต้น นายโชคดี คาดว่า บีโอไอ จะทบทวนถึงสิทธิประโยชน์ใหม่ ซึ่งมีการปรับลดสิทธิประโยชน์บางโครงการ อาทิ กิจการที่ใช้แรงงานเข้มข้น ซึ่งมีการพิจารณาไว้แล้วในสมัยรัฐบาลชุดที่ผ่านมา แต่เนื่องจากมีการแต่งตั้งบอร์ดบีโอไอชุดใหม่ จึงเป็นอำนาจของบอร์ดจะพิจารณารายละเอียดก่อนประกาศใช้ สิทธิประโยชน์ใหม่เดิมมีการกำหนดจะประกาศใช้ในวันที่ 1 ม.ค. 2558 แต่หากมีการพิจารณาปรับแก้โดยบอร์ดบีโอไอชุดใหม่ จะต้องทบทวนว่าจะมีการบังคับใช้ตามกรอบเวลาเดิมหรือไม่ และจะมีการปรับในเรื่องของหลักเกณฑ์กำหนดสิทธิประโยชน์รวมถึงประเภทของกิจการด้วยหรือไม่ แต่ตามหลักการสิทธิประโยชน์ใหม่ของบีโอไอจะต้องสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 และต้องเป็นกิจการที่สร้างมูลค่าเพิ่มเกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศ "ที่ผ่านมานักลงทุนให้ความสนใจกับกำหนดเวลาบังคับใช้สิทธิประโยชน์ใหม่ เพราะต้องมีเวลาเตรียมตัว โดยที่ผ่านมานักลงทุนได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับเรื่องสิทธิประโยชน์ที่ลดลงในบางโครงการ ทำให้บีโอไอต้องชี้แจงว่าควรพิจารณาร่วมกับภาษีนิติบุคคลที่ปรับลดลง เหลือ 20% จากเดิม 30% เพราะเป็นภาษีที่เกิดประโยชน์ตลอดการลงทุนในประเทศไทย และหากเทียบในภูมิภาคอาเซียน ภาษีของไทยน้อยกว่าสิงคโปร์เท่านั้น ซึ่งสิงคโปร์อยู่ที่ 17% มีเพียงกัมพูชาที่เท่ากับไทยเท่านั้น ส่วนที่เหลือมากกว่าไทยทั้งหมด" นายโชคดี กล่าว คาดพิจารณาอีโคคาร์เฟส2ใน2เดือน นายโชคดี กล่าวถึงความคืบหน้าการอนุมัติโครงการลงทุนผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล หรือ อีโคคาร์ เฟส 2 ว่า ขณะนี้คณะทำงานที่มีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธานได้เร่งพิจารณา คาดว่าจะมีการเสนอเข้าสู่คณะอนุกรรมการฝ่ายนโยบายที่มี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง เป็นประธาน และจะเสนอเข้าสู่บอร์ดบีโอไอในช่วง 2-3 เดือนนี้เช่นกัน ซึ่งโครงการนี้มีผลทำให้กำลังการผลิตรถยนต์จะเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 1.5 ล้านคัน มีมูลค่าลงทุน 1.38 แสนล้านบาท คาดว่า อีโคคาร์ 2 จะเริ่มผลิตเพื่อรองรับการประกาศใช้โครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์ใหม่ได้ในปี 2559 นี้ บีโอไอ มีความมั่นใจว่า ประเทศไทยยังเป็นศูนย์กลางผลิตรถยนต์ของอาเซียน เนื่องจากมีผู้ผลิตรถยนต์ต่างชาติยังเข้ามาลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งประเทศไทยยังมีผู้ผลิตชิ้นส่วนที่เข้มแข็ง สามารถเป็นซัพพลายเชนการผลิตของโลกได้ Tags : หอการค้าต่างประเทศ • พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา • คสช. • สหรัฐ • อังกฤษ • ฝรั่งเศส • เอเชีย • ความเชื่อมั่น • บีโอไอ