ซีไอเอ็มบีเล็งเปิดตัวบัตรเครดิตไตรมาส 4 เน้นเจาะลูกค้าระดับบน หวังใช้เป็นช่องทางศึกษาพฤติกรรมลูกค้า นางสาวอัญชลี จรัสยศวุฒิชัย ผู้อำนวยการอาวุโส ผลิตภัณฑ์บัตรและค่าธรรมเนียม กลุ่มธุรกิจรายย่อย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า ในไตรมาส 4 ปีนี้ธนาคารจะเปิดตัวธุรกิจบัตรเครดิตของธนาคารได้อย่างแน่นอน โดยจะเน้นกลุ่มลูกค้าที่สอดคล้องไปกับนโยบายธนาคาร นั่นคือกลุ่มลูกค้าระดับบนหรือกลุ่มซีไอเอ็มบีพรีเฟอร์ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มียอดใช้จ่ายผ่านบัตรในระดับสูง ซึ่งตลาดบัตรเครดิตสำหรับลูกค้ากลุ่มบนในปัจจุบันมียอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเฉลี่ยอยู่ที่ 5,000-6,000 บาทต่อบัตรต่อเดือน ขณะเดียวกันจะเป็นการทำการตลาดในแนวเดียวกับกลุ่มซีไอเอ็มบีที่มีการทำการตลาดในระดับภูมิภาคในคอนเซปต์ Asean For You อย่างไรก็ตามในเบื้องต้นธนาคารคงไม่ตั้งเป้าหมายขยายฐานบัตรจำนวนมากเหมือนผู้ประกอบการในตลาดขณะนี้ โดยคาดว่าหลังจากเปิดตัวในไตรมาส 4 จนถึงสิ้นปีจะมีบัตรเครดิตในหลักหมื่นใบเท่านั้น เนื่องจากธนาคารไม่ได้มีเป้าหมายที่จะสร้างรายได้หลักจากธุรกิจบัตรเครดิต แต่จะใช้ธุรกิจบัตรเครดิตเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อการศึกษาพฤติกรรมการใช้จ่ายของลูกค้า เพื่อการบริหารความสัมพันธ์ลูกค้าหรือ CRM ในผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ตามมา “ธุรกิจบัตรเครดิตจะทำให้เราเห็นพฤติกรรมของลูกค้าได้ชัดเจนเช่นลูกค้ามีลูกหรือไม่ มีโรคหรือไม่สบายบ่อยหรือเปล่า เดินทางเป็นประจำหรือไม่ด้วยสายการบินอะไร ถ้าเราต้องการเข้าใจลูกค้าก็ควรมีธุรกิจบัตรเครดิตในพอร์ตของเรา เพื่อทำซีอาร์เอ็มได้จากข้อมูลเชิงลึกรายบุคคลเหล่านี้ จึงจะเห็นว่าทุกแบงก์พยายามจะมีบัตรเครดิตให้ได้ เพื่อบริหารจัดการลูกค้าได้อย่างถูกต้อง และหากบริหารดีก็จะอยู่ได้ เพราะธุรกิจนี้มีรายได้กลับมาดูแลตัวเองได้อยู่แล้ว” นางสาวอัญชลียังกล่าวถึงแผนในการขยายบูธแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศว่า ในปีนี้ธนาคารตั้งเป้าเพิ่มบูธแลกเงินอีก 10 แห่ง จากปัจจุบันที่มีอยู่ 33 แห่ง โดยอยู่ระหว่างปรับโฉมบูธแลกเงินโดยจะเพิ่มข้อมูลการท่องเที่ยวและให้บริการไวไฟสำหรับนักท่องเที่ยวด้วย และคาดว่าในปีนี้จะมีรายได้จากบูธแลกเงินประมาณ 110 ล้านบาท เติบโต 60% ซึ่งเชื่อว่ารายได้จะเกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ เนื่องจากธุรกิจท่องเที่ยวในประเทศไทยยังขยายตัวได้ดีแม้จะมีการชุมนุมในพื้นที่กรุงเทพมหานคร แต่นักท่องเที่ยวยังคงเดินทางไปในสถานที่ท่องเที่ยวอื่น ๆ ได้โดยตรง หลังจากที่ธนาคารเปิดตัวธุรกิจโอนเงินด่วนระหว่างประเทศ (Speed Send) ในปีที่ผ่านมา มีปริมาณธุรกรรมเพิ่มขึ้นมากกว่า 100% โดยล่าสุดมียอดธุรกรรมต่อเดือนประมาณ 2,000 รายการต่อเดือน อัตราเติบโตประมาณ 30% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และในระยะถัดไปธุรกิจนี้มีแนวโน้มการเติบโตที่ชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะในปี 2558 ที่จะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ที่จะมีการเปิดธุรกิจใหม่ๆ มากขึ้น หลายบริษัทจะต้องเตรียมบุคลากรไปรองรับ ทำให้การโยกย้ายแรงงานมีมากขึ้น จึงเชื่อว่าจะเห็นการโอนเงินข้ามประเทศมีเพิ่มขึ้น ทำให้คาดว่าในแต่ละปีนับจากนี้จะเห็นการเติบโตทั้งในแง่ปริมาณธุรกรรมและรายได้ค่าธรรมเนียมในหลัก 100% ทั้งนี้กลุ่มเป้าหมายที่มุ่งเน้นในขณะนี้เป็นแรงงานจากประเทศฟิลิปปินส์และพม่า โดยฟิลิปปินส์ยังเป็นกลุ่มหลักที่ใช้บริการ เนื่องจากมีแรงงานที่ลงทะเบียนอยู่ในประเทศไทยกว่า 20,000 คน ส่วนพม่าเพิ่งเปิดประเทศไม่นานและยังไม่มีความคุ้นเคยกับการใช้บริการธนาคารพาณิชย์ ทำให้ยอมรับว่ามีความยากในการทำตลาดอยู่พอสมควร “แรงงานพม่าที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทยมีกว่าล้านคน ทุกแบงก์พยายามเข้าไปตลาดนี้ แต่ไม่ง่าย เพราะคนพม่ายังนิยมเงินสด ส่วนใหญ่จะใช้โพยก๊วนในการส่งเงินกลับ แม้ว่าค่าธรรมเนียมของธนาคารจะอยู่ที่ 150 บาทเท่านั้นและโอนได้ในเวลา 15 นาที แต่ก็ยอมรับว่ายังมีการใช้ไม่มากนัก” Tags : อัญชลี จรัสยศวุฒิชัย • บัตรเครดิต • ซีไอเอ็มบีไทย