นโยบายจำนำข้าวล้มเหลวราคาภายในพุ่ง"ไม่ยั่งยืน" ท่ามกลางภาวะการเมืองในประเทศเจอทางตัน จนไม่สามารถออกนโยบายใด ที่จะมาดูแลราคาข้าวที่ตกต่ำลงได้ ผลพวงจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ชี้มูลถอดถอนนายกรัฐมนตรีผู้ทำนโยบายจำนำข้าวและปล่อยปละละเลยไม่ระงับยับยั้งความเสียหาย สะท้อนปัจจัยบางประการที่ชี้ให้เห็นความล้มเหลวนโยบายจำนำข้าว ที่สำคัญ เมื่อการเมืองเข้าไปพัวพันกับสินค้าเกษตรมากเกินไป ก็ยิ่งตอกย้ำการแก้ปัญหาที่ยากมากขึ้น ถึงเวลาที่สินค้าข้าวจะปลอดจากการเมืองแล้วหรือไม่ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) รายงานสถานการณ์ราคาข้าวขาว 5% ของไทยปี 2552 เฉลี่ยที่ตันละ 555 ดอลลาร์ ปี 2553 ตันละ 492 ดอลลาร์ ปี 2554 ตันละ 549 ดอลลาร์ ปี 2555 ตันละ 573 ดอลลาร์ และ ปี 2556 ตันละ 518 ดอลลาร์ เดือนม.ค.-มี.ค.2557ราคามาอยู่ที่ 444 ดอลลาร์สหรัฐต่ำสุดในรอบ 6 ปี ไทยเริ่มนำโครงการรับจำนำข้าวทุกเมล็ดมาใช้ในฤดูกาลผลิตปี 2554/55 ในราคาตันละ 15,000บาท ขณะที่ราคาส่งออกอยู่ที่ตันละ 573 ดอลลาร์ แน่นอนโครงการรับจำนำทำให้ราคาข้าวไทยในตลาดโลกเพิ่มขึ้น แต่คู่แข่งอย่างเวียดนาม ราคาขายเฉลี่ยที่ตันละ 432 ดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ตลาดกลายเป็นของเวียดนาม โดยไทยส่งออกลดลงปี 2555 ไทยส่งออก 6.95 ล้านตัน ปี 2556 ส่งออกยัง"เสียแชมป์"ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ด้วยปริมาณ 6.97 ล้านตัน สินค้าข้าวก็เหมือนกับสินค้าอื่นๆ คือ ระดับราคาจะต้องขึ้นอยู่กับความต้องการซื้อ (ดีมานด์) และความต้องการขาย (ซับพลาย) ที่ผ่านมาภายใต้โครงการรับจำนำข้าว ช่วง 2 ปี 5 รอบการผลิตใช้เงิน1แสนล้านต่อรอบผลิต รวม 5 แสนล้านบาท เพื่อแลกกับการซื้อข้าวปริมาณกว่า 15 ล้านตันในสต็อกรัฐบาล กลายเป็นแรงกดดันราคาในภายหลังและความไม่คุ้มค่าของเม็ดเงินงบประมาณ กรมการค้าต่างประเทศ ประเมินสถานการณ์ราคาข้าวโลกปีการผลิต 2556/57 อยู่ที่ปริมาณ 40.9 ล้านตัน แม้เวียดนามส่งออกลดลง จากคาดการณ์ไว้ 7.5 ล้านตัน เป็น 6.5 ล้านตัน เนื่องจากประสบปัญหาการแข่งขันสูง โดยเฉพาะจากไทย ที่เปิดประมูลข้าวจำหน่ายข้าวในสต็อกรัฐบาล การส่งออกปีนี้ไทยจะเพิ่มขึ้นกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 8.5 ล้านตัน เป็น 9 ล้านตัน ภายใต้ปัจจัยสต็อกข้าวปลายปีคาดว่าจะลดลง อยู่ที่ 111.2 ล้านตัน จากปัจจัยสำคัญคือสต็อกข้าวไทยลดลง และฟิลิปปินส์มีความต้องการนำเข้าเพิ่มขึ้น จากเดิมคาดว่าจะอยู่ที่ 1.4 ล้านตัน อยู่ที่ 2 ล้านตัน ไนจีเรียนำเข้า 3 ล้านตันและจีนนำเข้าสูงสุดที่ 3.2 ล้านตัน ซึ่งไทยมีสัญญาผูกพันไว้แล้ว 1 ล้านตัน นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยการบริโภคข้าวโลกเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 474.6 ล้านตัน เนื่องจากการบริโภคของเวียดนาม เกาหลีใต้ และบราซิล ซึ่งเป็นอัตรารวมการเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1.5%สวนทางผลผลิตโลก ที่มีอัตราเพิ่มขึ้นเพียง 0.9%โดยปีนี้ ผลผลิตข้าวโลกจะอยู่ที่ 475.6 ล้านตัน "ราคาข้าวกลับสู่โลกแห่งความจริงแล้ว ทำให้ศักยภาพส่งออกข้าวของไทยกลับคืนมา เพราะไทยมีแต้มต่อเรื่องคุณภาพและความสามารถการส่งมอบที่ดีกว่าคู่แข่ง เมื่อราคาข้าวไทยสู่ภาวะปกติ จึงเชื่อว่าปริมาณการส่งออกจะเพิ่มขึ้น" ส่วนทิศทางราคาข้าวจากนี้ เชื่อว่า มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยจากเดือนพ.ค.เป็นต้นไป มีโอกาสเพิ่มขึ้นไปสูงกว่าตันละ 400 ดอลลาร์ ส่วนราคาข้าวนาปีคาดว่าจะไม่ต่ำกว่าตันละ 380 ดอลลาร์ นายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ปีนี้ไทยมีโอกาสที่จะส่งออกข้าว 8.5-9 ล้านตันเนื่องจากราคาข้าวไทยเริ่มปรับตัวลดลงตามตลาดโลก หลังจากที่ไทยไม่มีนโยบายรับจำนำข้าว ประกอบกับไทยมีแผนระบายข้าวมากขึ้น ทำให้คู่แข่งต้องทำราคาลดลงเพื่อรักษาตลาดไว้ โดยปัจจุบันราคาที่ไทยเฉลี่ยสูงกว่าเวียดนามตันละ 40 ดอลลาร์ หากประเมินเฉพาะมุมของการส่งออกข้าว "โครงการรับจำนำ" เป็นจำเลย ที่ทำให้ไทยส่งออกข้าวได้น้อยลง แต่ในมุมของราคาภายในประเทศพบว่า ตั้งแต่ปี 2552 ราคาข้าวเปลือกเจ้า มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2552 เฉลี่ยตันละ 9,500-10,600 บาท ปี 2553 ตันละ 8,300-9,000 บาท ปี 2554 ตันละ 7,700-8,200 บาท ปี 2555 ตันละ 9,600-11,500 บาท และเฉลี่ยช่วง มี.ค. ปี 2556 อยู่ที่ตันละ 9,800-10,500 บาท ขณะที่ช่วงเดือนเดียวกันปีนี้ อยู่ที่ตันละ 7,200-7,700 บาท "ตอนที่ใช้นโยบายประกันรายได้ เราเอาข้าวขึ้นรถขับไปโรงสี ยังไม่รู้ว่าจะได้ราคาเท่าใด แต่เมื่อมีโครงการรับจำนำ อย่างน้อย เราจะได้ราคาไม่ต่ำกว่าตันละ 10,000 บาทแน่นอน" ชาวนาคนหนึ่งที่จังหวัดนครนายก กล่าว ชาวนามีต้นทุนการผลิตข้าว เฉลี่ยที่ตันละ 5,858 บาท แบ่งเป็นต้นทุนผันแปร 4,731 บาท และต้นทุนคงที่ 1,127 บาท หากราคาข้าวเฉลี่ยที่ตันละ 10,000 บาท ทำให้ชาวนามีรายได้เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันท่ามกลางภาวะไร้รัฐบาล ไร้มาตรการดูแลราคา สถานภาพรายได้ของชาวนาต้องเผชิญกับการผลิตแบบไม่เหลือกำไรให้เป็นรายได้หรือไม่ นายบรรจง ตั้งจิตรวัฒนกูล อุปนายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า สถานการณ์ราคาข้าวเปลือกเจ้า กระเตื้องเล็กน้อยหลังไนจีเรียมีแนวโน้มนำเข้ามากขึ้น หลังจากที่รัฐบาลลดภาษีนำเข้า "แนวโน้มราคาข้าวประเมินว่าได้มาถึงจุดต่ำสุดแล้ว แต่ราคานี้จะลากยาวไปนานเท่าใด ต้องขึ้นกับสถานการณ์อีกครั้ง" ายบรรจงกล่าว หากประเมินสถานการณ์ราคาที่คนในวงการค้าข้าว บอกว่าถึงจุดต่ำสุดแล้ว ที่ประมาณตันละ 7,000 บาทนั้น หากคำนวณกับต้นทุน ชาวนายังมีกำไรเฉลี่ยตันละ เกือบ 2,000 บาท มองอย่างตรงไปตรงมาก็ "ไม่ขาดทุน" แต่เป็นรายได้ที่พอเหมาะพอสม กับค่าครองชีพในปัจจุบันหรือไม่ คงต้องเป็นเรื่องที่ภาคการเมืองในอนาคตต้องนำไปพิจารณา "ไม่ว่าโครงการรับจำนำ หรือโครงการลักษณะอื่นใด ต่อให้ตั้งราคาข้าวเปลือกเจ้าที่ 15,000 บาท แต่ถ้าไม่สุดโต่งแบบรับทุกเมล็ด ก็เชื่อว่าตลาดจะมีพื้นที่ให้เล่นและเมื่อถึงเวลานั้น สินค้าข้าวก็จะเข้าสู่ภาวะโลกแห่งความจริง ชาวนาก็ไม่ถูกทอดทิ้งให้ผจญชะตากรรมสงครามราคาอย่างโดดเดี่ยว" Tags : เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ • นโยบายข้าว • ราคาพุ่ง