หากยังพอจำกันได้ ปีที่แล้ว Google ได้ประกาศโครงการที่ชื่อว่า Project Loon ซึ่งเป็นโครงการใช้บอลลูนเป็นตัวกระจายและส่งสัญญาณอินเทอร์เน็ต โดยหนึ่งปีที่ผ่านมาทาง Google ได้มีการปรับปรุงไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเวลาการบินและการเชื่อมต่อสัญญาณอินเทอร์เน็ต ให้สามารถใช้บินได้นานและการเชื่อมต่อมีสิทธิภาพและง่ายมากขึ้น โดย Google คาดหวังว่าอีกภายใน 1 ปี จะสามารถใช้งานได้จริง ในช่วงเริ่มต้นโครงการ ตัวบอลลูนสามารถลอยอยู่ได้สูงสุดเพียงไม่กี่วัน ขณะที่ความเร็วในการดาวน์โหลดยังไม่ค่อยเป็นที่น่าพอใจนัก ซึ่งตลอดระยะเวลาหนึ่งขวบปีที่ผ่านมา ทาง Google ได้พัฒนาให้บอลลูนสามารถลอยได้นานขึ้น โดยบอลลูนลูกหนึ่งที่ Google ทดลองสามารถลอยอยู่ได้นานเกิน 100 วัน สิ่งที่ Google ปรับปรุงคือระบบควบคุมความสูง (altitude control system) โดยเพิ่มช่วงระยะขึ้นลงในแนวดิ่งของบอลลูน ทำให้สามารถเข้าหาลมที่มีประโยชน์ได้ (Google วางแผนให้บอลลูนอยู่ในระดับความสูง 20 กม. จากพื้นดิน ซึ่งอยู่ในชั้นบรรยากาศสตราโทสเฟียร์ที่อากาศไม่แปรปรวน และใช้ลมบนชั้นบรรยากาศนี้เป็นตัวขับเคลื่อนบอลลูน) นอกนั้นก็เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพความคงทนของบอลลูนให้สามารถทนกับสภาพอากาศแบบสุดขั้วและลมที่ความเร็วและแรงได้มากขึ้น แน่นอนว่าเมื่ออยู่บนอากาศนานมากขึ้น การคำนวณลมและสภาพอากาศ Google จำเป็นต้องคำนวณด้วยตัวเอง เพื่อหาเส้นทางลมและสภาพอากาศที่เหมาะสมที่สุด เพราะข้อมูลของลมและสภาพอากาศที่ได้จากองค์การบริหารสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (National Oceanic and Atmospheric Administration - NOAA) นั้น จะถูกพยากรณ์ไว้แค่ 16 วันล่วงหน้าเท่านั้น นอกจากนั้น Google ยังปรับปรุงความสามารถในการรับส่งข้อมูล ด้วยการเปลี่ยนมาใช้ย่านความถี่ LTE ซึ่งนอกจากจะเพิ่มความเร็วและ payloads แล้ว ยังสามารถทำให้สมาร์ทโฟนต่อสัญญาณอินเทอร์เน็ตกับตัวบอลลูนได้โดยตรง จากเดิมที่จำเป็นต้องใช้สถานีฐานและเสาอากาศเฉพาะ ทั้งนี้ Astro Teller หนึ่งในหัวหน้าทีมของ Google X คาดหวังว่าในวันเกิดปีหน้าของ Project Loon เขาน่าจะได้เห็นบอลลูนเหล่านี้ของ Google สามารถใช้งานได้จริงในอย่างน้อยสักหนึ่งประเทศบ้างแล้ว ที่มา - Wired Google, Google X, Project Loon