คสช.สั่งคลังส่งประเมินผลงานรัฐวิสาหกิจ ทั้งประสิทธิภาพ-ผลตอบแทนบอร์ด เผยมีรัฐวิสาหกิจ 5 แห่งเข้าข่าย 'วิกฤติ' ภายหลังที่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีนโยบายปรับปรุงประสิทธิภาพรัฐวิสาหกิจ โดยเฉพาะประเด็นเรื่องผู้ที่มาเป็นกรรมการและผู้บริหารระดับสูง ส่งผลให้มีกรรมการและผู้บริหารรัฐวิสาหกิจเริ่มทยอยลาออกและกระทรวงการคลังเตรียมพิจารณาโครงสร้างผลตอบแทนใหม่ นางสาวปัทมาภรณ์ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คณะทำงานโฆษก คสช. กล่าวว่าในการประชุม คสช. เพื่อติดตามความคืบหน้าในการดำเนินงานด้านต่างๆ เมื่อวันที่ 16 มิ.ย.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก และหัวหน้า คสช. ได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ไปประเมินสถานะและวิเคราะห์ประสิทธิภาพของกรรมการรัฐวิสาหกิจ และบริษัทมหาชนที่รัฐบาลถือหุ้นอยู่ทั้ง 56 แห่ง และรวบรวมรายละเอียด ทั้งเรื่องของผลตอบแทนและสิทธิประโยชน์ส่วนเกิน ค่าตอบแทนกรรมการ เบี้ยประชุม โบนัส ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่กรรมการได้รับ มาเสนอคสช.พิจารณาความเหมาะสมอีกครั้ง นางสาวปัทมาภรณ์ กล่าวว่า หัวหน้า สคร.ได้สั่งการว่าให้ สคร.ทำงานคู่ขนานกับฝ่ายเศรษฐกิจ ของ คสช. ที่มี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองหัวหน้า คสช. เป็นประธาน รวมทั้งให้จัดทำข้อเสนอให้เหมาะสมตามหลักเกณฑ์การใช้เงินงบประมาณของหน่วยงาน โดยให้คำนึงถึงขนาดของรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งที่มีขนาดไม่เท่ากันและมีลักษณะการทำงานที่แตกต่างกัน ไม่ใช่จำกัดว่าสิทธิของกรรมการในทุกรัฐวิสาหกิจต้องเท่ากัน เช่น ถ้าเป็นกรรมการของบริษัทมหาชน ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ต้องดูให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยกำหนดไว้ "เมื่อได้ข้อมูลมาแล้ว คสช.จะนำไปพิจารณา และอาจทบทวนของสิทธิประโยชน์ส่วนเกินที่นำไปสู่การปรับปรุงประสิทธิภาพของกรรมการรัฐวิสาหกิจ และบริษัทมหาชนที่รัฐบาลถือหุ้นให้มีความเหมาะสมต่อไป" เผยรัฐวิสาหกิจ5แห่ง'วิกฤติ' จากรายงาน"ข้อมูลสำคัญของรัฐวิสาหกิจไทย (SEKI)" จัดทำโดย สคร. เมื่อสิ้นเดือนเม.ย. 2557 รัฐวิสาหกิจทั้ง 55 แห่ง มีทรัพย์สินรวมทั้งสิ้น 11.81 ล้านล้านบาท หนี้สินรวม 9.29 ล้านล้านบาท และ มีรายได้รวม 5.17 ล้านล้านบาท สคร.ได้วิเคราะห์ผลดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่ง ปรากฏว่ามีรัฐวิสาหกิจ ที่อยู่ในภาวะวิกฤติ คือ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และ องค์การคลังสินค้า (อคส.) สำหรับรัฐวิสาหกิจที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) มีมูลค่าในตลาด ณ วันที่ 30 เม.ย. 2557 ทั้งสิ้น 2.1 ล้านล้านบาท คิดเป็น 16.85% ของตลาดรวม โดยบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) มากที่สุด 894,021.78 ล้านบาท รองลงมาได้แก่ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม มูลค่า 633,212.67 ล้านบาท ธนาคารกรุงไทย 252,966.71 ล้านบาท บริษัท ท่าอากาศยานไทย 278,571.15 ล้านบาท บริษัท การบินไทย 28,376.03 ล้านบาท และ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) 19,582.33 ล้านบาท สคร.เผยบอร์ดทยอยแจ้งลาออก นายประสงค์ พูนธเนศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กล่าวว่า วานนี้ (16 มิ.ย.) ได้รับแจ้งการลาออกจากตำแหน่งของนายวรวิทย์ จำปีรัตน์ ประธานธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เรียบร้อยแล้ว ส่งผลให้ยอดรายชื่อบอร์ดรัฐวิสาหกิจที่แจ้งลาออกจากตำแหน่งแล้วจำนวน 5 คน คณะกรรมการ 4 คนที่ได้แจ้งลาออกก่อนหน้านี้ ประกอบด้วย นายศิธา ทิวารี ประธานบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) นายปานปรีย์ พหิทธานุกร ประธานบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) พล.ต.ต.อรรถกฤษณ์ ธารีฉัตร ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล และ นายธานินทร์ อังสุวรังษี กรรมการธนาคารอาคารสงเคราะห์ นอกจากนี้ นายณอคุณ สิทธิพงศ์ ได้มีหนังสือแจ้งลาออกจากการดำรงตำแหน่งกรรมการ และประธานกรรมการบริษัท ไทยออยล์ เนื่องจากมีภารกิจอื่น โดยการลาออกมีผลตั้งแต่วันที่ 16 มิ.ย. 2557 เป็นต้นไป นายประสงค์ กล่าวว่าการลาออกของบอร์ดรัฐวิสาหกิจดังกล่าว เป็นผลของการส่งผ่านนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ต้องการให้การทำงานของบอร์ดรัฐวิสาหกิจทั้งหมดมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งคิดว่า จะมีบอร์ดรัฐวิสาหกิจรายอื่นที่มีแผนจะลาออกจากตำแหน่งอีกจำนวนหนึ่ง เพื่อเปิดทางให้คสช.ได้พิจารณาบุคคลที่เหมาะสมเข้ามาทำหน้าที่แทน เล็งพิจารณาโครงสร้างผลตอบแทนใหม่ ผอ.สคร.ยังกล่าวด้วยว่า เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของคสช.ในการดูแลผลตอบแทนของบอร์ดรัฐวิสาหกิจให้มีความเหมาะสม ขณะนี้ สคร.กำลังพิจารณาปรับโครงสร้างผลตอบแทนบอร์ดรัฐวิสาหกิจทั้งหมด เพื่อเสนอให้คสช.ได้พิจารณา โดยพุ่งเป้าไปที่ผลตอบแทนของบอร์ดรัฐวิสาหกิจเป็นหลัก ส่วนพนักงานนั้นยังไม่มีการพิจารณาในขณะนี้ ซึ่งส่วนใหญ่จะยึดตามสัญญาการจ้างเป็นหลัก นายประสงค์ กล่าวว่าผลตอบแทนของรัฐวิสาหกิจบางแห่งอาจอยู่ในระดับสูง จำเป็นต้องปรับให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม โดยคำนึงถึงค่าใช้จ่ายและผลการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจนั้นๆ ซึ่งส่วนตัวเห็นว่า บุคคลที่เข้ามาทำหน้าที่เป็นบอร์ดจะต้องมีจิตใจที่เสียสละต่อการทำงานให้แก่องค์กรของรัฐ ฉะนั้น เรื่องผลตอบแทนก็ไม่น่าจะเป็นผลจูงใจมากนัก “โดยหลักการแล้ว เราก็เห็นว่า บางรายจ่ายที่ให้แก่บอร์ดในลักษณะแปลกก็ไม่ควรมี ฉะนั้น ก็ต้องพิจารณาตามความเหมาะสมด้วย ถ้าเป็นรายจ่ายที่สิ้นเปลือง เราก็เห็นว่า ควรยกเลิก” รายงานข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวว่า เห็นด้วยที่จะมีการปรับลดสิทธิประโยชน์ และผลตอบแทนที่ให้แก่บอร์ดรัฐวิสาหกิจ เพราะเห็นว่า ในบางรัฐวิสาหกิจก็มีผลตอบแทนแก่บอร์ดในสัดส่วนที่สูงเกินไป และบางแห่งก็มีรายจ่ายรับรองพิเศษ ซึ่งไม่ได้มีการบันทึก ซึ่งทั้งหมดก็จะส่งผลต่อการนำส่งรายได้เข้าคลัง เพราะรัฐวิสาหกิจจะตัดเป็นรายจ่ายก่อนที่จะนำมาคำนวณเป็นรายได้ส่งเข้าคลัง Tags : คสช. • รัฐวิสาหกิจ • พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา • สคร. • เบี้ยประชุม • โบนัส • ค่าตอบแทน • เศรษฐกิจ • ร.ฟ.ท. • ขสมก. • การบินไทย • อคส.