3สัปดาห์หลังรปห.การเมือง'นิ่ง'หนุนตลาด'เงิน-ทุน'

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 16 มิถุนายน 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    3สัปดาห์หลังรัฐประหาร การเมือง'นิ่ง'หนุนตลาด'เงิน-ทุน'

    ความขัดแย้งทางการเมืองตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อเศรษฐกิจ ซึ่งส่วนที่อ่อนไหวต่อสถานการณ์ดังกล่าวหนีไม่พ้นตลาดเงิน-ตลาดทุน และหลังจากรัฐประหารได้ปรับตัวดีขึ้น นักวิเคราะห์ประเมินเป็นเพียงระยะสั้น ยังต้องจับตาสถานการณ์นับจากนี้ไป

    ตลาดหุ้น-เงิน-ตราสารหนี้ ประเมิน หลังการเมืองเปลี่ยนแปลงช่วง 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา พลิกบรรยากาศการลงทุนทุกตลาดสดใส โดยเฉพาะตลาดหุ้น โบรกเกอร์ประเมิน ดัชนีมีโอกาสทะลุ 1500 จุด นักค้าเงิน ระบุ การเมืองไม่กระทบค่าเงินบาท เนื่องจากเคลื่อนไหวตามภูมิภาคเป็นหลัก "ตลาดตราสารหนี้" หลังการเมืองเปลี่ยนพบเงินไหลเข้าบอนด์ระยะยาว ชี้เป็นสัญญาณดีมีแผนชัดเจนขับเคลื่อนประเทศ

    ในช่วง 3 สัปดาห์ที่ผ่านมาหลังเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในประเทศ โดยเฉพาะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และโรดแมพพลิกฟื้นประเทศของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ส่งผลกระทบในเชิงบวกต่อบรรยากาศการลงทุน ทั้งในตลาดหุ้น ตลาดเงิน และตลาดตราสารหนี้อย่างชัดเจน โดยเงินบาทแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องและมาเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบแคบๆ 32.00-33.00 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่ดัชนีหุ้นไทยดีดตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ล่าสุดอยู่ที่ระดับ 1,456 จุด

    นางภัทธีรา ดิลกรุ่งธีระภพ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส และนายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ บอกว่า ตลาดหุ้นไทยมีโอกาสปรับขึ้นแตะระดับ 1,500 จุดได้ แต่คงไม่ใช่เร็วๆ นี้ เพราะต้องรอให้แผนงานทางด้านเศรษฐกิจ หรือโรดแมพนำไปสู่การปฏิบัติจริง ในระหว่างนี้ตลาดหุ้นไทยอยู่ในช่วงพักฐาน เพื่อรอปรับขึ้น

    นายเผดิมภพ สงเคราะห์ กรรมการผู้จัดการ สายงานจัดการเงินทุนบุคคล บล.กสิกรไทย กล่าวว่าในช่วงครึ่งปีหลัง ตลาดหุ้นไทยมีโอกาสปรับขึ้นสูงกว่าดัชนีเป้าหมายของปีนี้ ซึ่งคาดการณ์ไว้ที่ระดับ 1,540 จุด หากมีการปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) และปรับเพิ่มคาดการณ์กำไรบริษัทจดทะเบียน

    "ในส่วนของบล.กสิกรไทย คงมีการปรับเพิ่มคาดการณ์จีดีพีปีนี้ขึ้นอีก จากที่ได้ปรับลดลงมาอยู่ที่ 1.8% จากการลงทุนของภาครัฐที่จะออกมากระตุ้นเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับกำไรบจ.ที่คงจะมีการปรับขึ้น จากเดิมคาดว่ากำไรต่อหุ้น หรือ อีพีเอส จะอยู่ที่ระดับ 106-110 บาทต่อหุ้น"

    สำหรับในระยะสั้น ตลาดหุ้นคงปรับขึ้นในกรอบแคบๆ และปรับขึ้นเป็นรายกลุ่ม หรือรายตัวตามกระแสข่าวที่ออกมา มากกว่าจะปรับขึ้นเป็นภาพรวม เพราะที่ผ่านมาตลาดหุ้นได้ปรับขึ้นสะท้อนภาพบวกทางการเมือง และเศรษฐกิจแล้ว ขณะเดียวกันต้องติดตามผลการประชุมของเฟด ซึ่งคาดว่าจะลดวงเงินคิวอีอีก ทำให้สภาพคล่องหายไป จึงคาดการณ์ได้ว่าเม็ดเงินลงทุนต่างชาติจะยังไม่เข้ามา ตลาดหุ้นจะปรับลดลงบ้าง ซึ่งหากดัชนีปรับลดแนะนำให้ซื้อสำหรับการลงทุนในช่วง 3-6 เดือน

    น.ส.อาภาภรณ์ แสวงพรรค ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นในสัปดาห์นี้มีแนวโน้มผันผวน และช่วงที่มีการแข่งขันฟุตบอลโลก จะมีการชะลอลงทุน อีกทั้งกลางสัปดาห์จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือกนง. ซึ่งต้องติดตามทิศทางดอกเบี้ย แต่ดีบีเอสคาดว่าดอกเบี้ยจะทรงตัวที่ 2% เพราะระดับนี้สามารถหนุนการเติบโตเศรษฐกิจได้ดีอยู่แล้ว และระยะกลาง-ยาวเงินเฟ้อก็มีทิศทางที่จะสูงขึ้น

    ตลาดเงินหมดกังวลการเมือง

    ด้านนายธิติ ตันติกุลานันท์ ผู้บริหารสายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในช่วง 3 สัปดาห์ หลังจากที่คสช.เข้ามายังไม่หวือหวามากนัก เพราะตลาดไม่ได้กังวลกับสถานการณ์ทางการเมืองของไทย โดยเงินบาทยังคงเคลื่อนไหวตามตลาดภูมิภาคเป็นหลัก ช่วงนี้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง เพราะเป็นช่วงที่ความเสี่ยงตลาดไม่มี หรือสถานการณ์นิ่งมาก ทำให้นักลงทุนต้องการรับความเสี่ยงมากขึ้น เห็นจากตลาดหุ้นในภูมิภาคและสหรัฐปรับเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ค่าเงินในภูมิภาคแข็งค่าขึ้น

    ส่วนแนวโน้มในระยะถัดไป ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยของเศรษฐกิจโลกเป็นหลัก จนกว่าจะมีประเด็นใหม่เข้ามาในตลาด ซึ่งภาวะที่ตลาดรับความเสี่ยงได้ทำให้สินทรัพย์ในภูมิภาคได้รับความสนใจ และเงินบาทมีโอกาสแข็งค่าได้ในระยะนี้ โดยมองว่าเงินบาท ในระยะนี้จะเคลื่อนไหวในกรอบแคบๆ หรือ 32.00-33.00 บาทต่อดอลลาร์

    "ช่วงนี้ตลาดนิ่งมาก เพราะเศรษฐกิจโลกยังมีการเติบโต สหรัฐและยุโรปยังไปได้ ปัญหาเงินเฟ้อยังไม่มา สภาพคล่องยังดีอยู่ แม้จะมีการปรับลดคิวอีหรือขึ้นดอกเบี้ยใน 6-12 เดือนจากนี้ ทำให้ทุกคนรับความเสี่ยงได้มาก ช่วงสั้น มีโอกาสที่เงินบาทจะแข็งค่า แต่ไม่หวือหวามากนัก ต้องรอดูฉากต่อไป เพราะตอนนี้สิ่งที่นิ่งอยู่แต่คงไม่นิ่งไปได้ตลอด ต้องมีปัญหาโผล่ขึ้นมา"

    000

    (ล้อมหน้า)

    เงินไหลเข้าตราสารระยะยาวเพิ่ม

    นายสุชาติ ธนฐิติพันธ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและพัฒนาสมาคมไทย กล่าวว่า ช่วงก่อนรัฐประหาร 3 สัปดาห์ มีเงินต่างชาติไหลออกจากตลาดตราสารหนี้ 50,271 ล้านบาท โดยเป็นการไหลออกในตราสารหนี้ระยะสั้น 44,877 ล้านบาท และขายตราสารหนี้ระยะยาว 5,394 ล้านบาท

    แต่หลังเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีเงินต่างชาติไหลออก 12,921 ล้านบาท โดยยังเป็นการไหลออกในตราสารหนี้ระยะสั้น 15,733 ล้านบาท ในขณะที่มีการซื้อตราสารหนี้ระยะยาวเข้ามา 2,812 ล้านบาท ทำให้ต่างชาติมียอดถือครองตราสารหนี้ล่าสุด (11 มิ.ย.) มีมูลค่า 641,508 ล้านบาท

    ดังนั้นจะเห็นว่า ในช่วงก่อนเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองนั้น เงินที่ไหลออกส่วนใหญ่เป็นในตราสารหนี้ระยะสั้นเป็นหลัก แต่ตราสารหนี้ระยะยาวขายไม่มากโดยหลังการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เริ่มมีเงินทุนไหลกลับเข้ามาอีกครั้งในตราสารหนี้ระยะยาวตั้งแต่วันที่ 3 มิ.ย.ที่ผ่านมา ที่คสช.มีการแผนขับเคลื่อนประเทศออกมา ซึ่งบางส่วนสะท้อนถึงความเชื่อมั่นที่มีมากขึ้นของนักลงทุน

    "ปัจจุบัน เงินลงทุนส่วนใหญ่ของนักลงทุนต่างชาติยังอยู่ในตราสารหนี้ระยะยาว 88% และตราสารหนี้ระยะสั้น 12% ซึ่งเงินระยะยาวนี้เป็นเงินลงทุนที่เข้ามาจริงๆ ปัจจัยหลักที่จะส่งผลให้มีเงินทุนต่างชาติไหลกลับเข้ามาอย่างชัดเจนหลังจากนี้ คงต้องจับตาการที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) อาจจะใช้มาตรการอัดฉีดสภาพคล่องในลักษณะเดียวกันกับที่สหรัฐเคยทำ ซึ่งตลาดมองว่ามีความเป็นไปได้เช่นกัน"

    ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน มีเงินต่างชาติไหลออกแล้ว 68,497 ล้านบาท ซึ่งเป็นอีกปีที่มีเงินไหลออกต่อเนื่องจากปี 2556 ที่ไหลออก 2,565 ล้านบาท ในปี 2552 หลังเกิดวิกฤติมีเงินไหลออกจากตลาดตราสารหนี้ 10,262 ล้านบาท และหลังจากนั้น 3 ปี มีเงินไหลเข้ามาต่อเนื่อง ซึ่งปัจจัยสำคัญคือการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ของสหรัฐ ทำให้มีเงินไหลเข้ามาต่อเนื่อง 214,567 ล้านบาท ในปี 2553 และไหลเข้า 140,225 ล้านบาท และ 289,783 ล้านบาท ในปี 2554 และ ปี 2555 ตามลำดับ

    ดังนั้นจึงทำให้ยอดถือครองตราสารหนี้ของต่างชาติ ในตลาดตราสารหนี้ไทยขยับสูงขึ้นจากปี 2552 ที่มีเพียง 65,892 ล้านบาท ขยับขึ้นมาสู่ระดับ 639,405 ล้านบาทในปัจจุบัน โดยเคยขึ้นไปสูงสุดเกือบ 850,000 ล้านบาท ในช่วงเดือนเม.ย.2556 ก่อนที่จะมีความกังวลต่อการลดมาตรการคิวอีเข้ามาในตลาดหลังจากนั้น

    "เงินต่างชาติที่กลับเข้ามาลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาวหลังจากเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในครั้งนี้เข้ามาใน 2 กลุ่มอายุ คือ ในช่วงอายุ 3-5 ปี และ 5-10 ปี หรือเฉลี่ยประมาณ 7 ปี ก็ถือเป็นสัญญาณที่ดีเช่นเดียวกัน เชื่อว่าจะมีเงินระยะสั้นที่ไหลออกไปก่อนหน้าบางส่วนไหลกลับเข้ามาด้วยเช่นกัน"

    Tags : รัฐประหาร • การเมือง • เงิน • ทุน • เศรษฐกิจ • ตราสารหนี้ • คสช. • โรดแมพ

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้