การทำธุรกิจภายใต้การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ทำให้ผู้ประกอบการต้องวางแผนการดำเนินธุรกิจกันใหม่ การทำธุรกิจภายใต้สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ทำให้ผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยต้องหันกลับมาตั้งหลัก และวางแผนการดำเนินธุรกิจกันใหม่อีกครั้ง เกี่ยวกับเรื่องนี้ พิเชษฐ์ สิทธิอำนวย กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์บัวหลวง ได้พูดคุยให้ข้อมูลกับน.ส.พ.กรุงเทพธุรกิจ ถึงแผนการทำธุรกิจและเป้าหมายบริษัทจากนี้ไป โดยเขาเริ่มต้นจากการมองภาพรวมธุรกิจหลักทรัพย์ในปีนี้ว่า น่าจะกลับสู่ภาวะปกติซึ่งต่างจากปี 2556 ที่ถือว่าเป็นปีพิเศษเพราะมูลค่าการซื้อขายปีก่อนสูงถึง 5 หมื่นล้านบาทต่อวัน แต่ในปีนี้มูลค่าการซื้อขายเหลือ 3 หมื่นล้านบาทต่อวัน ในช่วงที่ผ่านมาความไม่ชัดเจนทางการเมือง ทำให้ผู้ประกอบการอาจกังวล เพราะตลาดหุ้นไทยมีมูลค่าซื้อขายเบาบาง ขณะที่การแข่งขันในธุรกิจหลักทรัพย์รุนแรงขึ้น เพราะมีผู้ประกอบการรายใหม่เกิดขึ้น มีการแข่งขันเชิงธุรกิจ โดยเฉพาะประเด็นการแย่งชิงตัวเจ้าหน้าที่การตลาด (มาร์เก็ตติ้ง) เกิดขึ้นจนเริ่มเป็นปัญหา และมีแนวโน้มจะกระทบต่อภาพรวมของอุตสาหกรรม จนทำให้สมาคมบริษัทหลักทรัพย์เตรียมออกแนวทางปฏิบัติออกมาใหม่ เพื่อใช้ควบคุม "ปัญหาแย่งชิงตัวมาร์เกตติ้งมีผลกระทบต่อภาพรวมอุตสาหกรรม และอาจทำให้เกิดความเสียหาย เหมือนในอดีตที่ผ่านมา และการแข่งขันลดค่าคอมมิชชั่นก็ไม่ได้ทำให้อุตสาหกรรมพัฒนา ถ้ามัวแต่คิดหาวิธีแข่งขันเรื่องราคาไม่ได้คำนึงถึงคุณภาพ ทำให้การพัฒนาไม่เกิดขึ้น คุณภาพก็แย่ลงไปอีก" พิเชษฐ์บอกว่าในความคิดส่วนตัวมองว่า ทำไมคนในอุตสาหกรรมไม่ช่วยกันพัฒนาให้เข้มแข็ง เพราะตอนนี้กระแสโลกเปลี่ยนแปลงไปรวดเร็ว โดยเฉพาะพฤติกรรมของนักลงทุนซึ่งเป็นลูกค้าพัฒนาไปเร็วมาก ตอนนี้ลูกค้าส่วนใหญ่มีความรู้ และรู้จักหาข้อมูล บางรายมีความรู้เชิงลึกทางระบบบัญชี สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างคือ นักลงทุนรายใหญ่ มีอายุน้อยลง ซึ่งค่าเฉลี่ยอายุของนักลงทุนรายใหญ่ ปัจจุบันลดลงมาก มาอยู่ที่ 35 ปีขึ้นไป จากเดิม 40 ปีขึ้นไป ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะมุมมองการลงทุนในตลาดหุ้นเปลี่ยนไป เป็นการลงทุนหรือมีรูปแบบเหมือนการออมเงินอย่างหนึ่ง เขายอมรับว่าเมื่อลูกค้ามีการพัฒนา ในส่วนผู้ประกอบการก็ต้องเร่งพัฒนาสร้างบริการที่รองรับให้ได้ เพื่อเป็นสิ่งจูงใจที่จะดึงลูกค้าไว้กับบริษัท ดังนั้น บล.บัวหลวง จึงเลือกที่จะไม่แข่งเรื่องลดราคา แต่เน้นพัฒนาคุณภาพการให้บริการแบบครบวงจรมากกว่า โดยอาศัยเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาผสมผสาน ให้น่าสนใจบริการลูกค้า โดยตอนนี้มีทั้งเครื่องมือเลือกลงทุนหุ้น เครื่องมือสแกนคุณภาพหุ้น เครื่องมือตรวจสอบ และเครื่องมือวัดผลในการลงทุนของนักลงทุน ซึ่งสามารถวัดสถิติการลงทุนได้ด้วยตัวเอง "เครื่องมือวัดความสำเร็จในการลงทุน ถือเป็นนวัตกรรมการลงทุน เพราะเมื่อลูกค้าลงทุนแล้ว สามารถดูสถิติได้ว่าวิธีลงทุนของตัวเองประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน สามารถนำผลมาใช้เป็นฐานข้อมูลในการพัฒนาการลงทุนของตัวเองด้วย ซึ่งบริษัทพยายามทำให้ลูกค้าเรียนรู้ นำมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์กับตัวลูกค้าเอง" เขาบอกว่าในส่วนของพนักงานในบริษัทหลักทรัพย์ ก็ต้องรู้จักพัฒนาตัวเอง หากต้องดูแลลูกค้าที่มีความรู้ และความต้องการข้อมูลตลอดเวลา พนักงานก็ต้องสามารถตอบสนองลูกค้าได้ เพื่อที่จะทำให้ลูกค้ามั่นใจ และยอมรับที่จะอยู่กับบริษัทต่อไป ส่วนกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจของบล.บัวหลวง พิเชษฐ์อธิบายว่าเป็นการให้เครื่องมือการลงทุนกับลูกค้า และมุ่งเน้นขยายฐานเพิ่มขึ้น โดยอาศัยธนาคารกรุงเทพ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และที่ผ่านมามีความร่วมมือกันอย่างต่อเนื่อง และถือว่าประสบความสำเร็จ ทั้งนี้ลูกค้าของ บล.บัวหลวงในปัจจุบัน ประมาณ 20-30% มาจากฐานลูกค้าธนาคารกรุงเทพ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างเจ้าหน้าที่ธนาคารและพนักงานของบล.บัวหลวงด้วย พิเชษฐ์ กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า ในปีนี้การลงทุนในตลาดหุ้นไทยน่าจะยังผันผวนต่อเนื่อง การบริหารงาน ก็เป็นเรื่องที่ยากลำบากกับความไม่แน่นอน อย่างไรก็ตามเขาประเมินว่า มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันในตลาดหุ้นไทยน่าจะยืนได้เหนือระดับ 3 หมื่นบาทต่อวัน และหลังจากสถานการณ์การเมืองคลี่คลาย มีระบบการจัดการที่ดีก็น่าจะทำให้สถานการณ์การลงทุนมีทิศทางที่ดีขึ้น ผู้ประกอบการในธุรกิจหลักทรัพย์ ก็พอจะมีความหวังว่าผลประกอบการจะฟื้นตัวได้ในเร็ววัน Tags : พิเชษฐ์ สิทธิอำนวย • บล.บัวหลวง • การเมือง