เล็งปลดล็อกตั้งศูนย์บริหารเงิน

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 16 มิถุนายน 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    กระทรวงคลัง เล็งปลดล็อกข้อจำกัดตั้ง ศูนย์บริหารเงิน ตามข้อเสนอ แบงก์ชาติ ดันเข้าโรดแมพเร่งด่วน

    รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้บรรจุแผนการจัดตั้ง ศูนย์บริหารเงิน(Treasury Center) ไว้เป็นส่วนหนึ่งของโรดแมพเรื่องเร่งด่วนลำดับที่ 3 โดยศูนย์บริหารเงินถือเป็นส่วนหนึ่งของบริษัทหรือกลุ่มบริษัท มีหน้าที่บริหารจัดการเงินตราต่างประเทศ เช่น การซื้อขายเงินตราต่างประเทศ การบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน การบริหารสภาพคล่อง ทั้งจากการกู้ยืมระหว่างบริษัทในเครือและแหล่งเงินอื่น

    ทั้งนี้ กระทรวงการคลังเห็นควรสนับสนุนการประกอบธุรกิจศูนย์บริหารเงิน จึงได้ออกประกาศกระทรวงการคลัง เรื่องคำสั่งรัฐมนตรี ให้ไว้แก่ศูนย์บริหารเงิน พ.ศ.2547 และ พ.ศ.2553 เพื่อสนับสนุนการดำเนินธุรกิจระหว่างประเทศ

    การดำเนินงานของศูนย์บริหารเงิน ยังคงมีปัญหาจากภาษีอากร รวมทั้งกฎระเบียบที่ไม่เอื้ออำนวย จึงจำเป็นในการแก้ไขปัญหาอุปสรรคดังกล่าวในประเด็นสำคัญต่อไปนี้ 1.ภาษีธุรกิจเฉพาะที่เก็บจากดอกเบี้ย 2.ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย 3.การขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีชำระค่าสินค้าและบริการเป็นเงินตราต่างประเทศ

    4.การขอชดเชยค่าภาษีอาการสินค้าส่งออก 5.การขยายสัดส่วนการให้กู้ต่อทุนจดทะเบียน 6.การอำนวยความสะดวกในเรื่อง วีซ่าและใบอนุญาตทำงาน(Work Permits) และ 7.การลงบัญชีของอัตราแลกเปลี่ยนโดยใช้อัตรากลาง (Mid-rate)

    ด้าน รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า ศูนย์บริหารเงิน หมายถึง บริษัทที่ทำหน้าที่บริหารจัดการเงินตราต่างประเทศให้แก่บริษัทในเครือเดียวกัน ซึ่งต้องได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจเงินตราต่างประเทศ (FX license) จากกระทรวงการคลัง

    สำหรับขอบเขตการทำงานของศูนย์บริหารเงินที่สำคัญ คือ รับจ่ายเงินตราต่างประเทศที่เป็นค่าสินค้าหรือบริการกับคู่ค้าในต่างประเทศแทนบริษัทในเครือ เช่น บริษัท ก. ข. และ ค. เป็นบริษัท 3 แห่งที่ผลิตเพื่อการส่งออกและอยู่ในเครือเดียวกัน โดยมีบริษัท A เป็นศูนย์บริหารเงินของเครือ

    โดยบริษัท ก. ข. และ ค. จะผลิตและส่งออกตรงกับลูกในต่างประเทศ แต่เวลาจ่ายเงินในสกุลเงินตราต่างประเทศ ลูกค้าอาจจะจ่ายให้ศูนย์บริหารเงิน โดยศูนย์บริหารเงินจะจ่ายต่อเป็นเงินบาทให้กับบริษัท ก. ข. และ ค. อีกทอดหนึ่ง

    นอกจากนี้ศูนย์บริหารเงิน ยังช่วยบริหารความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนให้แก่บริษัทในเครือ เช่น ทำการบริหารความเสี่ยง(hedging) ให้ และ ยังช่วยบริหารสภาพคล่องระหว่างบริษัทในเครือ โดยบริษัทในเครือที่มีเงินตราต่างประเทศส่วนเกินสามารถนำเงินมาปล่อยกู้ให้แก่ศูนย์บริหารเงิน เพื่อนำไปปล่อยกู้ให้แก่บริษัทอื่นในเครือที่ขาดสภาพคล่อง

    ส่วนประโยชน์ของการจัดตั้งศูนย์บริหารเงิน คือ ทำให้การบริหารจัดการธุรกรรมเงินตราต่างประเทศของบริษัทในเครือมีประสิทธิภาพและมีต้นทุนที่ต่ำลง เนื่องจากสามารถหักกลบลบหนี้ (netting) และทำการบริหารสภาพคล่องแบบรวมศูนย์ (cash pooling) เงินตราต่างประเทศ โดยมารวมอยู่ที่ศูนย์บริหารเงิน

    ขณะเดียวกันศูนย์บริหารเงินสามารถบริหารจัดการเงินตราต่างประเทศให้แก่บริษัทในภูมิภาค(regional) ประเทศที่ศูนย์บริหารเงินตั้งอยู่จึงจะได้ประโยชน์ในด้านการทำธุรกิจทางการเงินที่มีขนาดใหญ่ขึ้น เพราะทำธุรกรรมให้กับบริษัทที่ไม่ได้ตั้งอยู่ในประเทศของตนด้วย

    รายงานข่าวระบุด้วยว่า ที่ผ่านมากระทรวงการคลังได้พิจารณาปรับปรุงหลักเกณฑ์ของกรมสรรพากรและกรมศุลกากร เพื่อให้เอื้อต่อการประกอบธุรกิจศูนย์บริหารเงินมากขึ้น ได้แก่ การขอชดเชยภาษีอากรสินค้าออก (ภาษีมุมน้ำเงิน) โดยอนุญาตให้บริษัทในเครือที่ส่งสินค้าออกไปแต่ได้รับเงินตราต่างประเทศเพียงบางส่วน เนื่องจากนำไปหักกลบกับรายจ่ายค่าสินค้า ซึ่งเป็นการทำ netting ให้สามารถขอชดเชยภาษีมุมน้ำเงินได้ตามมูลค่าส่งออก โดยให้ยื่นเอกสารหลักฐานเพิ่มเติมตามที่กำหนด

    นอกจากนี้ การขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีชำระค่าสินค้าและบริการเป็นเงินตราต่างประเทศ เช่น กรณีบริษัทในเครือเป็นผู้ส่งสินค้าออก แต่ให้ศูนย์บริหารเงินเป็นผู้รับชำระเงิน โดยมีชื่อของศูนย์บริหารเงินในใบกำกับสินค้า ให้สามารถขอชดเชยภาษีได้ โดยต้องยื่นเอกสารทั้งจากบริษัทในเครือส่งออกและศูนย์บริหารเงิน เป็นต้น

    ส่วนประเด็นปัญหาอุปสรรคอื่น ซึ่งมีผลทำให้ประเทศไทยยังไม่ได้รับประโยชน์จากการบริหารเงินให้กับบริษัทในภูมิภาค ได้แก่ การเสียภาษีธุรกิจเฉพาะจากรายรับดอกเบี้ย (SBT) การขยายสัดส่วนการให้กู้ต่อทุนจดทะเบียน(gearing ratio) และการขอให้ศูนย์บริหารเงินเป็นส่วนหนึ่งของ Regional operation headquarter (ROH) นั้น กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างพิจารณา

    นางรุ่ง มัลลิกะมาส โฆษกธปท. กล่าวว่า ปัจจุบันในประเทศไทยมีบริษัทที่มีศูนย์บริหารเงินจำนวน 2 ราย คือ บริษัท โซนี่ โกลบอล เทรเซอรี่ เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท พานาโซนิค เทรซเซอรี่ เซ็นเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด โดยเรื่องศูนย์บริหารเงินนี้ ธปท. ได้ขอให้กระทรวงการคลังช่วยพิจารณา เพื่อเอื้ออำนวยให้แต่ละบริษัทมีการจัดตั้งศูนย์บริหารเงินกันมากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการบริหารเงินลงได้

    Tags : กระทรวงคลัง • ธปท. • ศูนย์บริหารงาน

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้