การเมืองนิ่ง เศรษฐกิจฟื้น

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 16 มิถุนายน 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    นักวิเคราะห์คาดกนง.ประชุม18มิ.ย. คงดอกเบี้ย2% ชี้การเมืองนิ่ง ความเชื่อมั่นเริ่มฟื้น ขณะเงินเฟ้อเริ่มขยับสูงขึ้น

    นักเศรษฐศาสตร์ เชื่อ กนง. ตัดสินใจ "คง" ดอกเบี้ยที่ 2% รอดูประสิทธิผลนโยบายโรดแมพฟื้นเศรษฐกิจมากน้อยแค่ไหน คาดเริ่มหมดยุคดอกเบี้ยขาลง เหตุสถานการณ์การเมืองชัดเจนขึ้น ความเชื่อมั่นผู้บริโภค-นักลงทุนเริ่มกลับมา มองดอกเบี้ยอาจขยับขึ้นได้ในต้นปีหน้า

    ความเสี่ยงทางการเมืองต่อเศรษฐกิจลดลงหลังจากรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค. โดยไม่มีต่อต้านและความรุนแรงตามมา ทำให้ความเชื่อมั่นเริ่มฟื้นตัว ทั้งภาคการบริโภคและการลงทุน โดยเฉพาะในระยะสั้น และโอกาสที่การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ในวันที่ 18 มิ.ย.นี้ จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจมีน้อยลง

    การประชุม กนง. ครั้งหลังสุดเมื่อวันที่ 23 เม.ย.ที่ผ่านมา มีมติ 6 ต่อ 1 ให้คงดอกเบี้ยไว้ที่ 2.00% เนื่องจากเห็นว่าเป็นระดับที่เหมาะสมและเอื้อต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

    นายกำพล อดิเรกสมบัติ หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ บล.ทิสโก้ ประเมินว่ากนง. น่าจะยังตัดสินใจคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2%

    "ความต้องการแรงกระตุ้น จากนโยบายการเงินจะเริ่มลดลงแล้ว เพราะนโยบายการคลังขณะนี้กลับมาทำหน้าที่ได้ตามปกติ ประกอบกับเงินเฟ้อ เริ่มเร่งตัวขึ้น ขณะที่ดอกเบี้ยนโยบายทั่วโลกดูเหมือนจะเป็นขาขึ้น ดังนั้นโอกาสที่ดอกเบี้ยนโยบายเราจะเป็นขาลงคงหมดไปแล้ว"นายกำพลกล่าว

    แม้ดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะหมดยุคขาลง แต่ก็คงยังไม่รีบปรับขึ้นในเร็วๆ นี้ เนื่องจากต้องดูสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประกอบด้วย โดยคิดว่าหากดอกเบี้ยของไทยจะเป็นขาขึ้น น่าจะเป็นในช่วงปีหน้าเป็นต้นไป

    เช่นเดียวกับ นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัยลูกค้าส่วนบุคคล บล.ภัทร ประเมินว่ากนง.จะยังตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับเดิม คือ 2% สาเหตุเพราะดอกเบี้ยระดับปัจจุบันถือเป็นระดับที่ผ่อนคลายอยู่แล้ว ขณะที่เงินเฟ้อเองเริ่มมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้น

    ชี้กนง.กังวลเงินเฟ้อปรับสูงขึ้น

    ทั้งนี้เงินเฟ้อล่าสุดของเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา มีอัตราการเติบโต 2.62% ซึ่งเป็นการเติบโตสูงสุดในรอบ 14 เดือน จึงเชื่อว่า กนง. น่าจะมีความเป็นห่วงเรื่องนี้พอสมควร

    นอกจากนี้ถ้าดูทิศทางดอกเบี้ยนโยบายของทั่วโลกแล้ว ถือว่าอยู่ในทิศทางขาขึ้น โดยเฉพาะปีหน้าคงได้เห็นหลายประเทศทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย เรื่องนี้จึงอาจเป็นประเด็นที่ทำให้ กนง. ของไทยต้องคิดหนักพอสมควร

    "ถ้าว่าเรามีช่องว่างในการลดดอกเบี้ยลงมาหรือไม่ ก็ต้องบอกว่ายังพอลดได้ แต่ลดแล้วต้องกลับมาปรับขึ้นในระยะเวลาอันใกล้ แบบนี้แบงก์ชาติคงไม่ชอบใจนัก เพราะเกรงว่าจะเป็นการส่งสัญญาณที่ไม่ถูกต้องให้กับตลาด ดังนั้นคงต้องมารอดูกัน" นายพิพัฒน์กล่าว

    หากดูดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบันที่ 2% ถือเป็นระดับที่ค่อนข้างต่ำอยู่แล้ว ดังนั้นการลดดอกเบี้ยนโยบายเพิ่ม จึงไม่ได้ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้มากนัก โดยเฉพาะเวลานี้นโยบายการคลังเริ่มกลับมาทำงานได้เต็มที่ เข้าใจว่านโยบายการเงิน จะทยอยลดบทบาทลง ทั้งหมดนี้จึงเป็นเหตุผลที่มองว่า กนง. น่าจะตัดสินใจคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2%

    3ปัจจัยหลักกนง.ตัดสินใจคงดอกเบี้ย

    นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการสำนักวิจัย สายบริหารความเสี่ยง ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า การประชุม กนง. รอบนี้คงไม่มีเรื่องเซอร์ไพร์สอะไร โดยมองว่า กนง. จะตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ก่อน จากปัจจัยหลักใน 3 ด้าน

    ด้านแรก คือ มาตรการทางการคลัง เริ่มกลับมามีบทบาท ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยอีกครั้ง จากก่อนหน้าที่เราค่อนข้างกังวล โดยเฉพาะการเบิกจ่ายและจัดทำงบประมาณประจำปี ดังนั้นเมื่อนโยบายการคลังกลับมา นโยบายการเงินก็ควรถอยออกมา จึงคิดว่าดอกเบี้ยไม่น่าจะปรับลดลงไปมากกว่านี้แล้ว

    ส่วนด้านที่สอง คือ ความเสี่ยงเงินเฟ้อขณะนี้เริ่มมีมากขึ้น สะท้อนผ่านตัวเลขเงินเฟ้อเดือนพ.ค. ที่เร่งตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง และเมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ย ทำให้ดอกเบี้ยแท้จริงติดลบ ส่งผลต่อมูลค่าของเงินที่ลดลงตามไปด้วย

    "จึงเป็นประเด็นที่ทำให้คนอาจหันไปลงทุนในสินทรัพย์ ที่เป็นลักษณะของการเก็งกำไรกันมากขึ้นได้ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจนัก"

    สำหรับด้านที่สาม คือ ช่วงครึ่งปีหลังโดยเฉพาะในปลายปี มีความเสี่ยงที่ประเทศไทยจะเผชิญกับภาวะเงินทุนไหลออกได้ เนื่องจากดอกเบี้ยโลกเริ่มเข้าสู่ช่วงขาขึ้น ดังนั้นหาก กนง. ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง อาจจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในด้านขาออกของเงินทุนเคลื่อนย้ายได้เช่นกัน

    ชี้ศก.ชะลอมีโอกาสหั่นดอกเบี้ย

    ดังนั้นก็มีโอกาสที่ กนง. อาจตัดสินใจลดดอกเบี้ยนโยบายลงได้เช่นกัน หากเห็นว่าเศรษฐกิจเวลานี้มีความอ่อนแอมากกว่าที่คาด การลดดอกเบี้ยในขณะที่นโยบายการคลังเริ่มกลับมาได้ จะยิ่งส่งผลดีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภาพรวม โดยส่วนตัวคิดว่า โอกาสที่ กนง. จะลดดอกเบี้ยมีน้อยกว่าโอกาสคงเอาไว้ก่อน

    "ดูแล้วโอกาสที่เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 จะติดลบต่อเนื่องเมื่อเทียบกับไตรมาสแรกจนทำให้เกิดภาวะถดถอยทางเทคนิคในขณะนี้มีน้อยลงตามไปด้วย และมองว่าเศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัวชัดเจนในช่วงไตรมาส 3 เป็นต้นไป" นายอมรเทพกล่าว

    ส่วนแนวโน้มที่ดอกเบี้ยนโยบายจะเริ่มปรับเข้าสู่ขาขึ้นนั้น เขากล่าวว่า คงยังไม่เกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ โดยต้องรอดูผลของมาตรการโรดแมพต่างๆ ที่ คณะรักษาความสงบเรียบร้อย(คสช.) ประกาศออกมาก่อนว่ามีผลต่อเศรษฐกิจแท้จริงมากน้อยแค่ไหน ถ้าทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวเร็ว ประกอบกับเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น ก็มีความเป็นไปได้เช่นกันที่จะเห็นดอกเบี้ยนโยบายปรับขึ้นในช่วงปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า แต่ขณะนี้ยังเร็วไปที่จะประเมินแบบนั้น

    โรดแมพเศรษฐกิจหนุนคงดอกเบี้ย

    นายเบญจรงค์ สุวรรณคีรี ผู้อำนวยการศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย กล่าวว่า กนง. น่าจะตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2% สาเหตุเพราะโรดแมพเศรษฐกิจที่ คสช. พยายามผลักดันให้เกิดขึ้นนั้น มีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจไทยเริ่มขับเคลื่อนได้อีกครั้ง และทำให้นโยบายการคลังสามารถกลับมาทำหน้าที่ได้ดังเดิม ดังนั้นความจำเป็นที่ต้องใช้นโยบายการเงินเข้าช่วยโดยการลดดอกเบี้ยจึงน้อยลงตามไปด้วย

    "แม้ภาพเศรษฐกิจยังดูอ่อนแออยู่ แต่แผนโรดแมพที่ออกมาเยอะแยะมากมายทั้งระยะสั้นและระยะยาว ดูแล้วน่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยกลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้ง แต่จะมากน้อยแค่ไหนคงต้องรอดูประสิทธิผลของเครื่องมือก่อน" นายเบญจรงค์กล่าว

    นายเบญจรงค์ กล่าวว่าหากเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวเร็วก็มีความเป็นไปได้ที่ดอกเบี้ยนโยบายระยะข้างหน้าอาจกลับเข้าสู่ช่วงขาขึ้น แต่คิดว่าคงยังไม่รีบขึ้นในปีนี้ อย่างเร็วสุดคงเป็นช่วงต้นปีหน้า แม้ว่าเงินเฟ้อในขณะนี้เริ่มจะเร่งตัวขึ้นมาบ้างแล้วก็ตาม

    Tags : กนง. • ดอกเบี้ย • เศรษฐกิจฟื้น • นักวิเคราะห์ • การเมือง • โรดแมพ • คสช. • ทหารไทย

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้