กรุงเทพโพลล์ ปชช. เชื่อ คสช. บริหารประเทศได้ ไม่มั่นใจแก้ทุจริตคอร์รัปชั่น ขณะภาคภูมิใจที่เป็นคนไทย ขณะ ชมรมนักวิจัยไทยความสุขชุมชน สำรวจ ปชช. หลังมี คสช. 80.8% มีความสุขเพิ่มขึ้น ภาคใต้มากสุด ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) สํารวจความคิดเห็นประชาชน เรื่อง "ความเชื่อมั่นต่อศักยภาพประเทศไทยในปัจจุบัน และอนาคตอีก 6 เดือนข้างหน้า" โดยเก็บข้อมูลจากประชาชนทั่วทุกภาคของประเทศ 1,093 คน เมื่อวันที่ 7 - 13 มิถุนายน 2557 เป็นดังนี้ ประชาชนมีความเชื่อมั่นต่อศักยภาพของประเทศไทยเฉลี่ยรวมทุกด้าน 4.87 คะแนน จากเต็ม 10 คะแนน ปรับสูงขึ้นเมื่อเปรียบเทียบปี 2554 มีคะแนนเพิ่มขึ้นทุกด้าน เมื่อพิจารณาความเชื่อมั่นในแต่ละด้านพบว่า ประชาชนมีความเชื่อมั่นด้านการเมืองมากที่สุด 5.02 คะแนน รองลงมาคือ ด้านเศรษฐกิจ 4.98 คะแนน ส่วนด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม น้อยที่สุด 4.62 คะแนน ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาคะแนนความเชื่อมั่นในแต่ละตัวชี้วัด พบว่า ความเชื่อมั่นต่อการแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นมีคะแนนต่ำที่สุด 3.87 คะแนน ขณะที่ความเชื่อมั่นต่อความสามารถในการบริหารประเทศ ณ ปัจจุบัน ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้คะแนนมากที่สุด 5.96 คะแนน อีกทั้ง ยังเป็นด้านที่ความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นมากที่สุดในการสํารวจครั้งนี้ เมื่อถามถึงความเชื่อมั่นต่อศักยภาพของประเทศไทยในอีก 6 เดือนข้างหน้า พบว่า ประชาชนร้อยละ 66.8 เชื่อว่าจะดีขึ้น ทั้งนี้ เมื่อถามถึงความภาคภูมิใจในความเป็นคนไทย พบว่าประชาชนร้อยละ 67.2 มีความภูมิใจมากที่สุด Master Poll ปชช. มีความสุขหลังมี คสช. - ภาคใต้มากสุด ดร.นพดล กรรณิกา ประธานชมรมนักวิจัยไทยความสุขชุมชน (Thai Researchers in Community Happiness Association, TRICHA) เปิดเผยผลวิจัยเชิงสํารวจ Master Poll เรื่อง ความสุขมวลรวมของคนไทย ภายหลังมีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ใน 17 จังหวัดทั่วประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย เพชรบูรณ์ ปทุมธานี ชลบุรี ฉะเชิงเทรา กาญจนบุรี เพชรบุรี หนองบัวลําภู สกลนคร ศรีสะเกษ ขอนแก่น พัทลุง ระนอง และสุราษฎร์ธานี จํานวน 1,209 ครัวเรือน ดําเนินโครงการระหว่างวันที่ 8-14 มิถุนายน 2557 ที่ผ่านมา ผลการสํารวจพบว่า ประชาชนร้อยละ 80.8 มีความสุขเพิ่มขึ้น เพราะ คสช. ช่วยลดความแตกแยกทางการเมือง ทำให้ความรักความสามัคคีเพิ่มขึ้น ปัญหาปากท้องได้รับการแก้ไข รายได้เพิ่มขึ้น ปัญหาที่ค้างคาช่วงที่มีการชุมนุมไก้รับการแก้ไข รู้สึกปลอดภัย ความตึงเครียดทางการเมืองลดลง และสุขภาพจิตดีขึ้น ทั้งนี้ คะแนนเฉลี่ยความสุขโดยภาพรวมเท่ากับ 7.0 จากเต็ม 10 คะแนน สอดคล้องกับผลการวิเคราะห์เมื่อจําแนกตามภูมิภาค ที่พบว่า ประชาชน 2 ใน 3 ของทุกภูมิภาค ระบุ มีความสุขมาก โดยหากพิจารณาคะแนนความสุขเฉลี่ยของแต่ละภูมิภาค พบว่า ภาคใต้มีคะแนนความสุขสูงสุด 7.45 คะแนน รองลงมาคือ ภาคกลาง 7.19 คะแนน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 6.97 คะแนน กรุงเทพมหานคร 6.94 คะแนน และภาคเหนือ 6.76 คะแนน