หอการค้าวอนช่วยSMEชี้เสี่ยงปิดตัว5แสนราย

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 14 มิถุนายน 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    หอการค้าวอนช่วยเอสเอ็มอี ชี้เสี่ยงปิดกิจการ4-5แสนราย ชี้เพิ่มเพดานเงินค้ำประกันหนี้ของ บสย.

    หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยเตรียมเสนอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือคสช.ให้การช่วยเหลือสนับสนุนเอสเอ็มอีเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการเพิ่มเพดานเงินค้ำประกันหนี้ของ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) จากที่ทำแค่ 18% เป็น 50% เพื่อหยุดยั้งการล้มละลายของเอสเอ็มอี

    นายภูมินทร์ หะรินสุต รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า หอการค้าประเมินภาวะเอสเอ็มอีในครึ่งปีหลังน่าจะดีกว่าครึ่งปีแรก เนื่องจากมีปัจจัยบวกหลายประการ เช่น การชำระเงินค่าข้าวให้กับเกษตรกร จะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้กว่า 3-4 แสนล้านบาท

    ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคล่าสุดปรับตัวดีขึ้นในรอบ 14 เดือน การเมืองเข้าสู่ภาวะปกติ การลดพื้นที่ประกาศกฎอัยการศึก เม็ดเงินสะพัดจากมหกรรมฟุตบอลโลก ที่คาดว่าจะมีกว่า 7 หมื่นล้านบาท และการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณในปีนี้ไม่น้อยกว่า 7 พันล้านบาท

    ปัจจัยทั้งหมดนี้จะช่วยกระตุ้นยอดขายของเอสเอ็มอี ให้ดีกว่าในช่วงครึ่งปีแรก

    นอกจากนี้ หอการค้าไทยได้เตรียมมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีเสนอต่อที่ประชุม 7 องค์กรเอกชน เพื่อส่งต่อไปยังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในเรื่องของให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ขยายเพดานวงเงินค้ำประกันของ บสย. จาก 18% เป็น 50% เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับธนาคารในการปล่อยสินเชื่อให้กับเอสเอ็มอี

    ขณะที่หอการค้าไทยก็ได้มีโครงการ “พี่ช่วยน้อง” โดยจะให้บริษัทขนาดใหญ่ลงไปช่วยบริษัทขนาดกลาง และบริษัทขนาดกลางจะลงไปช่วยธุรกิจขนาดเล็ก และให้เกิดการจับคู่ร่วมทำธุรกิจกับบริษัทที่มีขนาดใหญ่กว่า รวมทั้งยังได้จัดคณะผู้เชี่ยวชาญในการแก้ปัญหาเอสเอ็มอี ลงไปจัดสัมมนาช่วยแก้ปัญหาเอสเอ็มอีในภูมิภาคต่างๆทั่วประเทศ

    นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ในปีนี้คาดว่าภาคธุรกิจเอสเอ็มอีจะขยายตัวประมาณ 1% แต่ถ้าแยกเฉพาะธุรกิจขนาดเล็กและย่อมจะติดลบลงเล็กน้อย โดยในปัจจุบันธุรกิจเอสเอ็มอีโดยเฉพาะขนาดเล็ก มีปัญหาสภาพคล่องและอยู่ในระดับที่น่าห่วง หรือเสี่ยงต่อการปิดกิจการประมาณ 20% ของเอสเอ็มอีทั้งหมด หรือ 4 - 5 แสนราย ดังนั้นภาครัฐจำเป็นต้องเร่งหามาตรการในการช่วยเหลือเรื่องของสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบได้มากขึ้น เพื่อประคองธุรกิจให้ผ่านในช่วงนี้ไปได้

    “ปัญหาที่สำคัญของภาคธุรกิจไทยก็คือความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ เห็นได้จากธุรกิจขนาดกลางและย่อมทั้งประเทศมีประมาณ 2.7 ล้านราย มีสัดส่วนของจีดีพีเพียง 35% ขณะที่ธุรกิจใหญ่มีเพียง 7 พันราย แต่มีสัดส่วนของจีดีพีสูงถึง 65% ดังนั้นการลดความเหลื่อมล้ำในส่วนนี้ จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมากในการพัฒนาเศรษฐกิจไทย”

    ทั้งนี้หากพิจารณาภาพรวม พบว่าธุรกิจที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน คือ อาหาร เครื่องดื่ม ค้าส่ง ค้าปลีก ร้านอาหาร ภัตตาคาร โรงแรม ส่วนธุรกิจที่ขาดสภาพคล่อง คือ อาหาร เครื่องดื่ม สิ่งทอ แฟชั่น ค้าส่ง ค้าปลีก ร้านอาหาร ภัตตาคาร โรงแรม, ธุรกิจที่ประสบปัญหาต้นทุนสูง คือ อาหาร เครื่องดื่ม ค้าส่ง ค้าปลีก ร้านอาหาร ภัตตาคาร และโรงแรม, ธุรกิจที่ประสบกับภาวะขาดทุน คือ อาหาร เครื่องดื่ม สิ่งทอ แฟชั่น ค้าส่ง ค้าปลีก ร้านอาหาร ภัตตาคาร โรงแรม

    นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ผลสำรวจดัชนีความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจเอสเอ็มอี ในไตรมาส 1 ที่ผ่านมาก่อนที่จะมีการยึดอำนาจจาก คสช. พบว่า ความสามารถในการแข่งขันอยู่ที่ 56 จุด ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 3.6 จุด เนื่องจากประสบปัญหาต้นทุนการทำธุรกิจสูง แต่ยอดขายตกต่ำ และขาดสภาพคล่องเพราะกำไรสุทธิน้อยลง ส่วนใหญ่จะเป็นธุรกิจค้าปลีก ค้าส่ง และท่องเที่ยว

    อย่างไรก็ตามหลังจากที่มี คสช. และปัญหาการเมืองคลี่คลายลง ทำให้ภาคธุรกิจเอสเอ็มอี มีความมั่นใจมากขึ้น รวมทั้งคาดว่าเศรษฐกิจภาพรวมมีแนวโน้มดีขึ้น โดยประเมินว่าไตรมาส 2 ดัชนีความสามารถในการแข่งขันจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 60.2 จุด เพียงแต่ต้องช่วยเอสเอ็มอีในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และภาครัฐต้องเร่งพัฒนาศักยภาพ และผลผลิตของเอสเอ็มอีให้ด้วย

    สิ่งที่เอสเอ็มอีต้องการได้รับความช่วยเหลือหรือสนับสนุนจากภาครัฐมากที่สุด คือ เรื่องของการส่งเสริมและพัฒนาองค์ความรู้รวมถึงทักษะในการบริหารจัดการธุรกิจ, การช่วยเหลือด้านต้นทุนของสินค้าให้สามารถแข่งขันกับคู่แข่งได้, การช่วยเหลือให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน

    Tags : หอการค้า • เอสเอ็มอี • ปิดกิจการ • บสย.

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้