Satya Nadella ซีอีโอไมโครซอฟท์ให้สัมภาษณ์กับ ZDNet ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับอนาคตของ Windows Phone/Mobile เริ่มจากแนวคิดและเป้าหมายก่อน ดังนี้ เป้าหมายของไมโครซอฟท์คือสร้าง "mobile endpoint" หรือตัวตนของไมโครซอฟท์ในอุปกรณ์พกพาทุกชิ้น ผ่านแอพอย่าง Skype, Outlook, Wunderlist, Sunrise เพราะแอพทุกตัวจะเชื่อมไปยังบริการคลาวด์ของไมโครซอฟท์ในท้ายที่สุด เขาบอกว่า "ระบบปฏิบัติการ" ในปัจจุบันของไมโครซอฟท์มีความหมายต่างจากเดิม มีความหมายกว้างกว่าของเดิม จุดเด่นของไมโครซอฟท์คือ Windows 10 เป็นแพลตฟอร์มเดียวกันหมด ไม่ว่าจะใช้บนอุปกรณ์อย่าง Raspberry Pi หรือ HoloLens ในขณะที่คู่แข่งมีสองแพลตฟอร์มแยกกัน ทั้ง Chrome/Android และ Mac/iOS ไมโครซอฟท์เป็นบริษัท "แพลตฟอร์ม" มาตั้งแต่ก่อตั้ง พันธมิตรของไมโครซอฟท์ได้ประโยชน์จากการสร้างแอพบนแพลตฟอร์มเหล่านี้ และปัจจุบันไมโครซอฟท์มี 3 แพลตฟอร์มคือ Windows, Azure, Office จากนั้น Satya จึงอธิบายข่าวการปรับยุทธศาสตร์ Lumia ที่ออกเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ว่ายุทธศาสตร์ภาพใหญ่ยังเหมือนเดิม แต่เปลี่ยนวิธีการดำเนินงาน (operating approach) ใหม่ เขายอมรับความผิดพลาดของไมโครซอฟท์ โดยบอกว่าปัญหาคือไมโครซอฟท์มองว่าพีซีคือศูนย์กลางของทุกอย่าง ไม่ว่าเวลาจะผ่านมาแค่ไหน ความผิดพลาดตรงนี้ทำให้ไมโครซอฟท์ต้องสำรวจตัวเอง และดูว่าอนาคตข้างหน้าคืออะไรที่จะมาแทนสมาร์ทโฟน แต่เขาก็บอกว่าถึงแม้ Windows Phone มีส่วนแบ่งตลาดมือถือแค่ 3% แต่ไมโครซอฟท์ยังมีอุปกรณ์อย่างอื่นอีกมาก เช่น มีเดสก์ท็อปกว่า 1 พันล้านเครื่อง, มี Xbox, HoloLens, Microsoft Band เขาจึงอยากให้มองภาพรวมว่าเป็น "ชุดของอุปกรณ์" (device family) มากกว่า ด้วยแนวคิดเรื่อง device family ทำให้การพัฒนาแอพแบบ Universal Windows App จึงสำคัญ เพราะเขียนครั้งเดียวแล้วใช้งานได้บนอุปกรณ์หลายตัว ส่วนยุทธศาสตร์การทำ Surface เกิดขึ้นเพื่อกระตุ้นตลาดให้ผู้ผลิตฮาร์ดแวร์รายอื่นทำแบบเดียวกัน กรณีของ Surface ถือว่าประสบความสำเร็จ และไมโครซอฟท์อยากสร้างโมเดลนี้กับ Surface Hub และ HoloLens ด้วย แต่ในกรณีของ Windows Phone นั้น ถ้าไม่มีใครทำจริงๆ ไมโครซอฟท์ก็จะสร้างเอง (แบบที่ทำอยู่กับ Lumia) ยุทธศาสตร์ย่อมแตกต่างกันไป สมาร์ทโฟน 3 กลุ่มเป้าหมาย สมาร์ทโฟนธุรกิจ ฟีเจอร์เรื่องการจัดการเป็นจุดเด่นของไมโครซอฟท์มานาน ในโลกธุรกิจเรื่องนี้คือเรื่องใหญ่ ส่วนการที่ไม่มีแอพคอนซูเมอร์บางตัวจึงไม่ใช่ประเด็นเท่ากับการจัดการและความปลอดภัย ไมโครซอฟท์จะช่วยให้ภาคธุรกิจซื้อ Lumia มาแล้วเชื่อมต่อกับแอพองค์กรที่รันอยู่บน Azure App Services ได้ง่าย คุณค่าตรงนี้หาคนมาแข่งได้ยาก สมาร์ทโฟนเรือธง จะเน้นที่ฟีเจอร์ Continuum ที่สร้างความแตกต่างได้จากระบบปฏิบัติการอื่นๆ สมาร์ทโฟนราคาถูก จะเน้นไปที่ Office และ Skype เป็นหลัก ช่วยให้ผู้ที่ซื้อสมาร์ทโฟนเป็นครั้งแรกเข้าถึงคุณค่าตรงนี้ Satya เปรียบเทียบว่าแอปเปิลฟื้นตัวกลับมาได้อีกครั้งจาก iMac รุ่นหลากสี และเขาคิดว่าไมโครซอฟท์กำลังทำแบบเดียวกันกับ Lumia โดยจะสร้างอุปกรณ์ที่ดีที่ผู้ใช้ชื่นชอบ (good devices that people like) กูเกิล ไมโครซอฟท์อยากเห็นกูเกิลทำแอพบน Windows 10 แต่สุดท้ายก็ขึ้นกับกูเกิลว่าจะทำหรือไม่ เขาอยากเห็นกูเกิลทำ YouTube for Windows Phone ด้วยคุณภาพระดับเดียวกับการทำ Chrome บน Windows ปัจจุบันไมโครซอฟท์ทำแอพลง Android แล้ว ถ้ากูเกิลทำแบบเดียวกัน ผู้ใช้ก็จะได้ประโยชน์มากที่สุด HoloLens และ Minecraft เขาซื้อ Minecraft เพราะตั้งใจนำมาใช้กับ HoloLens ตั้งแต่ต้น แต่ Minecraft เองก็โดดเด่นเพราะเป็นเกมยอดนิยมอันดับหนึ่งทั้งบนพีซี, คอนโซล, iOS, Android แต่ HoloLens เวอร์ชันแรกจะยังเน้นเพื่อใช้งานกับตลาดองค์กรก่อน ระยะยาวแล้วถึงหันมาจับตลาดคอนูซเมอร์ด้วย ประเด็นอื่นๆ เขาพูดถึง Start Menu ของ Windows 10 ว่าแก้ปัญหาของ Windows 8 ที่ไม่มีใครเข้า Windows Store ทำให้ไมโครซอฟท์ต้องทำให้ Store เด่นขึ้น แอพตัวใหม่ GigJam ว่าเป็นของใหม่ที่เอาผลิตภัณฑ์หลายสายมารวมกัน ซึ่งนวัตกรรมของไมโครซอฟท์ที่แล้วๆ มาก็ทำแบบนี้มาโดยตลอด เช่น ก่อนมี Outlook ก็ไม่มีใครเคยนำเมล ปฏิทิน สมุดที่อยู่มารวมกัน แต่พอ Outlook เริ่มทำเป็นรายแรกแล้ว คนอื่นก็ทำตาม ปัจจุบัน Satya ใช้ Lumia 830 เป็นมือถือเครื่องหลัก ที่มา - ZDNet, ภาพจาก Microsoft Satya Nadella, Microsoft, Windows 10, Windows Phone