สมรภูมิสมาร์ทโฟนยุคนี้ แม้ว่าจะเป็นรุ่นราคาถูกก็ถูกคาดหวังว่าจะได้ของดีขึ้นเรื่อยๆ จากการกดดันของผู้ผลิตสัญชาติจีนที่ทำสมาร์ทโฟนราคาถูกสเปคดีออกมาอย่างต่อเนื่อง และ Moto G ที่ทำผลงานได้ดีในราคาย่อมเยา ทางฝั่ง Sony เองก็ออกมาตอบโต้ด้วยการจับสมาร์ทโฟนรุ่นกลางอย่าง Xperia M มาแต่งองค์ทรงเครื่องใหม่ในทรง OmniBalance แบบเดียวกับที่ใช้ในสมาร์ทโฟนรุ่นท็อปอย่าง Xperia Z2 จนออกมาเป็น Xperia M2 นั่นเอง ว่ากันด้วยสเปค Xperia M2 จัดว่าสเปคไม่สูงนักตามประสารุ่นกลาง แบ่งออกเป็นสามโมเดลย่อยแบ่งตามภูมิภาค รุ่นที่ได้มารีวิวเป็นรหัส D2305 ที่รองรับ 3G ทุกย่านความถี่ในประเทศไทย แต่ไม่รองรับ LTE เหมือนอีกสองโมเดลที่เหลือ ส่วนสเปคคร่าวๆ มีดังนี้ครับ * หน้าจอขนาด 4.8" ความละเอียด 960x540 พิกเซล (qHD) * ซีพียู Snapdragon 400 ควอดคอร์ความถี่ 1.2GHz (MSM8226) * กล้องหลัง 8 เมกะพิกเซล ใช้เซนเซอร์ Exmor RS, กล้องหน้า VGA * ตัวเครื่องบาง 8.6 มม. แบตเตอรี่จุ 2300 mAh เกริ่นมาพอสมควรแล้ว ไปดูตัวเครื่องจริงกันเลยครับ ฮาร์ดแวร์ ว่ากันด้วยหน้าตาตัวเครื่องแล้ว Xperia M2 เรียกได้ว่าสลัดการออกแบบเดิมที่ใช้ตาม Xperia Arc ออกไปอย่างหมดสิ้น กลายเป็นมือถือแบนๆ เหลี่ยมๆ ที่ใช้กระจกทั้งหน้าและหลัง ดูผ่านๆ แล้วเหมือนกับใช้ Xperia Z1/Z2 อย่างมาก ด้านบนของตัวเครื่องเหนือโลโก้ถูกใช้สำหรับวางลำโพงสนทนา เซนเซอร์วัดแสง และกล้องหน้า ส่วนด้านล่างนั้นราบเรียบ ปุ่มและพอร์ตเกือบทั้งหมด ถูกยกมาไว้ขอบด้านขวาของเครื่อง ไล่จากซ้ายไปขวาจะมีปุ่มชัตเตอร์ ปุ่มปรับเสียง ปุ่มเปิดเครื่อง ขอบขวาสุดต่อจากปุ่มเปิดเครื่องจะเป็นฝาปิด ที่ครอบถาดใส่ micro SIM และ micro SD อยู่ ส่วนขอบอีกด้านมีไว้สำหรับร้อยสายคล้องมือถือนั่นเอง ส่วนขอบด้านซ้ายของตัวเครื่องนั้นมีไว้สำหรับพอร์ต micro USB นั่นเอง เป็นรูโล่งๆ ไม่มีการป้องกันแต่อย่างใด (โปรดทราบ รุ่นนี้ไม่ได้กันน้ำ!) ขอบด้านบนตัวเครื่องวางพอร์ตหูฟัง 3.5 มม. ไว้ที่ด้านซ้ายครับ (ย้ำอีกครั้ง รุ่นนี้ไม่กันน้ำ!) ขอบด้านล่างของ Xperia M2 เป็นพื้นที่สำหรับลำโพงทั้งแผง ครอบด้วยตะแกรงเหล็ก ดูเข้ากับตัวเครื่องดี แม้ว่าจะเสียงไม่ดังนักครับ พลิกมาด้านหลังของ Xperia M2 จะพบกับกล้องหลัง และแฟลช พร้อมพื้นที่สำหรับแตะอุปกรณ์ NFC (เป็นไม่กี่รุ่นที่ราคาต่ำหมื่นแต่มี NFC มาให้ด้วย) ฝาหลังกระจกของ Xperia M2 นั้น แม้ไม่ได้เคลมว่าเคลือบกันแตกมา แต่ก็ทนทานใช่เล่น ใช้งานสมบุกสมบันมาครึ่งเดือน ก็ไม่พบรอยขูดขีดชัดเจนแต่อย่างใดครับ สำหรับตัวเครื่อง Xperia M2 แม้ว่าจะใช้หน้าจอขนาดใหญ่ถึง 4.8" แต่การใช้งานทั่วไปด้วยมือเดียวยังสะดวกสบาย ด้วยความที่ตัวเครื่องแบนราบอาจทำให้หยิบถือได้ไม่ชินนักในช่วงแรก ปุ่มชัตเตอร์ที่อยู่ขวาสุดมากๆ และค่อนข้างเล็ก ใช้ถ่ายจริงได้ยากพอสมควร ที่ต้องชมของรุ่นนี้และรุ่นอื่นๆ ที่ใช้การออกแบบ OmniBalance คือปุ่มเปิดเครื่องอลูมิเนียมที่นูนขึ้นมา คลำหาได้ง่ายในทุกเวลาครับ (แม้จะไม่ชอบหน้าตาปุ่มเท่าไรก็ตาม) คุณภาพหน้าจอของ Xperia M2 จัดว่าไม่ดีนักเมื่อเทียบกับคู่แข่งรายอื่นที่ราคาใกล้เคียงกัน วางคู่กับสมาร์ทโฟนจีนราคาถูกกว่ารุ่นหนึ่ง (ไม่เปิดเผยแบรนด์ ) พบว่าคอนทราสต์หน้าจอแย่กว่า แต่ก็เป็นรุ่นที่หน้าจอสว่างมากรุ่นหนึ่ง สู้แดดได้ดีทีเดียว เรื่องความละเอียดหน้าจอ แม้จะแพ้หลายๆ รุ่น ด้วยความละเอียดที่ไม่ถึง HD แต่ก็ไม่ได้มีปัญหาในการใช้งานแต่อย่างใดครับ ใช้อ่านเว็บไซต์ได้ปกติ ตัวอักษรคมดี ส่วนที่เหนือกว่าอย่างเห็นได้ชัดคือ ดูดีกว่าครับ ซอฟต์แวร์ Xperia M2 มาพร้อมกับ Android 4.3 ครอบทับด้วยส่วนติดต่อผู้ใช้ของ Sony ที่ไม่ต่างจาก Android มาตรฐานมากนัก สิ่งที่เพิ่มเข้ามาอย่างชัดเจนนั้นอยู่ในหน้า recent apps ครับ ตรงหน้า recent apps แถบด้านล่างนั้นคือ mini app แอพตัวเล็กๆ สำหรับใช้งานเร็วๆ เข้าถึงได้รวดเร็ว แลกกับฟีเจอร์ที่น้อยลง เปิดได้หลายตัวพร้อมกัน แต่ยังจำกัดแอพที่ใช้งานได้ไม่มากนักครับ เพื่อให้อัพเดตแอพในเครือได้ง่ายขึ้น Sony ได้ทำ Update Center ไว้สำหรับอัพเดตแอพ และระบบปฏิบัติการให้รวมเป็นที่เดียวกัน ซึ่งในอนาคตคงใช้งานส่วนนี้น้อยลง เพราะช่วงหลัง Sony เริ่มนำแอพไปปล่อยไว้บน Play Store มากขึ้นแล้วครับ โดยรวมซอฟต์แวร์ของ Xperia M2 จัดว่าใช้งานได้ง่ายสำหรับผู้ที่มีประสบการณ์ใช้งานสมาร์ทโฟน Android มาแล้ว แต่อาจจะดูจำเจไปบ้างครับ ข่าวดีคือเจ้ารุ่นนี้จะได้อัพเดตเป็น Android 4.4 KitKat ด้วย แต่ยังไม่ประกาศวันอัพเดตออกมาครับ กล้อง Xperia M2 ถูกคาดหวังค่อนข้างสูงในเรื่องการถ่ายภาพ ด้วยการใช้เซนเซอร์ตัวใหม่ Exmor RS แบบลดความละเอียดลงเหลือ 8 เมกะพิกเซล ส่วนติดต่อผู้ใช้ และฟีเจอร์นั้นใกล้เคียงกับรุ่นสูง อย่าง Timeshift burst ที่ถ่ายภาพต่อเนื่องแล้วมาเลือกภาพดีที่สุด เป็นต้น แม้ความละเอียดสูงสุดของภาพจะอยู่ที่ 8 เมกะพิกเซล แต่ในโหมดมาตรฐานอย่าง Superior auto ที่ตั้งค่าให้ตามสภาพแวดล้อมอัตโนมัติ จะใช้ความละเอียดที่ 5 เมกะพิกเซลเท่านั้น ในโหมดแมนนวลสามารถตั้งค่าภาพด้วยมือได้ ซึ่งจะมีตัวเลือกสำคัญอย่าง HDR และระบบกันสั่นให้ใช้งานด้วย แต่สองฟีเจอร์นี้ใช้พร้อมกันไม่ได้นะ! ว่ากันด้วยสเปคกล้องแล้ว Xperia M2 น่าจะเป็นรุ่นที่ทำผลงานได้ค่อนข้างดี แต่พอลงสนามจริงแล้วกลับทำผลงานได้แย่กว่าที่คิดอย่างมาก โดยเฉพาะกับสภาพแสงมากๆ ภาพจะฟุ้ง และไม่คมอย่างยิ่ง ซึ่งแก้ได้ด้วยการถ่ายแบบ HDR ที่กินเวลาในการถ่ายมากกว่า และถ่ายรัวไม่ได้ ตัวอย่างดังภาพนี้ครับ ถ่ายอัตโนมัติ ถ่ายแมนนวล HDR สำหรับข้อเสียของการถ่าย HDR ด้วย Xperia M2 คือภาพจะติดฟ้าอย่างชัดเจนครับ ซ้ายถ่ายอัตโนมัติ ขวาถ่ายแมนนวล HDR สรุปคร่าวๆ สำหรับกล้อง Xperia M2 คือถ่ายได้เร็ว โฟกัสค่อนข้างแม่น แต่สีเพี้ยน ภาพไม่คม ฟุ้ง แก้ได้ด้วยการใช้ HDR บ้างครับ สำหรับการถ่ายในที่แสงน้อย แนะนำให้เปิดแฟลชตลอดเวลา ถ้าไม่ใช่ภาพมุมกว้างครับ เสียง เซคชันพิเศษสำหรับรุ่นนี้โดยเฉพาะครับ เพราะปกติแล้วสมาร์ทโฟนทั่วไปมักจะไม่มีปัญหากับเรื่องเสียงมากนัก แต่ Xperia M2 เรียกได้ว่าเป็นกรณีพิเศษ ทั้งเสียงลำโพงที่เบากว่ามาตรฐาน แม้ว่าจะเสียบหูฟังก็ยังให้เสียงที่เบาอยู่ดี เลวร้ายกว่านั้นคือ ... แม้แต่เสียงสนทนายามคุยโทรศัพท์ก็เบาไปด้วยครับ ตรงนี้ก็ได้แต่หวังว่า Sony จะออกอัพเดตมาแก้ไขในอนาคตครับ (ถ้าไม่ได้เป็นที่ฮาร์ดแวร์นะ) การใช้งานทั่วไป และแบตเตอรี่ ถ้าตัดเรื่องกล้องห่วย และเสียงเบาออกไปแล้ว Xperia M2 จัดว่าเป็นสมาร์ทโฟนที่ใช้งานได้ดีรุ่นหนึ่งทีเดียว ความเร็วในการใช้งานเรียกได้ว่าลื่นไหลแม้สเปคจะไม่แรงนัก เล่นเกมได้แทบทุกเกมบน Play Store (แต่คุกกี้รันกระตุก!) GPS ของรุ่นนี้จัดว่าแม่น และไวมาก แบตเตอรี่ของ Xperia M2 อึดมาก! ใช้งานแบบเปิดอินเทอร์เน็ตตลอดเวลาได้เกินหนึ่งวันได้สบายหายห่วง ถ้าต่อ Wi-Fi สามารถสแตนบายด์ได้ยาวสามวันครึ่งโดยที่ยังไม่เปิดโหมดประหยัดพลังงานเลยทีเดียว ผลทดสอบประสิทธิภาพ ด้วยความที่เป็นรุ่นกลางๆ สเปคของ Xperia M2 จึงไม่สูงนัก ลองจับไปรันแอพทดสอบชื่อดังอย่าง Vellamo และ AnTuTu ได้ผลประมาณนี้ครับ สรุป Xperia M2 เป็นครั้งแรกที่ Sony หันมาเล่นตลาดกลางด้วยการออกแบบของรุ่นราคาแพง วัสดุที่ใช้กับรุ่นนี้เรียกได้ว่าเหนือกว่าคู่แข่งในราคาเดียวกัน (รุ่นซิมเดียวเปิดราคาที่ 9,490 บาท) การใช้งานทั่วไปทำได้อย่างไม่มีปัญหาใดๆ ติดอยู่สองเรื่องใหญ่ๆ ก็คือระบบเสียง และกล้องนั่นแหละครับ ข้อดี จอใหญ่ สว่างมาก ได้การออกแบบเดียวกับ Xperia Z2 ใช้งานได้ยาวนานมาก! รองรับ 3G ทุกย่านความถี่ในไทย ข้อเสีย เครื่องเหลี่ยม ถือยากสำหรับบางคน กล้องแย่มาก เสียงเบามาก ภาครับ-ส่งสัญญาณเครือข่ายทำได้ไม่ดี คุยแล้วเสียงขาดๆ หายๆ Mobile, Review, Sony, Xperia