ชี้การเมืองเปลี่ยนหนุนปลดล็อกตลาดทุน

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 13 มิถุนายน 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    นายแบงก์-ผู้เชี่ยวชาญตลาดทุนไทย เห็นพ้องการเมืองเปลี่ยนแปลง ช่วยปลดล็อกเพิ่มศักยภาพให้ตลาดทุนไทย

    นายนรินทร์ โอภามุรธาวงศ์ รองประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ กล่าวระหว่างให้ข้อมูลหัวข้อเรื่อง "การรวมตัวและพัฒนาตลาดทุน" ในงานสัมมนาของยูโรมันนี่ว่าด้วยเรื่องการประชุมการลงทุนในแถบลุ่มน้ำโขงวานนี้ (12 มิ.ย.) เป็นการตอบข้อสงสัยเรื่องความไม่แน่นอนทางการเมือง ส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงเงินทุนในตลาดไทยเวลานี้หรือไม่

    "การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองช่วงนี้ ช่วยหนุนศักยภาพของตลาดทุนไทยให้ออกมาได้อีกครั้ง แม้ตลาดทุนจะเผชิญช่วงเวลาที่ทุกอย่างถูกปิดกั้นก่อนหน้านี้ ผ่านมา แต่จากนั้นสถานการณ์กลับมาเป็นที่น่าพอใจ และให้ผลสืบที่ตามมาในแง่ดีเป็นบวก"

    นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งนี้ ถือเป็นจังหวะจูงใจให้บริษัทต่างๆ ต้องเขย่าธุรกิจให้สามารถทำผลประกอบการที่ดี ด้วยการมีนโยบายชัดเจนและแน่นอน

    ก.ล.ต.ชูยุทธศาสตร์5เสา

    ขณะที่นายวรพล โสคติยานุรักษ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่าไทยพร้อมเป็นศูนย์กลางตลาดทุนในอาเซียนแล้ว ซึ่งก.ล.ต.ได้ดำเนินการพร้อมแล้วในยุทธศาสตร์ 5 เสาสนับสนุนเป้าหมายนี้ ซึ่งเสาแรกเดินหน้าทำข้อตกลงให้สามารถเทรดหรือระดมทุนและเชื่อมโยงตลาดอาเซียนเข้าด้วยกัน

    ส่วนเสาที่สองเป็นการเชื่อมโยงตลาดทุนในลุ่มน้ำโขง เป็นการสร้างความร่วมมือหลายอย่างครอบคลุมกฎระเบียบและการออกบาทบอนด์ข้ามประเทศ และร่วมมือด้านกฎระเบียบระหว่างประเทศด้วยการประชุมกันระหว่างก.ล.ต. 5 ประเทศ

    เสาที่สามเป็นเรื่องการเซ็นบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ทำความสัมพันธ์ร่วมกับ 3 ประเทศนอกอาเซียน คือ จีน เกาหลีใต้และญี่ปุ่น เช่น เซ็นเอ็มโอยูกับก.ล.ต.จีนให้กองทุนรวมหรือบริษัทหลักทรัพย์ของจีนเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยได้

    สำหรับเสาที่สี่เป็นการเชื่อมโยงกับตลาดออสเตรเลีย นิวซีแลนด์และอินเดีย แม้ยังไม่มีการเซ็นเอ็มโอยูแต่มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน ทั้งสามประเทศมีสัมพันธ์ที่ดีกับไทยมาโดยตลอด และอยู่ในขั้นพัฒนาความสัมพันธ์ให้เกิดความความร่วมมือกัน เป็นการกระจายเข้าถึงตลาดอื่นเพื่อช่วยให้ไทยมีความพร้อม

    สุดท้ายคือกลุ่มสหภาพยุโรป (อียู) ที่เป็นเสาที่ห้าสนับสนุนไทยเป็นศูนย์กลางตลาดทุนภูมิภาคได้ มีการทำข้อตกลงกลางปีที่ผ่านมารัฐบาลกลางอียูได้ยอมรับมาตรฐานการรายงานงบการเงินของบริษัทจดทะเบียนไทยแล้ว บริษัทไทยสามารถไประดมทุนตลาดอียูโดยไม่ต้องให้บริษัทตรวจสอบงบบัญชีที่อียูเซ็นรับรองแล้ว มั่นใจโครงสร้างพื้นฐานตลาดไทยดี

    นโยบายรัฐชัดหนุนตลาดทุนสดใส

    ด้านนายปกรณ์ ปิตธวัชชัย รองผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ยอมรับและเห็นด้วยกับความเห็นของนายนรินทร์และนายวรพล โดยอธิบายถึงศักยภาพของตลาดทุนไทย ในการเป็นฐานระดมทุนให้กับกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน อย่างกัมพูชา, ลาว, พม่าและเวียดนาม ว่าเป็นการมองจากโครงสร้างพื้นฐานภาพรวมของตลาดไทยและมองไกลถึงอนาคต

    ปัจจุบันทั้งนโยบายการคลัง และนโยบายการเงินของไทยทำได้ค่อนข้างดี โครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังดีอยู่ ทุกวันนี้บริษัทไทยติดอันดับต้นๆ มีธรรมาภิบาลที่ดี มีบริษัทได้รับคัดเลือกมากที่สุด ให้เข้าไปอยู่ในดัชนีดาวโจนส์ในตลาดหุ้นชั้นนำของโลกอย่างสหรัฐ

    ขณะเดียวกันเอ็มเอสซีไอ ซึ่งเป็นบริษัทจัดหาข้อมูลการลงทุนยังเลือกบริษัทไทยถึง 5 รายเข้าไปอยู่ในดัชนีเอ็มเอสซีไอ ทั้งหมดสามารถสะท้อนได้ว่าภาพรวมไทยทำได้ดี และหากว่านโยบายรัฐบาล การปฏิรูปโครงสร้างภาษี กฎหมายและกฎระเบียบชัดเจนยิ่งขึ้น จะทำให้การพัฒนาตลาดทุนไทยทุกด้านดูสดใส เป็นฐานรองรับการระดมทุนให้ตลาดเพื่อนได้ด้วย

    "เพื่อนบ้านของไทยทั้ง 4 ตลาด มีการเติบโตของจีดีพีเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 5-6% ซึ่งเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมไทยและเพื่อนบ้านจึงต้องไขว่คว้าหาโอกาสในการระดมทุน จากแนวโน้มการเติบโตที่ดีอย่างนี้ และเมื่อมองถึงการเข้ามาของคนชุดเขียวที่ทำให้เกิดการปฏิรูปก็ช่วยสนับสนุนให้ไทยเข้าถึงโอกาสเหล่านี้เช่นกัน"

    ในอนาคตตลาดไทยไม่ได้อยู่ลำพังหรือเป็นตลาดเดียวที่อยู่ได้ แต่ตลาดทุนไทยต้องเป็นส่วนหนึ่งของตลาดทั้งภูมิภาคสามารถเชื่อมโยงกลุ่มตลาดแนวหน้าหรือ 4 ชาติเพื่อนบ้านของไทยได้ ดังนั้นจากนี้ไปจึงขึ้นอยู่กับว่าไทยจะสามารถดำเนินการร่วมกับชาติอื่นในอาเซียนอย่างไร เพื่อทำให้ภูมิภาคโดดเด่นขึ้นมาในสายตาของนักลงทุนในตลาดโลก

    หนุนด้านข้อมูลพม่า-เวียดนาม

    เขากล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์ พยายามช่วยพม่า หรือเวียดนามในด้านข้อมูลกับความรู้ เพื่อเปลี่ยนแปลงและพัฒนาตลาดทุน ให้เกิดธรรมาภิบาล มีหลักในการทำธุรกิจช่วยปกป้องนักลงทุน เปิดเผยข้อมูลโปร่งใส ให้เป็นบริษัทที่ดีดูแลผู้ถือหุ้น และทั้งผู้เล่นกับผู้ดูแลกฎระเบียบต่างเข้าใจกฎระเบียบต่างๆ ร่วมกัน

    "สิ่งต่างๆ ดังกล่าว ยังต้องทำแผนและพัฒนาแผนเพื่อให้สอดคล้องเหมือนกันทั้งภูมิภาคได้ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาดังกล่าว นอกจากช่วยดึงนักลงทุนต่างชาติแล้ว ยังช่วยให้บริษัทไทยที่มีธุรกิจในตลาดเพื่อนบ้าน เข้าถึงและได้ประโยชน์จากตลาดทุนเพื่อนบ้านด้วย"

    ด้านนางทิพย์สุดา ถาวรามร ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและยุทธศาสตร์ ก.ล.ต.มองว่าตลาดทุนไทยสามารถช่วยสนับสนุน เป็นฐานให้กับตลาดทุนประเทศเพื่อนบ้านได้ โดยไม่ต้องรอให้ตลาดเหล่านี้พัฒนาได้จนสมบูรณ์แบบก่อน

    ทั้งนี้อุตสาหกรรมกองทุนรวมก็เป็นส่วนสำคัญที่ตลาดเพื่อนบ้านต้องพัฒนา เพราะตลาดเพื่อนบ้านตอนนี้ยังไม่สาธารณูปโภคเกี่ยวกับอุตสาหกรรมนี้มารองรับไว้เพียงพอ เพื่อเป็นพื้นฐานช่วยให้มีการจดทะเบียนสามารถตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานควบคู่กันแบบสองตลาดได้ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเพียงความคิดที่จะต้องมีการนำเสนอกันต่อไป

    "ก.ล.ต.มีแนวคิดเสนอแต่ยังไม่ได้ทำหรือนำไปใช้ปฏิบัติจริง ด้วยการให้เพื่อนบ้านออกผลิตภัณฑ์การเงินของตัวเอง อาจเป็นกองทุนโครงสร้างพื้นฐานหรือกองทุนอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งมีการกำกับดูแลภายใต้กฎระเบียบของแต่ละประเทศเอง ตลาดทุนไทยอาจเข้าไปช่วยในเรื่องการขายทั้งในตลาดไทยและตลาดของประเทศนั้นๆ เอง การทำเช่นนี้จะช่วยให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างตลาดได้"

    Tags : ตลาดหุ้น • ก.ล.ต. • การเมือง • อาเซียน

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้