"อิสลามแบงก์" ตั้งเป้าหมายลดหนี้เสียปีนี้ให้อยู่ที่ 17% จาก 36% ของสินเชื่อคงค้าง 1.06 แสนล้านบาท นายครรชิต สิงห์สุวรรณ์ รักษาการผู้จัดการธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย หรืออิสลามแบงก์ เปิดเผยว่า ภายในปีนี้ธนาคารมีเป้าหมายที่จะลดระดับของหนี้เสียให้อยู่ในอัตรา 17% ของสินเชื่อคงค้าง จากปัจจุบันอยู่ในระดับ 36% ของสินเชื่อคงค้าง 1.06 แสนล้านบาท หรือ คิดเป็นจำนวนเงิน 3.6 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ หนี้เสียของธนาคารเคยอยู่ในระดับสูงสุดที่ 43%ของสินเชื่อคงค้างเมื่อปีที่แล้ว เขากล่าวว่า แนวทางที่จะปรับลดหนี้เสียให้ได้ในระดับดังกล่าว จะมี 2 แนวทางหลัก คือ 1.ตัดขายหนี้ออกไปบางส่วนหรือประมาณ 1 หมื่นล้านบาท โดยขณะนี้ กำลังเจรจากับบรรษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท 2.เจรจากับลูกหนี้เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ ในกรณีนี้ หากลูกหนี้สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด จะมีการจัดชั้นให้กลับมาเป็นหนี้ปกติ จากนั้น จึงจะสามารถปล่อยสินเชื่อเพื่อหมุนเวียนใหม่ได้ ทั้งนี้ การปรับโครงสร้างสามารถดำเนินการได้เพียง 2 ครั้ง หากเกินกว่านั้น จะต้องเข้าสู่กระบวนการฟ้องร้อง ทั้งนี้ในจำนวนหนี้เสียทั้งหมด เป็นลูกหนี้รายใหญ่ราว 70% หรือ คิดเป็น 137 ราย วงเงินรวมประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ส่วนใหญ่ประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อยู่ในเขตเศรษฐกิจต่างๆ เช่น ภูเก็ต หาดใหญ่ สมุย และ เชียงใหม่ ที่ผ่านมา ธนาคารสามารถแก้ไขหนี้ได้ เพราะสามารถเจรจากับลูกหนี้รายใหญ่ๆ ได้ แต่มีบางรายที่ไม่สามารถเจรจาได้ ซึ่งอยู่ในส่วนของหนี้เสียที่กำลังเจรจาตัดขายดังกล่าว "ที่ผ่านมา เราสามารถแก้ไขหนี้เสียได้เกินกว่าเป้าหมายจำนวน 6.5 พันล้านบาท โดยสามารถแก้ไขได้จำนวน 2.2 หมื่นล้านบาท ขณะเดียวกัน ในช่วงไตรมาสแรกเราก็มีหนี้ที่ตกชั้นมาเป็นหนี้เสียอีกประมาณ 8.9 พันล้านบาท ทำให้หนี้เสียเรายังอยู่ในระดับสูง" เขากล่าว ทั้งนี้หนี้เสียบางส่วนเป็นหนี้เสียที่เกิดจากการปล่อยสินเชื่อที่ผิดปกติ เช่น ขาดหลักประกัน หรือ ใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ กรณีนี้ เราได้ตรวจสอบและได้ไล่พนักงานและผู้บริหารที่เกี่ยวข้องออกจากตำแหน่งไปแล้วจำนวน 6 ราย ทั้งหมดนี้ อยู่ในกระบวนการฟ้องร้องทั้งทางแพ่งและอาญาด้วย”เขากล่าว เขากล่าวตั้งเป้าหมายว่า เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารจะปรับเข้ามาอยู่ในระดับมาตรฐานตามเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ 8.5%ในปีนี้ จากปัจจุบันที่อยู่ในระดับ 1.43% และเคยอยู่ในระดับต่ำสุดที่ติดลบ 10% เมื่อปีที่ผ่านมา โดยเงินกองทุนที่จะเพิ่มนั้น จะมาจากการใส่เงินเพิ่มทุนของผู้ถือหุ้น คือ กระทรวงการคลังจำนวนประมาณ 2.5 พันล้านบาท ธนาคารออมสินประมาณ 2 พันล้านบาท และ ธนาคารกรุงไทยอีกประมาณ 1 พันล้านบาท นอกจากนี้ ยังเป็นผลจากการปล่อยสินเชื่อใหม่และการปรับลดหนี้เสียด้วย สำหรับสินเชื่อใหม่ในปีนี้ มีเป้าหมายอยู่ที่ 1.5 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น 1.สินเชื่อใหม่ที่มีคำขอและรอการอนุมัติจำนวน 1.1 หมื่นล้านบาท 2.สินเชื่อเพื่ออาหารฮาลาลจำนวน 2 พันล้านบาท 3.สินเชื่อบุคคลรายย่อยประมาณ 800 ล้านบาท และ 4.สินเชื่อตามนโยบายรัฐอีกประมาณ 1 พันล้านบาท เขายังกล่าวว่า ในปีนี้ ตั้งเป้าหมายที่จะมีรายได้จากค่าธรรมเนียมในการให้บริการประมาณ 4% จากยอดรายได้รวมประมาณ 5 พันล้านบาท ซึ่งเดิมธนาคารจะมีรายได้ส่วนนี้น้อยมาก โดยขณะนี้ ธนาคารได้ร่วมมือกับชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์ไทยไอซีที ในการให้อำนวยความสะดวกให้แก่สมาชิกของสหกรณ์ออมทรัพย์ที่เป็นสมาชิกของชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์ไอซีทีที่ถือบัตรกดเงินสดสหกรณ์ สามารถใช้บริการผ่านเครื่องเอทีเอ็มของธนาคารได้ 193 เครื่องทั่วประเทศ โดยธนาคารจะคิดค่าบริการสำหรับรายการถอนเงินสด 9 บาทต่อรายการ และ รายการสอบถามยอดเงินคงเหลือ 5 บาทต่อรายการ ทั้งนี้ ปัจจุบันมีสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์อยู่จำนวน 2.7 แสนราย มีเป้าหมายเพิ่มเป็น 3 แสนรายในปีนี้ นายครรชิต ยังกล่าวถึงการแต่งตั้งบอร์ดของธนาคารที่ยังขาดอยู่จำนวน 7 ตำแหน่ง ซึ่งรวมถึงผู้จัดการธนาคารด้วยว่า ทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีนโยบายที่จะแต่งตั้งบอร์ดของธนาคาร ซึ่งรวมถึงรัฐวิสาหกิจแห่งอื่นๆ ให้ครบภายในเดือนนี้ ซึ่งในส่วนของธนาคาร เมื่อแต่งตั้งบอร์ดแล้ว บอร์ดจะแต่งตั้งกรรมการสรรหาและพิจารณาอนุมัติแต่งตั้งได้ทันที Tags : ครรชิต สิงห์สุวรรณ์ • อิสลามแบงก์ • สินเชื่อ • หนี้เสีย