นักเศรษฐศาสตร์ชี้หากการเมืองยืดเยื้อถึงปีหน้า ผลกระทบลงลึก จะต้องใช้เวลาฟื้นตัวนาน นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ให้สัมภาษณ์ "กรุงเทพธุรกิจ" ว่า ยังไม่มีใครทราบว่าสถานการณ์ทางการเมืองจะจบลงแบบใด จึงได้ประเมินแนวทางการเมืองต่อเศรษฐกิจไว้ 3 กรณี กรณีที่ 1 การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองผ่านกระบวนการเลือกตั้ง แบ่งเป็น 1.1 ทุกพรรคการเมืองลงเลือกตั้งหมด กปปส. ไม่ขัดขวางการเลือกตั้ง แน่นอน ทิศทางเศรษฐกิจสดใส เพราะอย่างน้อยจะมีเม็ดเงินจากการหาเสียงเลือกตั้งเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจทันที 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะช่วยพยุงเศรษฐกิจได้ระดับหนึ่ง จากนั้นจะมีการตั้งคณะรัฐมนตรีได้ ช่วงมิ.ย.ซึ่งสามารถเข้ามาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจเฉพาะหน้าสำคัญๆ เช่น แก้ปัญหาราคาข้าวตกต่ำ การบริโภคฟื้นตัว เม็ดเงินลงทุนภาครัฐเข้าสู่ระบบ และการวางงบประมาณสำหรับปี 2558 ทำให้กรณีนี้ จีดีพีจะขยายตัวได้เกิน 3% หรืออยู่ในกรอบ 3-3.5% อย่างไรก็ตาม หากมีกระบวนการเลือกตั้งแต่ไม่ราบรื่น อย่างกรณี 1.2 คือ มีนายกคนกลางแต่ทุกฝ่ายยอมรับ เป็นผู้ที่มาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(สส.) ที่ได้รับการเลือกตั้ง จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นได้ระดับหนึ่ง แต่ทั้งหมดต้องขึ้นกับเงื่อนไขว่าคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ยอมให้มีการเลือกตั้งหรือไม่ และพรรคประชาธิปัตย์จะลงเลือกตั้งหรือไม่ กรณีนี้ได้รัฐบาลตัวจริง แต่จะไม่ได้รับการยอมรับจากอีกฝั่งการเมืองหนึ่ง ทำให้จีดีพีขยายตัวได้ 2-3% เพราะมีรัฐบาลที่มีอำนาจเต็มในการเข้ามาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจเฉพาะหน้า เช่นกันแต่การเมืองยังไร้เสถียรภาพ กรณีที่ 2 เกิดการปฏิวัติโดยทหาร ก่อนอื่นต้องประเมินว่าสถานการณ์ทางการเมืองเกิดสุญญากาศทางการเมืองจริงจนมีการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนกลาง แต่อีกลุ่มคือ แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ (นปช.) ไม่ยินยอมเกิดการประท้วง ซึ่งชี้ให้เห็นชัดเจนว่ารัฐบาลจากนายกคนกลางจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในระยะยาวได้ เนื่องจากภายใต้สถานการณ์เช่นนี้จะกระทบต่อความเชื่อมั่นที่ว่าไทยแก้ไขปัญหาการเมืองในระยะยาวไม่ได้ เสี่ยงที่จะเกิดความรุนแรง และไม่มีความชัดเจนว่าปัญหาจะจบลงได้เมื่อใด จนต้องมีการปฏิวัติ โดยทหาร ในทางเศรษฐกิจ ความร่วมมือระดับรัฐบาลด้วยกันจะไม่เกิดขึ้นเพราะไม่ใช่รัฐบาลตามระบอบประชาธิปไตย ซึ่งหลายประเทศมีกฎหมายไม่สร้างความร่วมมือด้านต่างๆ ด้วย แต่จะไม่ถึงขั้นรุนแรงที่ห้ามไม่ใช้คนในประเทศมาเที่ยวไทย หรือทำการค้ากับไทย อย่างไรก็ตาม ภายใต้ภาวการณ์นี้ หากรัฐบาลที่มาจากการแต่งตั้งโดยทหารมีความเป็นมืออาชีพมาก มีความกล้าในการตัดสินใจ สามารถวางโครงสร้าง กฎระเบียบเพื่อเตรียมไทยเข้าสู่อาเซียน และทำให้ประเทศสามารถปฏิรูปตัวเองทางเศรษฐกิจได้ในเวลาเดียวกันกับที่มีการปฏิรูปการเมือง เช่น การแก้ไขกฎระเบียบว่าด้วยการต่อต้านการฟอกเงิน ด้านการเมืองต้องวางกรอบเวลาให้ชัดเจนว่าจะมีการเลือกตั้งโดยเร็ว และให้เป็นไปตามกติกา หากเป็นเช่นนี้ คาดว่าเศรษฐกิจพร้อมจะฟื้นตัว ภายในเวลาไม่เกิน 3 เดือน และทำให้จีดีพีขยายตัวได้ 3-3.5% ภายใต้เงื่อนไขการให้ความชัดเจนว่าการเลือกตั้งเป็นทางเดียวที่จะแก้ปัญหา และสร้างหลักประกันจะไม่มีการปฏิวัติเกิดขึ้นอีกเลย โดยสมมติฐานนี้ อ้างอิงสถานการณ์การปฏิวัติเมื่อปี 2549 ที่จีดีพีปีนั้นขยายตัว 5% กรณีที่ 3 มีการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนกลาง มีรูปแบบคล้ายปฏิวัติในกรณีที่ 2 แต่เป็นการดำเนินการโดยกลุ่มประชาชน ซึ่งจะเกิดคำถามอาจมีอีกกลุ่มที่แสดงบทบาทเดียวกัน ทำให้รัฐบาลชุดใหม่ที่จะเกิดขึ้นต้องเผชิญกับการถูกประท้วงต่อต้าน ทิศทางเศรษฐกิจอาจยังไม่ชัดเจน ต้องใช้เวลารอดูอีก 3 เดือนหลังมีรัฐบาลคนกลาง แต่ถ้าเกิดการประท้วงจะดึงเศรษฐกิจและเกิดการทรุดตัวมากขึ้น แต่รัฐบาลใหม่ที่มีอำนาจในการบริหารประเทศ จะสามารถเข้ามาทำงานด้านเศรษฐกิจสำคัญๆ ได้ทันที เช่นการแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตรราคาตกต่ำ ซึ่งเป็นทำงานระยะสั้น แต่เศรษฐกิจในระยะยาวยังมีความเสี่ยง ประเมินว่า จีดีพีน่าจะขยายตัวได้ 2-3% “ถ้าปีนี้แก้ไขปัญหาไม่ได้ อย่าพูดถึงปีหน้า ไม่มีรัฐบาลตัวจริง ประเทศไทยก็อยู่นิ่งขณะที่เพื่อนบ้านก้าวไปข้างหน้า เพราะไทยขาดความน่าสนใจการลงทุน จากปัจจัยเสี่ยงทางการเมือง เพราะความไม่เชื่อว่าไทยจะแก้ปัญหาทางการเมืองไทยได้และหากคลี่คลายไม่ได้ใน 1 ปี หลังจากยุบสภาชี้ให้เห็นว่าคนไทยแก้ปัญหาไม่ได้ ถือเป็นสถานการณ์ผิดปกติแล้ว ไทยจะเป็นตัวฉุดอาเซียนเพราะไทยเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่จะช่วยพัฒนาอาเซียน” นายธนวรรธน์ กล่าว นายธนวรรธน์ มองว่าหากไตรมาส 3 ปีนี้ การเมืองยังไม่สดใส ปัญหาแรกที่จะได้เห็นคือการตกงานและเศรษฐกิจจะซึมลึกมากขึ้น และหากปล่อยไว้จะฟื้นตัวได้ยาก "ความเสียหายเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจขณะนี้ อยู่ที่ 5 แสนล้านบาท ทำให้ต้องปรับลดจีดีพีปีนี้มาอยู่ที่ ขยายตัว 2.5% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 4.5% ตามสัดส่วนเม็ดเงินที่หายไปจากระบบเศรษฐกิจ" วิกฤติครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกที่ ทุกภาคส่วนได้รับผลกระทบอย่างถ้วนหน้าเมื่อเทียบกับวิกฤติครั้งก่อนๆ ที่มีเพียงบางกลุ่มได้รับผลกระทบ เช่น วิกฤติต้มยำกุ้ง จะอยู่ในแวดวงภาคธุรกิจ ขณะที่ชนบทไม่ได้รับผลกระทบ ส่วนวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ก็อยู่ในกลุ่มผู้ส่งออก แต่วิกฤติการเมืองครั้งนี้ ภาคการเกษตร การบริโภค ได้รับผลกระทบหมด หากไม่มีรัฐบาลต่อไปประเมินในเบื้องต้น จะขยายตัว 0 - (-1)% แต่จะประกาศตัวเลขอย่างเป็นทางการ ในเดือนมิ.ย. เนื่องจากประเมินว่าสถานการณ์ทางการเมืองจะชัดเจนภายในพ.ค.นี้ ถ้าปล่อยให้สถานการณ์การเมืองเป็นเช่นนี้ต่อไปอย่างไร้ทางออก ทั้งภาคธุรกิจ ภาคการเกษตร ภาคการบริโภค การถูกกร่อนไปเรื่อยๆ จนเศรษฐกิจซึมลึกและความสามารถในการพยุงตัวลดลงต่อเนื่องและเมื่อต้องการจะดึงกลับมาจากทำได้ยาก และต้องใช้เวลาเป็นปี นายธนวรรธน์ กล่าวย้ำว่าปีนี้ ถ้ายอมบอบช้ำให้เต็มที่ เชื่อว่าในระยะยาวเศรษฐกิจไทยจะกลับมาฟื้นได้เร็ว และจะทำให้ขยายตัวได้ 5% ในช่วง 2 ปีจากนี้ เพราะไทยมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ดี และเชื่อว่า ไทยมีความสำคัญต่อภูมิภาคอาเซียนอย่างมาก หากไทยแก้ปัญหาทางเมืองไทยโอกาสความสดในทางเศรษฐกิจจะกลับมาได้ไม่ยาก และมองปัญหาการเมืองที่เกิดขึ้นขณะนี้ว่าเป็นการเรียนรู้สู่ประชาธิปไตย ซีไอเอ็มบี'ชี้โตได้1.5% ไร้รัฐบาล..แต่ต้องไม่รุนแรง นายอมรเทพ จาวะลา หัวหน้าส่วนวิจัย เศรษฐกิจและตลาดการเงิน สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า กรณีเลวร้ายสุดที่ประเทศไทยไม่สามารถมีรัฐบาลได้ภายในปีนี้ เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยยังสามารถเติบโตได้ประมาณ 1.5% โดยแรงขับเคลื่อนหลักมาจากภาคการส่งออก “เดิมเรามองว่าครึ่งปีแรก น่าจะเห็นภาพรัฐบาล และจัดตั้งรัฐบาลได้ภายในไตรมาส 3 ซึ่งกรณีนี้ น่าจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยช่วงท้ายปี พอจะมีแรงขับเคลื่อนบ้าง ทำให้จีดีพีน่าจะเติบโตได้ 2.4% แต่จากสถานการณ์ปัจจุบัน เริ่มเห็นสัญญาณว่าการเลือกตั้งในวันที่ 20 ก.ค.นี้อาจไม่เกิดขึ้น ซึ่งกรณีที่ตลอดทั้งปีไม่มีรัฐบาลเลย เรามองว่าจีดีพีก็ยังน่าจะเติบโตได้ในระดับ 1.5% แต่อยู่ภายใต้สมมติฐานว่าไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้นในประเทศ” ส่วนในกรณีที่ปีนี้ไม่สามารถมีรัฐบาลได้เลย คงมีผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและผู้ลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยการกระตุ้นการบริโภคของภาครัฐผ่านมาตรการต่างๆ คงไม่เกิดขึ้น ขณะที่นักลงทุนก็น่าจะยังชะลอการลงทุนออกไป เพื่อรอดูสถานการณ์ก่อน นายอมรเทพ เชื่อว่า การชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยไม่ได้เป็นเพราะปัจจัยการเมืองอย่างเดียว แต่ส่วนหนึ่งเกิดจากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจภายในประเทศที่อ่อนแอลงด้วย ดังนั้นถึงแม้จะมีรัฐบาลก็เชื่อว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจคงไม่ได้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว "เศรษฐกิจไทยที่ชะลอ ไม่ได้เกิดจากการเมืองเพียงอย่างเดียว เพราะสมมติว่าพรุ่งนี้มีการเลือกตั้ง และจัดตั้งรัฐบาลได้ เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยคงไม่ฟื้นแรง เพราะสถานการณ์เศรษฐกิจที่เราเห็นสัญญาณการชะลอตัว เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนที่การเมืองจะมีปัญหาแล้ว และปัญหาก็ลงไปถึงระดับปัจจัยพื้นฐาน เช่น จากหนี้ครัวเรือนที่ระดับหนี้สูงขึ้นมาก ดังนั้นแม้จะมีรัฐบาลก็คงไม่สามารถกระตุ้นการบริโภคเพิ่มได้มากนัก" นายอมรเทพกล่าว นายอมรเทพ กล่าวว่าโจทย์นี้ถือเป็นโจทย์ที่น่าสนใจในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในปีหน้า เพราะทุกคนเชื่อว่าปีหน้าปัญหาการเมืองน่าจะคลี่คลายลงได้ และน่าจะได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ด้วยหนี้ครัวเรือนที่อยู่ระดับสูง การกระตุ้นการบริโภคเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจอาจทำได้ไม่เต็มที่ "ภาพรวมในปีนี้ เรามองว่าต่อให้ไม่มีรัฐบาลเลย ก็ยังน่าจะโตได้ราว 1.5% ซึ่งช่วงไตรมาส 1 กับ 2 ภาพที่เรามองการเติบโตอาจติดลบ แต่จะเริ่มดีขึ้นในไตรมาส 3 และ 4 ขณะที่การส่งออกแม้จะไม่ฟื้นตัวอย่างโดดเด่นในปีนี้ แต่ก็เป็นตัวที่ช่วยให้เศรษฐกิจไทยเติบโตขึ้นได้" Tags : นักเศรษฐศาตร์ • การเมือง • ธนวรรธน์ พลวิชัย