วอลุ่มหดฉุดมาร์จินโลนทรุด33%

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 14 พฤษภาคม 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    สมาคมโบรกเกอร์ เผยวอลุ่มตลาดซบเซา ฉุดยอดมาร์จินโลนลดฮวบกว่า 33% ชี้วงเงินกู้ล่าสุดหดเหลือ 4 หมื่นล้านบาท จากเดิม 6 หมื่นล้านบาท

    นางภัทธีรา ดิลกรุ่งธีระภพ นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทยและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ภาพรวมของการเคลื่อนไหวบัญชีกู้เงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์ (มาร์จินโลน) หรือ เครดิตบาลานซ์ พบว่าจากต้นปีที่ผ่านมา มีการกู้เงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์เริ่มปรับตัวน้อยลงจากเดิม เป็นผลมาจากตลาดหุ้นที่เริ่มซบเซา ทำให้ไม่จูงใจนักลงทุนในการหันมาใช้บัญชีดังกล่าว

    "ปริมาณการซื้อขายผ่านบัญชีกู้เงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์ มีความคึกคักน้อยลง ปัจจุบันมีมูลค่าเงินกู้ของทั้งระบบอยู่ที่ 4-5 หมื่นล้านบาท จากก่อนหน้าที่ 6 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามภาวะตลาดที่เริ่มซบเซา ปริมาณการซื้อขายไม่หนาแน่น"

    ในด้านคุณภาพของหนี้ ยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดีมาก เพราะบริษัทหลักทรัพย์ให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าว และดูแลลูกค้าอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ยังมีการคัดกรองหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานที่ดี และมีสภาพคล่องในการซื้อขายที่สูงอยู่แล้ว ทำให้เอ็นพีแอลมีน้อยมาก จากการซบเซาของการกู้เงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์ ทำให้หลายบริษัทหลักทรัพย์ เริ่มต้องการจะกระตุ้นการกู้เงิน เพื่อการซื้อหุ้นมีความคึกคักอีกครั้ง

    "แต่ด้วยภาวะตลาดที่ไม่เอื้ออำนวย ทำให้มองว่า โอกาสการฟื้นตัวจึงเป็นไปได้ยาก ส่วนการลดดอกเบี้ยการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์นั้น มองว่าแม้จะช่วยกระตุ้นตลาดได้ แต่เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ เพราะภาวการณ์ปัจจุบันยิ่งสร้างความเสี่ยงให้นักลงทุน โดยดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อซื้อหลักทรัพย์อยู่ที่ 6-8% ต่อปี"

    ม.ล.ทองมกุฎ ทองใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.ไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า บริษัทอาจจะพิจารณาปรับเป้าส่วนแบ่งทางการตลาด (มาร์เก็ตแชร์) เพิ่มขึ้นอีกครั้ง จากเดิมที่ตั้งเป้าไว้ 3.6% ในช่วงสิ้นปี และได้ปรับเพิ่มเป้าเป็น 3.9% แต่ล่าสุดในช่วงไตรมาส 1 ที่ผ่านมา มาร์เก็ตแชร์ของบริษัทได้ปรับเพิ่มเป็น 4-4.1% โดยเป็นผลจากการทำงานร่วมกับทางธนาคารไทยพาณิชย์ซึ่งเป็นบริษัทแม่ ทำให้จำนวนลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้มาร์เก็ตแชร์ของบริษัทเพิ่มขึ้นด้วย สวนกับภาพรวมของตลาดหุ้นไทยที่ปริมาณการซื้อขาย (วอลุ่ม) ปรับลดลง

    “แม้ว่าวอลุ่มตลาดจะไม่ดี แต่วอลุ่มการซื้อขายของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ซึ่งมาร์เก็ตแชร์ในปีที่แล้วตั้งเป้าไว้ที่ 3.2% แต่ทำได้จริง 3.4-3.5% ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการได้ลูกค้าจากสาขาของธนาคารไทยพาณิชย์มากขึ้น รวมถึงการเปิดโครงการหุ้นทันใจ ให้สามารถเปิดบัญชีซื้อขายในสาขาของธนาคารได้เลย มีการวางระบบการซื้อขายออนไลน์ การบริหารเวลธ์ และเอสซีบีอีซี่เป็นต้น นอกจากนี้ตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมา บริษัทมีการรัดเข็มขัดเพื่อลดต้นทุนอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่ได้ลดในส่วนของงานวิจัย ปัจจุบันได้ทำบทวิจัยกว่า 100 บริษัท ครอบคลุมมาร์เก็ตแคปในตลาดกว่า 80-90%ของตลาดรวม”

    อย่างไรก็ตามแม้ว่ามาร์เก็ตแชร์ของบริษัทจะเพิ่มขึ้น แต่ในด้านของรายได้และกำไรสุทธิมีคงปรับลดลงจากปีที่ผ่านมา ตามวอลุ่มตลาดรวมที่ปรับลดลง ซึ่งเฉลี่ยอยู่ในระดับ 2.5-2.6 หมื่นล้านบาทต่อวัน โดยบริษัทได้ปรับเป้ากำไรสุทธิลดลง จากเดิมตั้งเป้าไว้ที่ 550 ล้านบาท เหลือ 480 ล้านบาท เฉพาะในช่วงไตรมาสแรกที่วอลุ่มตลาดไม่ดีก็ยังมีกำไรสุทธิประมาณ 180-190 ล้านบาท

    “นอกจากรายได้จากธุรกิจซื้อขายหลักทรัพย์แล้ว บริษัทยังมีรายได้จากธุรกิจวาณิชธนกิจ หรือไอบี ในส่วนที่เป็นผู้แทนการจัดจำหน่ายหุ้น หรือ อันเดอร์ไรเตอร์ ซึ่งมีแนวโน้มว่าภาพรวมในปีนี้จะดีกว่าปีที่ผ่านมา ขณะเดียวกันยังคาดว่าภาพรวมตลาดในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้จะดีขึ้น ทั้งจากสถานการณ์การเมืองในประเทศ และภาพรวมสถานการณ์ในต่างประเทศ ทั้งการไหลข้าวของเม็ดเงินลงทุนต่างประเทศ และเศรษฐกิจในประเทศสำคัญๆ”

    เขากล่าวต่อว่า จากการนำบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ไปโรดโชว์ในต่างประเทศในช่วงที่ผ่านมา ทั้งฮ่องกง และสิงคโปร์ พบว่านักลงทุนส่วนใหญ่ยังสนใจการลงทุนในตลาดหุ้นไทย เพราะยังเห็นโอกาสการเติบโตในหลายกลุ่มอุตสาหกรรม เช่น อสังหาริมทรัพย์ กลุ่มรถยนต์ และชิ้นส่วนยานยนต์ รวมถึงกลุ่มโรงพยาบาล เป็นต้น

    เช่นเดียวกับนักลงทุนในประเทศที่ยังต้องการลงทุนในตลาดหุ้นไทยเป็นหลัก แม้ว่าบางส่วนจะมีความสนใจไปลงทุนต่างประเทศเพิ่มขึ้นก็ตาม เพียงแต่ต้องการความชัดเจนในด้านนโยบายของภาครัฐ โดยเฉพาะนโยบายการต่ออายุมาตรการภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) % และมาตรการการลดภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งกระทบการใช้จ่าย และกำไรของภาคเอกชน

    Tags : ภัทธีรา ดิลกรุ่งธีระภพ • โบรกเกอร์ • มาร์จิน

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้