บทความนี้เป็นตอนสุดท้ายในชุด "พาเที่ยวซิลิคอนวัลเลย์" ครับ คราวนี้เป็นคิวของอินเทล บริษัทที่ร่วมก่อร่างสร้างตัวมาอย่างยาวนาน พร้อมกับซิลิคอนวัลเลย์และอุตสาหกรรมไอทีของสหรัฐ (อีกบริษัทที่มีสถานะคล้ายๆ กันคือเอชพี) สำนักงานใหญ่ของอินเทลอยู่ในเมืองซานตาคลารา (Santa Clara) ใต้ลงมาจากสำนักงานใหญ่ของแอปเปิลอีกหน่อย และอยู่ใกล้กับเมืองซานโฮเซ (San Jose) ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ที่สุดในเขตเบย์แอเรีย (Bay Area) การเข้าชมบริษัทไอทีอื่นๆ ที่เคยเขียนไปแล้วจำเป็นต้องอาศัยพนักงานช่วยพาเข้า แต่กรณีของอินเทลนั้นกลับกัน เพราะสำนักงานใหญ่ของอินเทลมีพิพิธภัณฑ์ Intel Museum เปิดต้อนรับนักท่องเที่ยวเลย ถือเป็นบริษัทที่ต้อนรับผู้มาเยี่ยมชมมากที่สุดเท่าที่ได้ไปสัมผัสมา สำนักงานใหญ่ของอินเทลประกอบด้วยอาคารหลายหลัง มีพื้นที่กว้างพอสมควร ส่วนของพิพิธภัณฑ์ตั้งอยู่ที่ชั้นหนึ่งของอาคาร Robert E. Noyce Building (แผนที่ Google Maps) สามารถเข้าชมได้ฟรีเลย ป้ายทางเข้าสำนักงานดังภาพครับ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้จะบอกเล่าประวัติความเป็นมาของอินเทล นับตั้งแต่ก่อตั้งใน ค.ศ. 1968 แต่จริงๆ แล้วตำนานของอินเทลเริ่มก่อนหน้านั้นหลายปี ประวัติความเป็นมาของอินเทล - จาก Shockley สู่ Fairchild และ Intel ประวัติแบบสั้นๆ คือเริ่มจาก William Shockley นักฟิสิกส์ผู้คิดค้นทรานซิสเตอร์ ก่อตั้งบริษัท Shockley Semiconductor Laboratory ใน ค.ศ. 1956 โดยดึงนักศึกษาปริญญาเอกของเขามาร่วมงานด้วย แต่เมื่อทำงานไปสักพัก นักศึกษากลุ่มหนึ่งกลับมีปัญหาในสไตล์การทำงานของ Shockley จนลาออกมาเปิดบริษัทเองในชื่อว่า Fairchild Semiconductor (ตามชื่อของนักลงทุน Sherman Fairchild) ในปีถัดมา นักศึกษากลุ่มนี้มีทั้งหมด 8 คน และถูกขนานนามว่า "ผู้ทรยศทั้งแปด" (Traitorous Eight) ได้แก่ Julius Blank, Victor Grinich, Jean Hoerni, Eugene Kleiner, Jay Last, Gordon Moore, Robert Noyce, Sheldon Roberts จากภาพ Gordon Moore นั่งซ้ายสุด ส่วนคนตรงกลางที่เด่นที่สุดคือ Robert Noyce Shockley Semiconductor Laboratory ไม่สามารถฟื้นตัวจากการสูญเสียยอดฝีมือ จนต้องขายกิจการในปี 1960 แต่ฝั่งของ Fairchild กลับดีวันดีคืนจนกลายเป็นผู้นำของโลกเซมิคอนดักเตอร์ อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่ง คนในกลุ่ม Traitorous Eight ก็แตกกระจายไปคนละทาง โดยแกนนำกลุ่มสองคนคือ Gordon Moore กับ Robert Noyce ออกมาก่อตั้งบริษัทใหม่ชื่อ NM Electronics (ตามตัวย่อของนามสกุล) ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็น Intel ซึ่งย่อมาจาก Integrated Electronics Eugene Kleiner สมาชิกอีกคนของกลุ่มแปดทรยศ ผันตัวไปเป็นนักลงทุน และก่อตั้งบริษัท Kleiner Perkins Caufield Byers (KPCB) บริษัทลงทุนในตำนานอีกแห่งหนึ่งของซิลิคอนวัลเลย์ หมายเหตุ: Fairchild Semiconductor เป็นต้นกำเนิดของบริษัทเซมิคอนดักเตอร์มากมาย รวมถึง AMD ที่เกิดจากพนักงานอีกกลุ่มหนึ่งของ Fairchild แยกตัวมาในภายหลังด้วย Gordon Moore และ Robert Noyce ถือเป็นสองผู้ก่อตั้งอินเทล แต่จริงๆ แล้วคีย์แมนคนสำคัญอีกคนของอินเทลคือ Andrew Grove อดีตพนักงานของ Fairchild ที่มาย้ายร่วมงานกับอินเทลตั้งแต่วันแรกที่เปิดทำการ (เขาไม่ได้สถานะผู้ก่อตั้ง) ซึ่งภายหลัง Grove ก็ขึ้นเป็นซีอีโอของอินเทลอยู่นานหลายปี และมีบทบาทสำคัญในการพาอินเทลสู่ยุครุ่งโรจน์ในช่วงทศวรรษ 90s Gordon Moore เมื่อพูดถึงผู้ก่อตั้งอินเทล คนส่วนใหญ่มักนึกถึง Gordon Moore เนื่องจากความดังของ "กฎของมัวร์" (Moore's Law) ที่กำหนดกรอบอัตราการเติบโตของโลกเซมิคอนดักเตอร์มานานหลายทศวรรษ Robert Noyce แต่เอาเข้าจริงแล้ว Moore มีบทบาทในฐานะนักคิด-นักวิทยาศาสตร์เสียมาก ส่วนแกนหลักตัวจริงของอินเทลในยุคตั้งต้น (และผู้นำของกลุ่มแปดทรยศ) คือ Robert Noyce พิพิธภัณฑ์อินเทลแห่งนี้จึงมีเรื่องของ Noyce เยอะเป็นพิเศษ (เขาเสียชีวิตตั้งแต่ปี 1990 ส่วน Moore ยังอยู่นะครับ) ภาพถ่ายในปี 1953 สมัยที่ทุกคนยังดีกัน รูปข้างล่างเป็นงานฉลองให้กับ William Shockley (คนที่นั่งด้านซ้าย) ได้รางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ ส่วน Noyce ที่ตอนนั้นเป็นนักศึกษาปริญญาเอก คือคนที่ยืนตรงกลาง ถือแก้วไวน์ นามบัตรของ Noyce สมัยอยู่ Fairchild ตอนก่อตั้ง Fairchild Semiconductor ผู้ก่อตั้งทั้งแปดคนต้องลงเงินกันคนละ 500 ดอลลาร์ ตอนนั้น Noyce ไม่มีเงินก้อน เลยต้องเขียนจดหมายไปขอให้ครอบครัวของเขาช่วยสนับสนุนเงิน ซึ่งเขาก็สามารถจ่ายคืนได้ทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ยในเวลาไม่นาน ลูกค้ารายแรกของ Fairchild คือ IBM โดยขายทรานซิสเตอร์ตัวละ 150 ดอลลาร์จำนวน 10 ตัว เช็คฉบับแรกที่ IBM จ่ายให้ก็ยังเก็บรักษาไว้ดังภาพ บัตรพนักงานและนามบัตรภาคภาษาญี่ปุ่นของ Noyce ย้อนรอยสินค้าอินเทล หมดช่วงประวัติศาสตร์อินเทลแล้ว คราวนี้มาดูของที่โชว์ในพิพิธภัณฑ์กันดีกว่าครับ ใครทำสายฮาร์ดแวร์มาดูคงซาบซึ้งน้ำตาไหลแน่นอน อินเทลยุคแรกๆ ทำธุรกิจชิปหน่วยความจำเป็นหลัก ก่อนจะผันตัวมาทำหน่วยประมวลผลในภายหลัง ชิปหน่วยความจำยุคแรกๆ อย่าง 3101 ซึ่งถือเป็นผลิตภัณฑ์ชิ้นแรกสุดของอินเทลด้วย 3101 เป็นแรมที่วางขายในปี 1969 ฝั่งของ EPROM ก็มีของจริงให้ดูกัน ฝั่งของหน่วยประมวลผลก็เริ่มจากตัวในตำนาน (บนบอร์ดยังเขียนว่า legend เลย) คือ Intel 4004 ในปี 1971 ภาพขยายของชิป 4004 ให้เห็นเส้นวงจร 4004 เป็นตำนานจริงๆ มีการแสดงเลเยอร์ของ 4004 โดยวาดเส้นบนกระจก ซ้อนกันหลายๆ ชั้นไว้ให้ดูด้วย ไมโครคอนโทรลเลอร์ 8784 และ 8048 แผงเวเฟอร์ของ 8748/8048 ใครไม่เคยเห็นของจริง ก่อนตัดเป็นแผ่นเล็กๆ หน้าตามันเป็นแผ่นกลมๆ แบบนี้ครับ 8080 ซึ่งถือเป็น general-purpose microprocessor ตัวแรก ออกปี 1974 ช่วงนี้กำลังฮิตสมาร์ทวอทช์กัน รู้หรือไม่ว่าอินเทลทำมาก่อนตั้งแต่ปี 1972 Intel 286 Intel 386 ไล่ยุคกันมาเรื่อยๆ ครับ Intel 486 ในขณะที่โลกเฝ้ารอ Intel 586 อินเทลก็ช็อควงการโดยเปลี่ยนชื่อมันเป็น Pentium ซะงั้น (สอดคล้องกับยุคที่พีซีเริ่มเข้าสู่ตลาดแมส ต้องมีชื่อการค้าเรียกง่ายๆ) Pentium Pro และ MMX ชุดคำสั่งมัลติมีเดีย Pentium II ตัวใหญ่สะใจมาก (ตัวนี้เป็น Xeon) Pentium III ยังใช้หน้าตาแบบตลับเกม Pentium 4 เปลี่ยนมาใช้อินเทอร์เฟซแบบซ็อคเก็ตเหมือนเดิม เลิกใช้แบบสล็อต เริ่มมีเทคโนโลยี Hyper-Threading (HT) เข้ามา นอกจากหน่วยประมวลผลแล้ว ในช่วงเดียวกันอินเทลก็ยังเข้ามาผลักดันชิปไร้สาย เทคโนโลยี Wi-Fi ในชื่อแบรนด์ Centrino หน่วยประมวลผลสำหรับอุปกรณ์พกพา (ในสมัยนั้นแปลว่าโน้ตบุ๊ก) ก็แตกมาเป็นแบรนด์ Pentium M ระยะต่อมาก็เป็นยุคของ Core ที่มีทั้ง Core เฉยๆ และ Core 2 ปี 2008 เป็นยุคของ Core i7 และในอีกทางก็หันไปลุยตลาดชิปขนาดเล็กในแบรนด์ใหม่ Atom Core i5 นอกจากประวัติของชิปแล้ว ยังมีของอื่นๆ ให้ดูอีก ที่น่าสนใจคือสติ๊กเกอร์ Intel Inside ที่แปะมากับซีพียูที่แยกขายเป็นกล่องหรือโน้ตบุ๊ก มีให้ดูกันเยอะมาก ขั้นตอนการทำซิลิคอนครับ เริ่มจากหลอมให้เป็นโลหะทรงกระบอกแบบที่เห็น แล้วค่อยตัดเป็นแผ่น กระบวนการทำชิปในขั้นตอนต่างๆ หน้าตาของแผ่นเวเฟอร์ในยุคต่างๆ กระบวนการในโรงงานผลิตชิป ชุดสำหรับห้องคลีนรูมที่กลายเป็นมาสค็อต Bunny People ของอินเทลในอดีต คลิปโฆษณา Intel Bunny ในอดีต (ถ้ายังจำกันได้) ร้านขายของที่ระลึก นอกจากส่วนของพิพิธภัณฑ์แล้ว ยังมีร้านขายของที่ระลึกที่อยู่ติดกัน สำหรับให้แฟนพันธุ์แท้อินเทลมาซื้อของติดไม้ติดมือกลับบ้าน สินค้าก็มีมากมายทั้งเสื้อ กระเป๋า ถุงผ้า หมวก แก้วน้ำ กระบอกน้ำ ร่ม เข็มกลัด เสื้อยืด เสื้อเชิ้ต เสื้อแจ็คเก็ต มีให้เลือกหลากหลาย อินเทลเพิ่งซื้อ McAfee มาก็เลยมีสินค้าแบรนด์ McAfee ขายด้วย ปิดท้าย พิพิธภัณฑ์ Intel Museum ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงความรู้ดีที่มาก โดยเฉพาะคนที่สนใจประวัติของหน่วยประมวลผล ถ้ามีโอกาสแวะมาเยือนแถบ San Jose แล้วมีเวลามาเที่ยวชม ก็ไม่ควรพลาดครับ Intel Museum เปิดทุกวันจันทร์-ศุกร์ (9:00-18:00) และเสาร์ (10:00-17:00) การเดินทางด้วยรถสาธารณะคงต้องหาข้อมูลกันเอง ส่วนตอนที่ผมไปใช้วิธีเช่ารถขับเอง แล้วไปตามพิกัดใน Google Maps ได้ไม่ยากครับ (ใครจะเช่ารถขับบ้าง ลองอ่านบทความที่เขียนไว้) Intel, Silicon Valley, Special Report